รีเซต

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ "จุดเปลี่ยน" หรือ "จุดจบ" ของมนุษยชาติ!

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ "จุดเปลี่ยน" หรือ "จุดจบ" ของมนุษยชาติ!
TNN ช่อง16
28 สิงหาคม 2566 ( 13:09 )
86
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ "จุดเปลี่ยน" หรือ "จุดจบ" ของมนุษยชาติ!

ปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อหลากหลายอุตสาหกรรมของโลก เนื่องด้วยเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่างๆที่ซับซ้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถแก้ไข อีกทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนเเละเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ มหาศาล

จากข้อกังวลว่าในอนาคตมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วย AI หรือไม่ ประเทศไทยจะปรับตัวและเตรียมความพร้อมของกำลังคนและความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีของตนเองได้อย่างไร กลุ่มภารกิจการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดการสัมมนาวิชาการ “AI จุดเปลี่ยน หรือจุดจบของมนุษยชาติ” โดยมีรศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยววน. เป็นประธานเปิด ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อหาคำตอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติที่หลากหลาย รวมถึงเตรียมพร้อมรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จาก AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2563-2565 มีการใช้งบประมาณพัฒนากำลังคนกว่า 400 ล้านบาท/ปี โดย AI ไทยได้สร้างกระแสความสนใจ ความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นแก่คนทั่วไป มี AI@Shool ที่พัฒนาเครื่องมือสอน AI พัฒนานวัตกรรม วิศวกร นักวิจัย วิสาหกิจเริ่มต้นด้าน AI ป้อนสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือแพทย์ตรวจจับความผิดปกติบนภาพถ่ายรังสีทรวงอกให้ทุกคนเข้าถึงบริการแม้ในพื้นที่ห่างไกล 

ด้าน ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านของ AI ทำให้หลายงานเสี่ยงกับการถูกระบบอัตโนมัติทดแทน แต่ทั้งนี้อาจต้องใช้เวลาอีกกว่าร้อยปีที่ AI จะทำได้ดีกว่ามนุษย์ ส่วนความต้องการกำลังคนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจฐาน AI เพิ่มมากขึ้น ในปี 2563-2567 ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการลงทุนด้าน AI 639 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 50 

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า DEPA ส่งเสริม AI ในภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้น แต่ปัญหาคือการผลิตกำลังคนยังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงภาคธุรกิจ รวมถึงยังต้องส่งเสริมการยกระดับทักษะกำลังคนเฉพาะสาขา เตรียมพื้นฐานด้านข้อมูลให้มากยิ่งขึ้น 

ส่วนมุมมองจากภาคเอกชน โดยโอม ศิวะดิตถ์ จากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนามากขึ้นจะสามารถพลิกโฉมวงการเดิมๆ และถือเป็นโอกาสของคนที่สามารถอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งใครที่พร้อมจะเรียนรู้ของใหม่ได้เร็วกว่าก็จะเป็นผู้ที่เห็นโอกาสได้เร็วกว่า ดังนั้นมนุษย์เราจึงหยุดที่จะเรียนรู้ไม่ได้

ทั้งนี้ การพัฒนาแผน ววน. ด้าน AI นั้น ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่าต้องรู้จักหยิบฉวยเทคโนโลยีมาใช้ในประเทศไทย สร้างโมเดลเฉพาะกิจของไทยหรือระบบปฏิบัติการ Open Source ส่งเสริมการพัฒนาหรือสร้างทักษะของกำลังคนในหลายมิติ สามารถใช้ AI แก้ปัญหาและตอบโจทย์ในแต่ละด้านอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีราคาถูก เข้าถึงคนได้กว้างขวาง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง