ซินเจียงขยายพื้นที่ปลูก 'ข้าวทนดินเค็ม' ฝีมือ 'บิดาข้าวลูกผสม'
เย่ว์ผู่หู, 28 พ.ค. (ซินหัว) -- การวิจัยเกี่ยวกับข้าวทนดินเค็ม-ด่าง (saline-alkali tolerant rice) โดยหยวนหลงผิง "บิดาแห่งข้าวลูกผสม" ผู้ล่วงลับของจีน ช่วยพลิกโฉมผืนดินแห้งแล้งสู่แหล่งเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ เอื้อประโยชน์แก่ชาวบ้านท้องถิ่นทั่วเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
เมื่อปี 2018 หยวนหลงผิง ผู้บุกเบิกพันธุ์ข้าวลูกผสม นำทีมงานเปิดตัวโครงการปลูกข้าวทนดินเค็ม-ด่างในอำเภอเย่ว์ผู่หู ซึ่งอยู่ติดกับทากลามากัน (Taklimakan Desert) ทะเลทรายขนาดใหญ่ที่สุดของจีน และประสบความสำเร็จในการให้ผลผลิตตามทฤษฎีที่ 584.53 กิโลกรัมต่อหนึ่งหมู่ (1 หมู่ = 0.417 ไร่) ในปี 2020
"ข้าวสาลีที่เรากำลังปลูกบนพื้นที่ 150 หมู่ (62.5 ไร่) กำลังเติบโตค่อนข้างดี ผืนดินที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคปรับปรุงดินสำหรับข้าวทนดินเค็ม-ด่าง ได้มาตรฐานพื้นที่เพาะปลูกในขั้นพื้นฐานแล้ว" คำบอกเล่าจากจางลี่ซาน เจ้าหน้าที่ประจำฐานทดสอบข้าวทนดินเค็ม-ด่าง
ทั้งนี้ อำเภอเย่ว์ผู่หูดำเนินการปลูกข้าวทนดินเค็ม-ด่างบนพื้นที่ 300 หมู่ (125 ไร่) ในปี 2021 เพิ่มเติมจากการทดลองครั้งก่อนหน้า
"ศูนย์วิจัยได้พัฒนาข้าวทนดินเค็ม-ด่างอีก 7 สายพันธุ์บนพื้นที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งในซินเจียง โดยฐานฯ มีแผนส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ทั่วซินเจียงในอีก 3-5 ปีข้างหน้า" จางกล่าว