รีเซต

สศอ. โชว์ปรับเป้าเอ็มพีไอปีนี้โต 4-5% จากเดิม 2-3% รับอานิสงส์ส่งออกทะยานสูงสุดในรอบ 11 ปี

สศอ. โชว์ปรับเป้าเอ็มพีไอปีนี้โต 4-5% จากเดิม 2-3% รับอานิสงส์ส่งออกทะยานสูงสุดในรอบ 11 ปี
ข่าวสด
30 กรกฎาคม 2564 ( 13:52 )
64
สศอ. โชว์ปรับเป้าเอ็มพีไอปีนี้โต 4-5% จากเดิม 2-3% รับอานิสงส์ส่งออกทะยานสูงสุดในรอบ 11 ปี

 

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโชว์ปรับเป้าเอ็มพีไอปีนี้โต 4-5% จากเดิม 2-3% รับอานิสงส์ส่งออกทะยานสูงสุดในรอบ 11 ปี

 

สศอ. โชว์ปรับเป้าเอ็มพีไอ - นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปี 2564 อยู่ที่ 4-5% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้ที่ 2-3% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมคาดขยายตัวอยู่ที่ 3-4% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้ที่ 2.5-3.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากมาตรการของภาครัฐในแต่ละประเทศ ทั้งยุโรป สหรัฐ จีน ญี่ปุ่นและประเทศคู่ค้าหลัก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง

 

 

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศทั้งด้านการเงินและการคลัง แผนการเปิดประเทศในครึ่งปีหลัง และการเร่งกระจายฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ รวมทั้งในหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วในระดับสูง เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดย สศอ.ได้คำนวณผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ประกอบการพิจารณาปรับประมาณการครั้งนี้แล้ว

 

 

“หากรัฐบาลมีการล็อกดาวน์ต่ออีก 2 เดือน ก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมบ้างเล็กน้อย แต่จากตัวเลขส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี เห็นได้จากการส่งออกไทยเดือนมิ.ย. 2564 มีมูลค่า 23,699 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 43.82% สูงสุดในรอบ 11 ปี ประกอบกับการค้าชายแดนของไทยทุกด่านขยายตัวดีมากต่อเนื่อง สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม จึงเริ่มมีการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และประเมินแนวโน้มยังจะขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยจะขยายตัวได้ดีในระยะต่อไป”

 

 

นอกจากนี้ ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมบางส่วน แต่ไม่มากนัก เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการช่วยเหลือและดูแลโรงงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีแผนบริหารจัดสรรวัคซีนฉีดให้พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมควบคู่กับผู้ประกอบการที่มีแผนรองรับในระดับหนึ่ง

สำหรับเอ็มพีไอเดือนมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 97.73 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.58% และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเชื่อมั่นว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญจะยังเติบโตต่อเนื่องตามภาคการส่งออก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานี้ ทำให้ภาพรวมเอ็มพีไอไตรมาส 2/2564 ขยายตัวเฉลี่ย 20.41% และครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ย 9.41%

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากเอ็มพีไอเดือนมิ.ย. 2564 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะมีบางโรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดการผลิตชั่วคราว แต่เป็นเฉพาะบางสายการผลิต และสามารถกลับมาเร่งกำลังการผลิตได้เหมือนเดิม ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมมีการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าการผลิตต่อไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง