รีเซต

รบ. เตือนระวังหางานทำ ตปท. พบหลอกลวงไม่ตรงปก ถูกกักขังเรียกค่าไถ่!

รบ. เตือนระวังหางานทำ ตปท. พบหลอกลวงไม่ตรงปก ถูกกักขังเรียกค่าไถ่!
มติชน
28 สิงหาคม 2565 ( 09:45 )
63
รบ. เตือนระวังหางานทำ ตปท. พบหลอกลวงไม่ตรงปก ถูกกักขังเรียกค่าไถ่!

ข่าววันนี้ 28 สิงหาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับแจ้งการขอรับความช่วยเหลือกรณีคนไทยถูกหลอกไปทำงานในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีตำแหน่งหน้าที่ รายได้ สวัสดิการ ที่ไม่ตรงกับที่ประกาศ หรือโฆษณาไว้ก่อนเดินทาง รวมทั้งมีการถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย และบีบบังคับให้ทำงานโดยมิได้สมัครใจ และมีหลายรายถูกนายจ้างหรือผู้ชักชวนเรียกเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับการปล่อยตัว

 

กระทรวงการต่างประเทศ จึงแจ้งเตือนผู้ที่กำลังหางานผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก และไลน์กลุ่ม ให้พึงระวัง และอย่าหลงเชื่อขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ ดังนี้

 

1.การไปทำงานในเมียนมา ขอให้ระวัง และอย่าหลงเชื่อประกาศรับสมัครคนไทย เพศหญิง บุคลิกดี ทำงานตำแหน่งพนักงานต้อนรับในสถานบันเทิง โรงแรม หรือคาสิโน มีเงินเดือนสูง พร้อมที่พัก อาหาร และสวัสดิการต่างๆ โดยนายหน้าคนไทยมักจะนัดแนะให้เหยื่อเดินทางข้ามแม่น้ำสายที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็นการหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย

 

เมื่อเดินทางถึงเมียนมาจะถูกส่งตัวไปในพื้นที่ภาคเหนือ และตะวันออกของเมียนมา ติดกับชายแดนประเทศจีน (เมืองลา เมืองป๊อก เมืองเล้าไก่ เขตปาซาง และเขตมูเซ) และถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ หากไม่ยินยอมจะถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย หรือส่งขายต่อให้นายจ้างรายอื่น หากต้องการกลับไทยต้องนำเงินมาไถ่ตัว ขอเรียนว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังทหารชนกลุ่มน้อย ซึ่งยากต่อการติดต่อ และเข้าถึงพื้นที่ และมีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง การให้ความช่วยเหลือ จึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง และรอบคอบ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที หรือในเวลาอันรวดเร็ว จะสามารถเดินทางกลับไทยได้ก็ต่อเมื่อชำระค่าปรับ หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเมียนมาแล้ว และเมื่อเดินทางกลับเข้าไทยอาจต้องชำระค่าปรับหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยอีกด้วย

 

2.การไปทำงานในกัมพูชา ขอให้ระวัง และอย่าหลงเชื่อประกาศรับสมัครงานตำแหน่งแอดมินออนไลน์ หรือเจ้าหน้าที่การตลาด ที่ไม่ต้องมีประสบการณ์การทำงาน รายได้ดี มีที่พัก อาหาร และสวัสดิการต่างๆ เพื่อไปทำงานใน จ.พระสีหนุ (สีหนุวิลล์) กรุงพนมเปญ เมืองปอยเปต และ จ.สเวเรียง โดยนายหน้าคนไทยจะนัดแนะให้เหยื่อเดินทางไป จ.สระแก้ว เพื่อเดินเท้าเข้ากัมพูชาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในเวลากลางคืน โดยไม่ใช้หนังสือเดินทาง และไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นการหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากการเหยียบกับระเบิด เมื่อเดินทางถึงกัมพูชา นายจ้างจะบังคับให้ทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงคนไทย หรือชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ หากทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือไม่ยินยอมทำงาน จะถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย ส่งขายต่อให้นายจ้างรายอื่น หรือถูกบังคับให้ต้องนำเงินมาไถ่ตัว

 

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือเพื่อเดินทางกลับไทยไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีหรือในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่กัมพูชามีจำนวนจำกัด และจะต้องเป็นไปตามกระบวนการของทางการกัมพูชา เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว เหยื่อจะต้องพักรอในสถานกักกันเพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน และรอการเนรเทศ อาจต้องชำระค่าปรับ หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายกัมพูชา และเมื่อเดินทางกลับเข้าไทยอาจต้องชำระค่าปรับหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยด้วย

 

3.การไปทำงานในฟิลิปปินส์ ขอให้ระวัง และอย่าหลงเชื่อประกาศรับสมัครงานตำแหน่งต่างๆ อาทิ แอดมินออนไลน์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่การตลาด โดยไม่ต้องมีประสบการณ์ทำงาน รายได้ดีตั้งแต่ 25,000-50,000 บาทต่อเดือน พร้อมค่าล่วงเวลา โดยนายจ้างจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมที่พัก อาหาร สวัสดิการต่างๆ และจะดำเนินการเรื่องวีซ่าให้เมื่อเดินทางถึงฟิลิปปินส์ เมื่อเหยื่อเดินทางถึงฟิลิปปินส์แล้ว จะถูกบังคับให้เซ็นสัญญาทำงานที่ไม่เป็นธรรม ถูกยึดหนังสือเดินทาง ให้ทำงานหนัก ไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงไว้ และถูกบังคับให้หาลูกค้ามาเล่นพนันออนไลน์ หรือหลอกให้ลงทุน

 

รวมทั้งชักชวนคนที่รู้จักมาร่วมทำงานเป็นเครือข่าย หากทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือไม่ยินยอมทำงาน จะถูกกักขัง ขู่ทำร้าย หรือส่งขายต่อให้นายจ้างรายอื่น รวมทั้งถูกบังคับให้ต้องนำเงินจำนวนหลักแสนบาทมาไถ่ตัวเป็นค่าผิดสัญญาการทำงาน หรือค่าใช้จ่ายในการพาเหยื่อเดินทางมาฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือกลับไทยไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากจะต้องเป็นไปตามกระบวนการของทางการฟิลิปปินส์ เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว เหยื่อจะยังไม่สามารถกลับไทยได้เนื่องจากตำรวจต้องการสอบสวนในฐานะเหยื่อ หรือพยานคดีการค้ามนุษย์ และอาจต้องเข้ากระบวนการศาลของฟิลิปปินส์

 

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลบูรณาการทุกภาคส่วนรวมถึงการประสานงานกับทางการต่างประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือคนไทยที่เดือดร้อนให้ได้กลับประเทศโดยเร็วที่สุดภายใต้กรอบกฎหมายของแต่ละประเทศ ดังนั้น การดูแลตนเองค้นหาข้อมูลนายจ้างเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งผู้ที่สนใจไปทำงานในต่างประเทศ ควรพิจารณาสมัครงานจากประกาศรับสมัครงานของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัคร ตำแหน่งงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ รายได้ สวัสดิการ ช่องทางการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ชัดเจน

 

ทั้งนี้ หากต้องการขอรับข้อมูลเพื่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งงาน สามารถสอบถามได้ที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่หมายเลข 02247 9423 หรือ สายด่วน 1560 กด 2 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่ง และหากประสบปัญหาในต่างประเทศ สามารถติดต่อ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนั้นๆ หรือ Call Center กรมการกงสุล หมายเลข 02 572 8442 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง