รีเซต

เช็กอาการคนท้องติดโควิดรุนแรงไหม ในวิกฤตคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อสูง

เช็กอาการคนท้องติดโควิดรุนแรงไหม ในวิกฤตคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อสูง
Ingonn
23 กรกฎาคม 2564 ( 16:33 )
416
เช็กอาการคนท้องติดโควิดรุนแรงไหม ในวิกฤตคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อสูง

จากข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่ม หญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 20 กรกฎาคม 2564 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 898 ราย เสียชีวิต 16 ราย ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ข้อมูลวัคซีน ในหญิงตั้งครรภ์ยังมีไม่มาก

 

 

ล่าสุดทางกรมควบคุมโรค ได้เพิ่มกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกด้วย เป็นการเพิ่มกลุ่มเสี่ยงต่อจากผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังด้วย

 

 

วันนี้ TrueID จึงรวบรวมวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง พร้อมการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคโควิด 

 

 

 

วิกฤตหญิงตั้งครรภ์กับโควิด-19 ระลอกใหม่


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 3 กรกฎาคม 2564 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 581 ราย เสียชีวิต 9 ราย ทารกติดเชื้อ 40 ราย และเสียชีวิต 4 ราย โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ คลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมีโอกาสคลอดกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ

 

 

 

เด็กในท้องมีโอกาสติดโควิดไหม

 

หากคุณแม่อายุครรภ์น้อยโอกาสที่ทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อนั้นน้อยมาก ต่างจากคุณแม่ใกล้คลอดที่ทารกมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่า

 


ผลจากการศึกษาในจีนพบว่า ทารกที่เกิดจากแม่ที่เป็นโรคโควิด-19 มี 3 ราย ที่ติดเชื้อจากจำนวน 33 ราย แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าทารกติดเชื้อโควิดตอนอยู่ในมดลูก ตอนกำลังทำคลอด หรือตอนคลอดมาแล้ว ซึ่งทารกมักอยู่แนบชิดกับผู้เป็นแม่

 

 

ด้านราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์สหราชอาณาจักรบอกว่า ไม่มีหลักฐานว่าเชื้อไวรัสนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของทารก

 

 

ส่วนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโควิด-19 ติดผ่านทางรก หรือทางน้ำนม ดังนั้นแม่ที่ติดโควิด สามารถให้นมลูกได้ เพียงแต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หรือให้พ่อเป็นคนป้อนนม แต่หากแม่รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) ควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูก ส่วนการให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นๆ หญิงหลังคลอดยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ

 

 


การฝากครรภ์ช่วงโควิด

 

ในรายที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์เป็นต้นไป และเป็นกลุ่มครรภ์เสี่ยงสูงหรือมีโรคร่วม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ หัวใจ หอบหืด ปอดเรื้อรัง  ไต และภูมิต้านทานผิดปกติ ควรปฏิบัติตัวดังนี้


 
1.ควรไปฝากครรภ์ตามแพทย์นัดทุกครั้ง โดยมีการนัดเวลาล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลให้สั้นที่สุด 

 


2.หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ 

 


3.แนะนำให้มีผู้ติดตามไม่เกิน 1 คนและสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน 

 


4.พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวเพื่อล้างมือให้สะอาดเมื่อจำเป็น 

 


5.ระหว่างนั่งรอตรวจหรือรับยา ให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร 

 


6.เมื่อกลับถึงบ้านให้ถอดหน้ากากทิ้งอย่างถูกวิธี ล้างมือ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที 

 


7.สังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น บวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน หากมีอาการดังกล่าว ให้โทรประสานกับหน่วยบริการที่ฝากครรภ์เพื่อส่งต่อโรงพยาบาลต่อไป

 

 

กรณีตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 โดยไม่มีการนัดตรวจพิเศษอื่น ๆ สามารถโทรติดต่อขอเลื่อนนัดตรวจครรภ์ออกไปตามความเหมาะสม

 

 


คนท้องติดโควิดมีอาการอย่างไร


ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดไม่ค่อยมีอาการป่วย แต่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน หรือบางคนที่ครรภ์เป็นพิษก็จะพบปัญหา จึงขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่รับฝากครรภ์อย่างใกล้ชิด

 

 

นอกจากนี้ กรมอนามัยได้รวบรวมข้อมูลในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ 60 คน ไม่มีใครที่มีอาการรุนแรง หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 

 

 

ขณะที่ทั่วโลกพบว่า การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก อาจพบได้ 2-5% ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องการแทงลูก

 

 


คนท้องฉีดวัคซีนได้ไหม


ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าสตรีตั้งครรภ์สามารถรับวัคซีนได้ โดยมีข้อแนะนำดังนี้

 

1.สตรีตั้งครรภ์สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีที่มีข้อห้าม เช่น มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งแรก

 


2.ช่วงอายุครรภ์ที่แนะนำฉีดวัคซีน คือ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (3 เดือน)

 


3.สตรีหลังคลอดที่ให้นมบุตรสามารถรับการฉีดวัคซีนได้

 


4.วัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ มี 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า จากข้อมูลเบื้องต้นสามารถใช้ได้ทั้งสองชนิด แต่มีข้อสังเกตว่าวัคซีนซิโนแวค มีอัตราการเกิดไข้หลังฉีดน้อยว่าแอสตร้าเซนเนก้า

 


5.ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ยกเว้นมีความจำเป็น การฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2  สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

 

 


หญิงตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีนอะไร

 

แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว ในขณะที่แอสตราเซเนกา เป็น viral vector vaccine มีโอกาสเกิดอาการไข้หลังฉีดได้มาก และมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่พบน้อยมาก สำหรับหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

 

 

หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ยังคงต้องป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเป็นพิเศษ โดยงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนในบ้าน หมั่นล้างมือเป็นประจำ เว้นระยะห่าง งดออกจากบ้านหรือเดินทางเท่าที่จำเป็นเมื่อต้องไปตรวจครรภ์ โดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีโรคประจำตัว อาจโทรปรึกษาแพทย์เพื่อขอเว้นระยะเวลาการไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล  โดยให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย , กรมอนามัย , สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง