ผงะ หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดแล้ว 898 ราย ดับ 16 ราย สธ.กระตุ้นฉีดวัคซีนป้องกัน
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร” ร่วมกับ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ พญ.นฤมล ลือกิตินันท์ อายุรแพทย์ สถาบันโรคทรวงอก หวังสร้างความรู้ ความเข้าใจ ถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ลดติดเชื้อโควิด-19 ลดอัตราการป่วยรุนแรง รวมถึงลดการเสียชีวิต
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขอให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป รับรู้ เข้าใจ ถึงนโยบายการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสามารถให้บริการและคำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนบริหารจัดการ การให้บริการในสถานพยาบาลสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 898 ราย เสียชีวิต 16 ราย ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ข้อมูลวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ยังมีไม่มาก
กรมอนามัยจึงให้ความสำคัญโดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ ผลักดันนโยบายให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลที่เหมาะสมผ่านคลินิกฝากครรภ์ที่หญิงตั้งครรภ์ไปรับบริการอยู่ โดยให้หญิงตั้งครรภ์จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควร ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค
“ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ยังคงต้องป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเป็นพิเศษ โดยงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนในบ้าน หมั่นล้างมือเป็นประจำ เว้นระยะห่าง งดออกจากบ้านหรือเดินทางเท่าที่จำเป็นเมื่อต้องไปตรวจครรภ์ โดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์
“สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีโรคประจำตัว อาจโทรปรึกษาแพทย์เพื่อขอเว้นระยะเวลาการไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล โดยให้แพทย์ เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม อีกทั้งกรมอนามัยได้ออกคำแนะนำการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ในสถานการณ์โควิด-19 มีการปรับรูปแบบบริการของหน่วยบริการ ได้แก่ การให้บริการฝากครรภ์และคลินิก เด็กสุขภาพดีแบบวิถีใหม่ เพื่อลดเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลของผู้รับบริการให้น้อยลง และนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการสื่อสารกับผู้รับบริการ
“ออกแนวปฏิบัติในการดูแลเด็กติดเชื้อโควิด-19 แนวปฏิบัติในการเปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย มีการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกลโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ การติดตามข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงมีการทบทวนวิเคราะห์สาเหตุการตายมารดาจากโควิด-19 เพื่อหามาตรการป้องกัน โดยมีศูนย์อนามัยที่ 1–12 ของกรมอนามัย ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว