รีเซต

สตาร์ตอัป Marathon Fusion อ้างว่าผลิตทองคำได้จากเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันแบบโทคาแมก

สตาร์ตอัป Marathon Fusion อ้างว่าผลิตทองคำได้จากเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันแบบโทคาแมก
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2568 ( 16:09 )
12

บริษัท Marathon Fusion สตาร์ตอัปในสหรัฐอเมริกาเผยว่าเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันแบบโทคาแมก (Tokamak) ที่พวกเขาพัฒนาสามารถเปลี่ยนปรอทธรรมดาให้กลายเป็นทองคำได้จริง ซึ่งผลลัพธ์นี้เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาฟิวชันภายในเครื่อง กลายเป็นผลพลอยได้ทองคำที่ทรงพลังและแปลกประหลาดเกินคาด

มนุษย์พยายามสร้างทองคำตั้งแต่ยุคอดีต

ย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ นักเล่นแร่แปรธาตุต่างพยายามแสวงหาวิธีสร้าง “ศิลาอาถรรพ์” ซึ่งว่ากันว่าสามารถเปลี่ยนโลหะธรรมดา เช่น ตะกั่ว ดีบุก หรือปรอท ให้กลายเป็นทองคำได้ 

โดยในยุคนั้นพวกเขาผสมผสานศาสตร์ทางเคมีกับอภิปรัชญาในการแสวงหาทั้งความรู้แจ้งทางจิตวิญญาณและหนทางสู่ความมั่งคั่ง แต่น่าเสียดายที่ความสำเร็จในทางปฏิบัติกลับเป็นศูนย์ และมักมีเพียงพวกฉ้อฉลที่หลอกลวงผู้อุปถัมภ์ผู้โลภเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์

แม้ในศตวรรษที่ 20 นักฟิสิกส์จะสามารถเปลี่ยนธาตุได้ในทางทฤษฎีโดยใช้อำนาจของพลังงานนิวเคลียร์ แต่กระบวนการดังกล่าวกลับให้ทองคำเพียงเล็กน้อยในราคาต้นทุนที่สูงไม่คุ้มค่าการลงทุน

แนวคิดคริสโซโพเอียเล่นแร่แปรธาตุ

ปัจจุบันนี้ แนวคิดที่มีชื่อเรียกเฉพาะในแวดวงว่าคริสโซโพเอีย (Chrysopoeia) การแปรธาตุให้เป็นทอง ได้หวนคืนในรูปแบบที่เป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ และที่น่าสนใจคือไม่ได้ตั้งใจจะผลิตทอง แต่กลับเกิดขึ้นเป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานฟิวชันผลิตกระแสไฟฟ้า

เครื่องปฏิกรณ์โทคาแมก (Tokamak)

สตาร์ตอัป Marathon Fusion เปิดเผยว่า เครื่องปฏิกรณ์โทคาแมก (Tokamak) ของบริษัทนอกจากจะสามารถผลิตพลังงานสะอาดในระดับกิกะวัตต์แล้ว ยังสามารถแปรสภาพปรอทให้กลายเป็นทองคำได้ในปริมาณที่น่าทึ่ง คือ ทองคำ 5 ตัน ต่อการผลิตพลังงาน 2.5 กิกะวัตต์

วิธีการนี้คล้ายคลึงกับแนวคิดเดิมที่ใช้ลิเธียมเป็นตัวดูดซับนิวตรอนเพื่อผลิตทริเทียมในเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน เมื่อแทนลิเธียมด้วยไอโซโทปปรอท-198 (หรือผสมลิเธียมกับปรอท) นิวตรอนเร็วจากฟิวชันจะเปลี่ยนไอโซโทปนั้นให้กลายเป็นปรอท-197 ที่ไม่เสถียร ซึ่งจะสลายตัวผ่านการปล่อยอิเล็กตรอน จนได้เป็นทองคำ-197 ทองคำแท้ในทางนิวเคลียร์

Schematics of fusion power plant on tokamak principle. Credit: Energy Encyclopedia.

วิธีการนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ

รายงานฉบับล่าสุดซึ่งยังรอการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า หากใช้ปรอทที่เสริมไอโซโทปเป้าหมายไว้ถึง 90% จะได้ผลตอบสนองที่ดีที่สุด โดยทองคำสามารถแยกออกได้ง่ายจากโลหะผสมที่สัมผัสกับปฏิกรณ์ เนื่องจากทองคำมีคุณสมบัติเฉื่อย ทำให้การแยกตัวทางเคมีมีความสะดวก

แม้แนวคิดนี้จะยังอยู่ในระดับต้นแบบและการทดลอง แต่หากผลการศึกษาได้รับการรับรองและนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม ก็อาจทำให้ฝันที่กินเวลาเป็นพันปีของมนุษย์ในการสร้างทองคำกลายเป็นเรื่องธรรมดา และอาจเขย่าระบบเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอีกด้วย

นักวิจัย CERN เคยผลิตทองคำสำเร็จ

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี 2025 นักวิจัยที่ CERN หรือองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research) ประสบความสำเร็จในการทดลองเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทองคำได้จริง แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้าและมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าที่หลายคนเข้าใจ 

โดยนักวิจัยที่ CERN สามารถสังเคราะห์ทองคำได้โดยการใช้เครื่องเร่งอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider - LHC) เร่งอะตอมของตะกั่วให้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วแสง แล้วทำให้เกิดการชนกันแบบ "ultraperipheral collisions" ซึ่งเป็นการชนแบบไม่สัมผัสกันโดยตรง แต่สร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทรงพลังมหาศาลขึ้นมาแทน

พลังงานจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้านี้สามารถดึงโปรตอนออกจากนิวเคลียสของตะกั่ว (ซึ่งมีโปรตอน 82 ตัว) ได้สำเร็จ เมื่อนิวเคลียสของตะกั่วสูญเสียโปรตอนไป 3 ตัว จะทำให้เลขอะตอมลดลงเหลือ 79 ซึ่งตรงกับเลขอะตอมของธาตุทองคำพอดี

อย่างไรก็ตาม ทองคำที่ได้มีปริมาณน้อยมาก ระดับไมโครกรัม และกระบวนการมีต้นทุนสูงมากจนไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันการแปรธาตุในลักษณะนี้จึงยังคงเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษากลไกของปฏิกิริยานิวเคลียร์ มากกว่าจะเป็นทางเลือกในการผลิตทองคำจริงในอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนปรอทเป็นทองคำจะฟังดูเหมือนเวทมนตร์ในนิยายยุคกลาง แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังทำให้ความฝันของนักเล่นแร่แปรธาตุในอดีตเข้าใกล้ความจริงยิ่งขึ้นไม่ใช่ด้วยเวทมนตร์ แต่ด้วยฟิสิกส์พลังงานสูงและปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ซับซ้อน หากแนวคิดของ Marathon Fusion ได้รับการยืนยันและพัฒนาอย่างเป็นระบบ มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่มนุษย์ไม่เพียงแต่ควบคุมพลังของดวงดาวเพื่อผลิตพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังอาจเขียนนิยามใหม่ให้กับคุณค่าของทองคำที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งหายากและล้ำค่าในประวัติศาสตร์ของโลก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง