รีเซต

"ซื้อหนี้ประชาชน" ย้อนรอย วิกฤต "ต้มยำกุ้ง"

"ซื้อหนี้ประชาชน" ย้อนรอย วิกฤต "ต้มยำกุ้ง"
TNN ช่อง16
1 เมษายน 2568 ( 08:00 )
10

ผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่เป็น"หนี้" จากสวนดุสิตโพล ขานรับเห็นด้วย กับนโยบาย "ซื้อหนี้ประชาชน"  หวังตั้งตัวได้อีกครั้ง  

อย่างไรก็ตาม การซื้อหนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ของประเทศไทย เคยเกิดขึ้นและทำจริงมาแล้วตั้งแต่สมัย "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เมื่อปี 2540  

แต่ถามว่าปัจจุบันนี้มีปัจจัยที่ต่างหรือเหมือนกับวิกฤตหนี้ครั้งนั้นอย่างไร? 



"ซื้อหนี้ประชาชน"  คนจะได้เลิกเป็นหนี้ ตั้งตัวได้ใหม่ หลุดจากเครดิตบูโร

แนวคิดล่าสุดจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างกระแสร้อนแรงขึ้นมากอีกครั้ง

กับนโยบายเศรษฐกิจ เรื่องการแก้หนี้ โดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร 

ก็ยืนยันย้ำอีกเสียงว่าอยากให้เกิดขึ้นจริง สอดคล้องกับคลังที่รับลูกพร้อมเดินหน้าสานต่อทันที

หรือแม้กระทั่งความเห็นโพลสำรวจของประชาชนก็ขานรับในเรื่องนี้  


จุดเริ่มของนโยบายร้อนครั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีของไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 

ได้ออกมาย้ำถึงแนวคิด การซื้อหนี้ประชาชน ว่าอยากให้เกิดขึ้นจริง

หลังจากที่พ่อของตนเอง หรืออดีตนายกรัฐมนตรี 

นายทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวในระหว่างการปราศรัยในวันก่อนหน้านั้นว่า อยากจะให้มีการ

“ซื้อหนี้ประชาชนจากระบบธนาคาร” โดยให้เอกชนเข้าไปซื้อ เพื่อให้คนไทยได้หลุดจากเครดิตบูโร

พ้นจากการเป็นหนี้ ได้เริ่มชีวิตใหม่ตั้งตัวอีกครั้ง และเป็นการแก้หนี้ให้กับประเทศ 

ซึ่งนายกฯได้ย้ำว่าความเห็นดังกล่าว เป็นความหวังดีกับประเทศ ไม่ใช่ประเด็นการเมือง


ขณะเดียวกันหลังจากข่าวนี้ออกมา ก็ได้สร้างความหวังให้กับคนที่เป็นหนี้ 

ล่าสุด“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 

ได้สำรวจความคิดเห็นเฉพาะประชาชนที่มีหนี้สิน 

ต่อกรณี “ซื้อหนี้..แก้ ปัญหาให้ประชาชน”

จากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นประชาชนที่มีหนี้สิน 

จำนวน 1,153 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 18-21 มีนาคม 2568


น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า

 จากผลโพลบ่งบอกถึง “ความทุกข์” ของคนไทยที่มีหนี้ 

และอยู่ในภาวะการเงินที่เปราะบาง แม้มีความหวังต่อมาตรการใหม่อย่างการ “ซื้อหนี้” 

ที่อาจช่วยปลดล็อกความอึด อัดจากหนี้สิน

 แต่ก็ยังมีความกังวลว่าจะกลายเป็นการแก้ปัญหาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ 

และไม่ยั่งยืนในระยะยาว

 “เสียงส่วนใหญ่ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้างหนี้ 

ลดภาระค่าครองชีพ และลดอัตราดอกเบี้ย

 เพื่อช่วย เหลือประชาชน”




หลังจากนั้น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง

กรณีผลสำรวจดุสิตโพล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายซื้อหนี้ประชาชน 

โดยย้ำว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำ วันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนลำบากอยู่ 2-3 เรื่อง 

คือ

 1. การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โดยการดึงเงินออกนอกระบบ ทำให้เศรษฐกิจมันแห้ง 

ทำให้ประชาชนเดือดร้อน 

2. เรื่องของโควิด-19 

3. การสร้างโอกาสให้กับประชาชนไม่เพียงพอ ที่ประชาชนจะสามารถทำมาหากินได้ 

ฉะนั้น วันนี้ก็ต้องหาทางให้ประชาชนสามารถเริ่มต้นใหม่ 

โดยการพยายามแก้หนี้ให้เขาหรือปรับโครงสร้างหนี้ 

ให้เขาสามารถชำระหนี้ได้มีเครดิตใหม่ และสร้างโอกาสให้เขาก็จะทำให้เขาฟื้นได้



ขณะที่ความเห็นในการซื้อหนี้ประชาชน 

เรื่องนี้ จากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ

ระบุว่าต้องดูความชัดเจนและรายละเอียดทั้งหมดก่อน

พร้อมย้ำหลักการสำคัญ 3 ข้อ ในการแก้หนี้ 


มีรายงานข่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สอบถามใน 

ประเด็นการซื้อหนี้ประชาชนและล้างประวัติเครดิตบูโร 

ระบุว่า ขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนของรูปแบบประเภทหนี้ที่จะเข้าข่าย 

และรายละเอียดต่าง ๆ ก่อน ซึ่งที่ผ่านมา 

ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท. 

คำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่


1. ต้องสนับสนุนวินัยทางการเงินที่ดี ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิด 

จนทำให้เกิดปัญหา moral hazard กล่าวคือ 

ต้องมีกลไกส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและมีความรับผิดชอบทางการเงิน 

ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเป็นหนี้ซ้ำซ้อนในอนาคต


2.สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ในระยะข้างหน้า 

กล่าวคือ ความช่วยเหลือที่ให้ต้องไม่ไปลดทอนความแม่นยำ

ในการประเมินความเสี่ยงของเจ้าหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม


3.ต้องแก้ปัญหาหนี้อย่างตรงจุด 

และเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบการเงินในภาพรวม 

โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร

และงบประมาณของประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ทั้งนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยมีความซับซ้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขปัญหา 

การออกแบบมาตรการจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างครบวงจร 

โดยคำนึงถึงสาเหตุของปัญหา หลักการของการทำมาตรการ 

และผลข้างเคียงอย่างรอบด้าน 

เพื่อให้เกิดผลสูงสุดแก่ทั้งลูกหนี้และระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน



อย่างไรก็ตาม การซื้อหนี้ทำได้จริง และไม่ใช่เรื่องใหม่

เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเมืองไทย 

สมัยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 

แต่ถามว่าเหมือนหรือว่าต่างกันอย่างไร 

มาหาคำตอบกัน 


ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ได้เผยกรณีศึกษา

เรื่องการตั้ง AMC เพื่อ ซื้อหนี้ของประชาชน 

โดยเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างจากปี 2540 

กับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ปี 2568 


นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ 

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า

 จากแนวคิดของภาครัฐในการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC)

 เพื่อซื้อหนี้เสียออกจากระบบ 

โดยเฉพาะหนี้อุปโภคบริโภคของลูกหนี้รายย่อยที่เครดิตบูโร 

พบว่า จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567 

เอ็นพีแอลของหนี้ภาคประชาชนที่เครดิตบูโร (หนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วันขึ้นไป) 

มีจำนวน 9.59 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 ล้านล้านบาทนั้น

 สะท้อนการตระหนักของภาครัฐ เกี่ยวกับความซับซ้อนของปัญหาหนี้เสียที่ค้างอยู่ในปัจจุบัน 

ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  หลังจากผ่านวิกฤตมาหลายรอบ โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา


และหากนำมาเปรียบเทียบกับกรณีที่คล้ายคลึงกันของไทย

คือ การจัดตั้ง AMC กับ  TAMC 

โดยหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มีหนี้เสียสูงถึง 52.3% 

ของสินเชื่อรวมในเดือนพฤษภาคม 2542 

หรือราว 2.5 ล้านล้านบาท 

ซึ่งเกินกว่ากำลังของระบบสถาบันการเงินจะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้นนั้น 

ทำให้เกิดการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐตามมาตั้งแต่ปี 2540-2541 

มีจำนวนกว่า 10 แห่ง เพื่อซื้อหนี้จากธนาคารแม่ แยกออกไปบริหารจัดการเฉพาะ 

และต่อมาจึงมีการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หรือ TAMC ในปี 2544 

เพื่อซื้อหนี้ก้อนใหญ่ในช่วงปลายวิกฤตดังกล่าว 

ประมาณ 7.8 แสนล้านบาท จากสถาบันการเงินไปบริหารเพื่อฟื้นฟูและ/หรือปิดจบหนี้


แม้จุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดตั้ง AMC ทั้งในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและในครั้งนี้ 

มีความเหมือนกันตรงที่การมุ่งแยกหนี้เสียออกจากระบบ 

แต่กลับอยู่บนเงื่อนไขของเศรษฐกิจการเงินที่แตกต่างกัน 

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตปี 2540 การจัดตั้ง AMC จะเน้นซื้อหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือน 

ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตจากอานิสงส์ของเงินบาทอ่อนค่าที่ส่งผลดีต่อ FDI 

และการส่งออก ได้ช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนเห็นภาพรายได้ที่ดีขึ้น


นอกจากนี้ในสมัยนั้น ยังเป็นช่วงแรกๆ ของตลาดการบริหารหนี้ 

และมีการแก้กฎหมาย มีการจัดตั้งศาลล้มละลายกลาง 

จึงทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้มีองค์ประกอบหลายด้าน

ที่สนับสนุนการแก้ไขหนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน


ขณะที่ จุดที่ปัญหาในรอบนี้แตกต่างออกไป นั่นคือ 

หนี้เอ็นพีแอลทั้งธุรกิจและรายย่อยจำนวนไม่น้อย

ได้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาแล้ว 

และผ่านมาตรการช่วยเหลือจากทั้งธนาคารพาณิชย์และทางการ 

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจเองก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง 

ทำให้ปัจจัยด้านรายได้ของธุรกิจและครัวเรือนไม่ชัดเจน 


ดังนั้น แนวคิดในการซื้อหนี้ประชาชนรอบนี้ 

จึงต้องคำนึงถึงสถานการณ์หลายด้านที่แตกต่างออกไปจากอดีต

และยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย 

เช่น หนี้เสียของสหกรณ์ นอนแบงก์ในธุรกิจลิสซิ่ง 

หรือนอนแบงก์ที่ไม่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร

รวมไปถึงปัญหา Moral Hazard ของลูกหนี้

โดยตีกรอบเงื่อนไขให้มีความเหมาะสม 

เพื่อให้ระบบเครดิตของไทยยังยืนอยู่ได้ในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง