รีเซต

เก็งแบงก์รอดปันผลได้ ล่ำซำชิงขายKBANK

เก็งแบงก์รอดปันผลได้ ล่ำซำชิงขายKBANK
ทันหุ้น
30 ตุลาคม 2563 ( 08:30 )
153
เก็งแบงก์รอดปันผลได้ ล่ำซำชิงขายKBANK

 

ทันหุ้น-สู้โควิด- ธปท.จ่อประกาศผล Stress Test นักวิเคราะห์ส่องเงินกองทุนยังหนาเชื่อผ่าน กลับมาปันผลได้ราว 3.5%-7.8% แต่ต้องลุ้นว่า แบงก์จะลดเงินปันผลหรือไม่ปันผลเองหรือไม่ เหตุอนาคตยังไม่แน่นอน ชี้ Stress Test เป็นผลดีชั่วคราว แนะจับตาการตั้งสำรองไตรมาสสุดท้าย ชู BBL-TISCO  ด้านสุจิตพรรณ ล่ำซำ ขายหุ้น KBANK 16.6% ของพอร์ต แปลงเงินสด

 

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมประกาศผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง เพื่อดูว่ามีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผลจากผลดำเนินงานงวดปี 2563 ได้หรือไม่

 

ซึ่งจากการตรวจสอบระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 พบว่า ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่อนข้างมาก และ ทั้งปริมาณเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและเงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 ปัจจัยหนึ่งมาจากการเร่งตั้งสำรองหนี้สูญเพื่อรองรับกับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

 

ดังนั้นจึงเชื่อว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์มีศักยภาพที่จะจ่ายเงินปันผลได้ เบื้องต้นคาดการณ์ศักยภาพการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยที่ 5% อย่างไรก็ดีมีประเด็นที่ต้องติดตามว่า ธนาคารพาณิชย์ อาจเลือกที่จะจ่ายปันผลน้อยลง หรือ อาจจะไม่จ่าย เพื่อรักษาฐานทุนไว้รองรับกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

 

@ปัจจัยกดดันQ4

 

สำหรับผลดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ใยช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังมีแรงกดดันจาก 2 ปัจจัยหลักคือ คุณภาพหนี้ และการบันทึกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งปกติธนาคารพาณิชย์จะบันทึกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็ปัจจัยกดดันผลกำไรตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ของลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ด้วย เพราะไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นช่วงที่ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดมาตรการจำนวนมาก

 

“ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งมีระยะเวลาพักชำระ 3 เดือน อันนี้สิ้นสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 3 อีกกลุ่มที่พักเฉพาะเงินต้นจะสิ้นสุดราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก จึงต้องติดตามดูว่าหลังจากนี้ตัวเลขหนี้เสียจะไปในทิศทางไหน”

 

คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธาคารพาณิชย์ “เท่ากับตลาด” แนะนำเลือลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะ อาทิ BBL ราคาเหมาะสม 119 บาท และ TISCO ราคาเหมาะสม 81 บาท

 

ด้านนายกรกช เสวตร์ครุตมัต นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ธปท. จะประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 11% สามารถจ่ายเงินปันผลงวดสิ้นปี 2563 ได้ ซึ่งจากการประเมินพบว่าธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนฯ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17% จึงเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ระหว่าง 3.5%-7.8%

 

@BBL-TISCO พระเอก

 

ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซื้อขายที่ระดับ 0.4 เท่าของ PBV ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงฐานของธนาคารพาณิชย์ยังคงแข็งแกร่ง หากสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ได้ถือเป็นปัจจัยหนุนที่มีนัยต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะฟื้นตัวจึงแนะนำ “ทยอยสะสม” หุ้น BBL ราคาเหมาะสมที่ 124 บาท และ TISCO ราคาเหมาะสมที่ 80 บาท

 

โดย BBL เป็นหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจสูง การเพิ่มส่วนทุนนั้นมาจากก่อนหน้าที่ BBL ได้เข้าไปลงทุนในธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซียจึงทำให้สัดส่วนเงินทุนสำรอง Tier 1 ลดลงจากประมาณ 16% มาอยู่ที่ประมาณ 14% และเมื่อออกหุ้นกู้วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาทเข้ามาเสริมจะทำให้สัดส่วนเงินทุนสำรอง Tier 1 ของ BBL อยู่ที่ประมาณ 14.8% จึงมีแนวโน้มว่า BBL จะมีแผนการออก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” อีกในอนาคต

 

ขณะที่ TISCO มีแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 ต่อเนื่องไตรมาส 4/2563 ออกมาโดดเด่นจากการตั้งสำรองที่ลดลง เนื่องจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้สามารถกลับมาจ่ายค่างวดได้แล้วถึง 80% แม้ทางธนาคารยังคงมีมาตรการช่วยเหลือตามความเหมาะสม และยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อีกประมาณ 20% ต่อไปแต่ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิด NPL (ฝ่ายวิเคราะห์ประมาณการลูกหนี้ที่มีแนวโน้มไม่สามารถกลับมาผ่อนชำระได้หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ 20% นั้นมีสัดส่วนประมาณ 0.6% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของ TISCO)

 

@ สุจิตพรรณ ล่ำซำขายหุ้น 16.6%

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานผลการซื้อขายของผู้บริหาร พบว่า ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ คุณสุจิตพรรณ ล่ำซำ ได้ขายหุ้น KBANK ออกมาที่ 5 แสนหุ้น ที่ราคา 75 บาท เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ได้รับเงินรวมมูลค่า 37.5 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คุณสุจิตพรรณ ล่ำซำ ถือหุ้น KBANK ก่อนหน้านี้ที่ 3 ล้านหุ้น ดังนั้นการขายหุ้นครั้งนี้คิดเป็น 16.6% ของพอร์ตดังกล่าว คงเหลือถือหุ้น KBANK 2.5 ล้านหุ้น

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง