รีเซต

นักวิทย์พบสิ่งมีชีวิตพื้นทะเลขั้วโลกใต้ ฉีกตำราเขียนใหม่-จากเดิมคิดว่าไม่มี

นักวิทย์พบสิ่งมีชีวิตพื้นทะเลขั้วโลกใต้ ฉีกตำราเขียนใหม่-จากเดิมคิดว่าไม่มี
ข่าวสด
16 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:22 )
151
นักวิทย์พบสิ่งมีชีวิตพื้นทะเลขั้วโลกใต้ ฉีกตำราเขียนใหม่-จากเดิมคิดว่าไม่มี

นักวิทย์พบสิ่งมีชีวิตพื้นทะเลขั้วโลกใต้ - วันที่ 16 ก.พ. เดลีเมล์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตบริเวณพื้นทะเลของทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ หักล้างแนวคิดเดิมที่ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่พื้นทะเลบริเวณนี้ โดยอุณหภูมิน้ำนั้นต่ำถึงติดลบ 2.2 องศาเซลเซียส

 

 

สิ่งมีชีวิตดังกล่าวที่ถูกค้นพบมีลักษณะคล้าย "ฟองน้ำทะเล" (Sea Sponges) ถือเป็นสัตว์ทะเลประเภทหนึ่ง และเป็นผลงานของทีมสำรวจ British Antarctic Survey จากประเทศอังกฤษ ใช้วิธีหย่อนกล้องทะลุชั้นน้ำแข็งหนา 900 เมตร ลงไปส่องดูพื้นทะเลที่อยู่ข้างใต้ทวีป เผยให้เห็นฟองน้ำทะเลชนิดที่ยังไม่เคยพบมาก่อนอย่างชัดเจน

 

การค้นพบข้างต้นสร้างความประหลาดใจให้นักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากฟองน้ำทะเลกลุ่มนี้อยู่ห่างจากแหล่งอาหารของพวกมันกว่า 320 กิโลเมตร และอุณหภูมิของน้ำทะเลก็เย็นมากจนอยู่ในสถานะน้ำเย็นยิ่งยวด (Supercooled water) เกิดจากความดันมหาศาลใต้ทะเลทำให้จุดเยือกแข็งของน้ำลดต่ำลงไปกว่า 0 องศาเซลเซียส ส่งผลให้แม้อุณหภูมิเย็นจัด แต่ก็ยังไม่เป็นน้ำแข็ง

 

 

ทวีปแอนตาร์กติกา ถือเป็นปราการสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสุดท้ายบนโลก ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสำรวจได้อย่างจริงจัง โดยอุปสรรคมาจากความหนาของแผ่นน้ำแข็งที่ก่อตัวจนกลายเป็นทวีปขั้วโลกใต้ ทำให้ไม่สามารถลงไปสำรวจทะเลลึกที่อยู่ใต้แอนตาร์กติกาได้

 

ทวีปแอนตาร์กติกา มีขนาดกว่า 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร มากเสียยิ่งกว่าพื้นที่ประเทศอังกฤษ เยอรมนี สเปน และอิตาลีทั้งหมดรวมกัน ปกคลุมด้วยหิมะหนาทึบ และสภาพแวดล้อมหนาวเหน็บสุดขั้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้วิธีตั้งป้อมแล้วขุดรูเพื่อหย่อนกล้องลงไปสำรวจแทน

 

 

ดร.ฮูว์ กริฟฟิธ หนึ่งในทีมสำรวจ กล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นความโชคดีที่ได้พบกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้โดยบังเอิญ และหักล้างแนวคิดเดิมที่ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ใต้ทะเลขั้วโลกใต้ แต่ตรงกันข้าม กลับพบว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่จริง และพวกมันปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเยือกแข็งได้อย่างยอดเยี่ยมด้วย

"การค้นพบครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามมากกว่าคำตอบครับ เช่นว่า พวกมันมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง พวกมันกินอะไรเป็นอาหารกันแน่ อยู่ตรงนี้มานานแค่ไหน แล้วเป็นสปีชีส์ใหม่รึเปล่า แล้วก็ถ้าสภาพแวดล้อมตรงนี้เปลี่ยนไปจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกมันหรือไม่น่ะครับ" ดร.กริฟฟิธ กล่าว

 

 

รายงานระบุว่า อีกความประหลาดใจหนึ่งของการค้นพบครั้งนี้มาจากตำแหน่งของรูที่นักสำรวจเจาะทะลุลงไปตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 260 ก.ม. โดยทฤษฎีเดิมเชื่อว่า ยิ่งห่างชายฝั่งเท่าใด โอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตก็จะน้อยลงตามไปด้วย แต่การค้นพบนี้ไม่เป็นไปตามทฤษฎีข้างต้น

แม้ที่ผ่านมา การสำรวจจะค้นพบสิ่งมีชีวิต เช่น ปลาชนิดต่างๆ แต่เหล่านั้นสามารถอธิบายได้ว่าพวกมันเคลื่อนที่มาได้ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบ ฟองน้ำทะเล เป็นสัตว์น้ำที่เคลื่อนที่ไม่ได้

"การจะได้คำตอบทั้งหมดนั้นคือเราต้องหาทางศึกษาพวกมันในระยะใกล้ชิดกว่านี้ครับ ซึ่งลำบากมาก เพราะอยู่ห่างเรือเราไป 260 ก.ม. และยังอยู่ลึกลงไปอีก 900 เมตร ก็ต้องมานั่งคิดกันก่อนครับว่าต่อไปจะทำอีหรอบไหนดี" ดร. กริฟฟิธ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง