นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนาเส้นสีดำบนดาวอังคาร อาจไม่ได้มาจากน้ำ

ทีมนักวิจัยเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเส้นสีดำยาวบนดาวอังคาร ซึ่งเคยถูกเชื่อว่าเกิดจากน้ำเค็มไหลบนพื้นผิวดาวเคราะห์แดง ทว่าหลักฐานล่าสุดชี้ว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับน้ำเลย แต่เป็นผลจากกระบวนการแห้ง เช่น ลมพัดและฝุ่นที่เคลื่อนตัวตามแรงโน้มถ่วง
รอยเส้นปริศนาบนดาวอังคาร
ร่องรอยลักษณะนี้ หรือที่เรียกว่า “เส้นลาดซ้ำ (Recurring Slope Lineae)” ถูกค้นพบครั้งแรกในยุคภารกิจไวกิ้ง (Viking Missions) ของนาซาเมื่อปี 1970 โดยปรากฏเป็นริ้วดำทอดยาวตามลาดเขาของดาวอังคาร บางครั้งยาวเป็นระยะหลายร้อยฟุตและเด่นชัดบนพื้นผิวฝุ่นสีแดง แม้ว่าจะมีการจางหายไปตามฤดูกาล แต่หลายเส้นยังคงปรากฏให้เห็นมานานหลายทศวรรษ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าเส้นเหล่านี้อาจเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่ชี้ว่ามีน้ำของเหลวบนดาวอังคาร โดยเฉพาะน้ำเค็มที่อาจไหลซึมออกมาจากแหล่งใต้ดินหรือชั้นน้ำแข็ง แต่การศึกษาล่าสุดโดย อดอมาส วาลันตินาส (Adomas Valantinas) นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา กลับไม่พบหลักฐานใด ๆ ของน้ำ และชี้ว่ากระบวนการที่ทำให้เกิดเส้นดังกล่าวน่าจะเกิดจากปรากฏการณ์แห้ง
นักวิจัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI หาคำตอบ
ทีมนักวิจัยใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงกว่า 86,000 ภาพ และสร้างแผนที่โลกฉบับแรกของเส้นลาดดาวอังคาร รวบรวมข้อมูลจากปรากฏการณ์กว่า 500,000 จุด เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม หรือกิจกรรมหินถล่ม
ผลการวิเคราะห์พบว่า เส้นลาดที่เกิดซ้ำไม่ตรงกับบริเวณที่คาดว่าจะพบร่องรอยของน้ำเหลว เช่น พื้นที่ชื้นหรือมีอุณหภูมิผันผวน แต่กลับพบในเขตที่ลมแรงและมีฝุ่นหนาแน่นมากกว่า ซึ่งอาจเกิดจากฝุ่นบาง ๆ ที่เลื่อนตัวลงเนินโดยแรงลม หรือจากแรงสั่นสะเทือนของหลุมอุกกาบาตใหม่ รวมถึงพายุฝุ่นหรือการพังทลายของหิน
การค้นพบนี้ช่วยขจัดข้อสงสัยสำคัญเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเส้นลาดบนดาวอังคาร และเป็นอีกก้าวสำคัญในการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) วิเคราะห์ดาวเคราะห์จากวงโคจรโดยไม่ต้องส่งยานลงจอด ทำให้สามารถวางแผนภารกิจสำรวจได้แม่นยำและประหยัดทรัพยากรมากขึ้น
ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2025