รีเซต

เปิดข้อมูล อุบัติเหตุบนทางม้าลาย สัญลักษณ์แห่งความปลอดภัย จริงหรือ?

เปิดข้อมูล อุบัติเหตุบนทางม้าลาย สัญลักษณ์แห่งความปลอดภัย จริงหรือ?
TNN ช่อง16
24 มกราคม 2565 ( 08:44 )
264

ความคืบหน้ากรณี แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล  หรือ "หมอกระต่าย" แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกรถบิ๊กไบก์ที่มี สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ผู้บังคับหมู่กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ชนอย่างแรง ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายถนนพญาไท


บรรยากาศภายในงานศพเป็นไปด้วยความโศกเศร้า  ซึ่งสิบตำรวจตรี นรวิชญ์ ก็ได้มาร่วมรดน้ำศพและฟังสวด  พระอภิธรรมศพด้วย  


ด้านนายแพทย์ อนิรุทธ์ พ่อของ หมอกระต่าย เปิดเผยทั้งน้ำตาว่า ตอนนี้ไม่สนใจเรื่องคดีความ เพราะผู้ก่อเหตุเข้ามาขอโทษตอนมารดน้ำศพแล้ว พร้อมบอกว่าไม่ได้เคียดแค้น แต่โกรธและเสียใจว่า ทำไมต้องมาเกิดกับลูกตัวเอง และวันที่ 24 มกราคม เป็นวันเกิดของหมอกระต่าย ปกติพวกเราจะจำวันเกิดกันได้ตลอด มีการจัดงาน แต่ปีนี้   พ่อต้องจุดธูปบอกเขาว่า “ไปอยู่ที่สุขสบายตลอดไปเถอะ   พ่อจะดูแลแม่กับน้องเอง”



แจ้งข้อหา สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ 


เบื้องต้นแจ้ง 5 ข้อหา กับสิบตำรวจตรี นรวิชญ์  ขับรถโดยประมาทและการกระทำนั้น เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย นำรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทาง  ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย และไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม)  และฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท


สำหรับข้อกฎหมายตาม  พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522  ที่เกี่ยวข้องกับทางม้าลาย ระบุไว้ว่า 


กรณีชนคนข้ามทางม้าลาย โดยที่ไม่หยุดให้คนข้าม จะมีโทษ ปรับ 1,000 บาท  หากฝ่าสัญญาณไฟข้ามถนนในเขตชุมชนที่มาคู่กับทางม้าลายปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท และกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนด้วยเช่นกันว่า ผู้ขับขี่ต้องชลอความเร็วของรถ  หรือ หยุดรถ หากเข้าใกล้ทางร่วม ทางแยก ทางข้าม ฝ่าฝืน ปรับ  500 บาท 


 “ทางข้าม” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทาง โดยทำเครื่องหมายบนเส้นหรือแนวหรือตอกหมุดไว้บนทาง และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าข้ามไม่ว่า ในระดับใต้หรือเหนือพื้นดินด้วย


“เขตปลอดภัย” หมายความว่า พื้นที่ในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้ชัดเจนทุกเวลา สำหรับให้คนเดินเท้าที่ข้ามทางหยุดรอหรือให้คนที่ขึ้นหรือลงรถหยดรอก่อนจะข้ามทางต่อไป


มาตรา 21 ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฎในทาง ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท


มาตรา 32 ระบุว่า ในการใช้ทางเดินรถผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้าไม่ว่าจะอยู่ ณ ส่วนใดของทางและต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก คนชรา หรือคนพิการที่กำลังใช้ทาง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการควบคุมรถของตน


มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะสามสิบเมตรก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยกวงเวียน หรือเกาะที่สร้างไว้หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท


มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท


มาตรา 70 ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุดหรือวงเวียนต้องลดความเร็วของรถ


มาตรา 105 คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามที่มีไฟสัญญาณจราจรควบคุมคนเดินเท้า ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฏต่อหน้าดังต่อไปนี้


1. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดงไม่ว่า จะมีรูปหรือข้อความเป็นการห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าหยุดรออยู่บนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย เว้นแต่ทางใด


ที่ไม่มีทางเท้า ให้หยดรอบนไหล่ทางหรือขอบทาง


2. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวไม่ว่า จะมีรูปหรือข้อความเป็นการอนุญาตให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้


3. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทางให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุดรอบนทางเท้า บนเกาะแบ่งทางเดินรถหรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว


มาตรา 106 คนเดินเท้าซึ่งประสงค์จะข้ามทางเดินรถในทางข้ามทางเดินรถในทางข้ามหรือทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณจราจรควบคุมการใช้ทางให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้


1. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีแดงให้รถหยุดทางด้านใดของทางให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถตามที่รถหยุด และต้องข้ามทางเดินรถภายในทางข้าม


2. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเขียวให้รถผ่านทางด้านใดของทาง ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้านนั้น


3. เมื่อมีสัญญาณจราจรไฟสีเลืองอําพันหรือไฟสีเขียวกระพริบทางด้านใดของทาง ให้คนเดินเท้าที่ยังมิได้ข้ามทางเดินรถหยุด รอบนทางเท้าบนเกาะแบ่งทางเดินรถ หรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถอยู่ในทางข้าม ให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว



 "ปฏิรูปกฎหมาย" เมื่อ "ทางม้าลาย" ไม่มีความหมาย 


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เรียกร้องปฏิรูปกฎหมาย เกี่ยวกับทางม้าลาย โดยระบุว่า


...เมื่อ "ทางม้าลาย" ไม่มีความหมาย

คนเลวไม่แยแสกฎหมาย

คนบริสุทธิ์ต้องล้มตายรายแล้วรายเล่า

จะมี "ทางม้าลาย" ไว้ทำไม?...


ถึงเวลาหรือยัง ที่สังคมต้องเคลื่อนไหวควบคู่ไปด้วย หน่วยงานรัฐและเอกชนควรร่วมกันลงโทษทางสังคมต่อผู้กระทำผิดควบคู่ไปกับกฎหมายที่บังคับใช้...เมาแล้วขับ ขับเร็วโดยประมาท ฝ่าฝืนกฎจราจรจนเป็นเหตุให้คนบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต ไม่ควรเก็บไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่างในหน่วยงาน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนก็ตาม 


ด้าน นพ.พงษ์กานต์ พจน์ฐศักดิ์ ยังได้โพสต์ผ่าน ทวิตเตอร์ @PPottasak โดยระบุว่า กว่าจะผลิตหมอตาได้สักคนรู้ไหมว่ายากเย็นแสนเข็ญ ต้องเรียนหมอ 6 ปี ต่อเฉพาะทางจักษุอีก 3 ปี กลับต้องมาจบชีวิตลงด้วยพวกน้ำมือพวกสวะสังคมที่ไม่เคารพกฎหมาย ทั้งที่มันคือผู้รักษากฎหมาย



"หมอกระต่าย" ไม่ใช่รายแรก??


ย้อนกลับที่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557  เกิดเหตุการณ์รถฝ่าไฟแดงพุ่งชน  "นักข่าว" แกรมมี่ ขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต บริเวณหน้าตึกแกรมมี่ย่านอโศก  จนทำให้พนักงานออฟฟิศย่านอโศกต้องยกธงสีแดงขณะข้ามถนน พร้อมวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขตำแหน่งสัญญาณไฟ เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำเกินไป 


5 ธันวาคม 2562  เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนคนข้ามถนน จุดเกิดเหตุทางม้าลาย หน้าตลาดปิ่นทอง ปากซอยเอกชัย 43/1 ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร 


4 กรกฎาคม 2562 เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนเข้ากับนักศึกษาจบใหม่ ขณะกำลังข้ามทางม้าลาย ไปทำงานวันแรก   บริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง ถนนพระราม 9 เป็นเหตุให้ผู้บาดเจ็บขาหักห้าท่อน, แขนหัก และสมองตาย 


14 เมษายน 2564  นักศึกษาสาวข้ามถนนกลับจากร้านสะดวกซื้อ ถูกกระบะพุ่งชนตรงทางม้าลายจนร่างกระเด็นเสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดบริเวณหน้าวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี หมู่ 6 ถนนรังสิต-ปทุมธานี ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 


สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก  ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า   ถ้าขับรถด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. ต้องใช้ระยะทางในการเบรกจนรถหยุดถึง 80 เมตร และหากเบรกไม่ทัน แรงปะทะขณะประสบอุบัติเหตุจะเท่ากับตกตึก 19 ชั้น มีโอกาสทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้  สำหรับความเร็วรถ 60 กม./ชม. มีระยะเบรกจนรถหยุด 34 เมตร แรงปะทะขณะประสบอุบัติเหตุเท่ากับตกตึก 8 ชั้น โดยผู้ประสบอุบัติเหตุอาจได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้







ข่าวที่เกี่ยวข้อง