รีเซต

เดิมพันเปิดประเทศฟื้นท่องเที่ยว เร่งเครื่อง 120 วันต้องพร้อมขั้นสุด

เดิมพันเปิดประเทศฟื้นท่องเที่ยว เร่งเครื่อง 120 วันต้องพร้อมขั้นสุด
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2564 ( 14:23 )
82

สร้างเซอร์ไพรซ์ให้กับคนไทยทั้งประเทศ หลังจากรัฐบาลภายใต้บังเหียน “บิ๊กตู่- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้าเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน ซึ่งเร็วกว่าแผนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้  

คำถามที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า “ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือกับการเปิดประเทศ” และปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีนหล่ะจะแก้ไขอย่างไร ?? ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อสงสัยที่ต้องการคำตอบ เพราะปัจจุบันก็รู้กันอยู่เต็มอกว่า วัคซีนที่ฉีดอยู่ในประเทศเกิดปัญหาขาดแคลน ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน จนในบางช่วงมีการเลื่อนการฉีดออกไปอย่างไม่มีกำหนด
  

แต่นายกรัฐมนตรีก็การันตีว่า ได้มีการลงนามในสัญญาจองหรือสัญญาซื้อวัคซีนไปแล้ว 105.5 ล้านโดส ทำได้เกินเป้าหมายที่ ตั้งไว้สำหรับปีนี้ 100 ล้านโดส  ซึ่งทั้งหมดจะทยอยส่งมอบภายในปีนี้  ขณะเดียวกันยังเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมด้วย โดยภายในเดือนต.ค.นี้ ก่อนที่จะเปิดประเทศ ประชาชนอย่างน้อย 50 ล้านคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก

เมื่อรัฐประกาศเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป  
แต่ TNNONLINE ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กูรูด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับมุมสะท้อนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะออกมาในทิศทางใดนั้น ตามไปส่องกันได้เลย



เริ่มต้นที่ "นายเชาว์ เก่งชน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงไตรมาส 4 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว หากจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ต้องมีความพร้อมในเรื่องการฉีดวัคซีนภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่ก.ค.-ก.ย. ต้องได้อย่างน้อย 70% หรือประมาณ 3 แสนโดสต่อวัน โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวและกรุงเทพฯ ถึงจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อถือ
 
หลังจากนั้นผู้ประกอบการจะได้มีเวลาในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ข่าวสารและทำตลาดล่วงหน้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวสบายใจในการเดินทางมีเวลาจองห้องพัก และจองตั๋วเครื่องบินเดินทางมาเที่ยวไทย แต่ถ้าหากมองว่าไม่ทันระยะเวลาที่กำหนดก็ต้องเปิดประเทศเฉพาะบางเมืองก่อนไม่ต้องเปิดทั้งหมด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ


ขณะเดียวกันมีความกังวลว่าหากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนน้อย อาจทำให้ต่างชาติเกิดความกลัวไม่กล้าเดินทางเข้ามาในไทย ซึ่งต้องดูสถานการณ์จากนี้ไปอีก 2 เดือนก่อนว่า การฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่
   
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยว จากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินไว้ 2 ล้านคนในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับเหตุการณ์ว่าการแพร่ระบาดโควิดจะทุเลาลงหรือไม่ วัคซีนมีประสิทธิผลมากแค่ไหน ส่วนการที่ท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาในระดับก่อนโควิดได้ อาจต้องใช้เวลา3-4 ปี



สอดรับกับ "ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์" ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) มองว่า การเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด และชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ โดยเฉพาะภูเก็ตแซนบ๊อกซ์ถ้าทำได้ดีจะเป็นโมเดลในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นต่อไป  และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่และบุคคลที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยวจะต้องได้วัคซีนอย่างน้อย 60-70% ซึ่งหากได้ 100%ยิ่งดี เป็นการสร้างความเชื่อมั่นใจให้ท่องเที่ยวและคนในเกาะ

"ไม่อยากให้เกิดปัญหาและวัวหายล้อมคอก ซึ่งการเปิดประเทศเท่ากับยอมรับความเสี่ยง ดังนั้นรัฐต้องสอบถามผู้ประกอบการ คนในพื้นที่มีความกังวลอะไรบ้าง และวิธีปฏิบัติภาครัฐต้องชัดเจนไม่อะลุ่มอล่วย วัคซีนควรพร้อม และเมื่อต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ตแล้วมีมาตรการป้องกันและดูแลอย่างไร"


 

 


ฝั่ง "เกรียงไกร เธียรนุกุล"   รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)  พร้อมสนับสนุนรัฐเปิดประเทศ  เพราะช่วยให้การค้าขายกลับคืนมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนรอคอย  แต่การเปิดประเทศครั้งนี้ซึ่งเร็วกว่าแผนที่วางไว้ 2 เดือนคือเริ่มในเดือนต.ค. จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มในต้นปีหน้า ดังนั้นประชาชน 50 ล้านคนจะต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่ โดยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยคนละ 2 เข็ม ครอบคลุม 70% ของประชากร แต่ถ้าได้เพียง 1 เข็มถือว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้นภาครัฐต้องประกาศมาตรการเสริมเข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวดและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่าให้การ์ดตก


ขณะเดียวกันจากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียฉีดซิโนแวค 2 เข็มพบว่า บุคคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก็ยังติดโควิดและเสียชีวิต หรือที่ประเทศอังกฤษ หลังฉีดวัคซีน 2 เข็มและเปิดให้มีการจัดคอนเสิร์ตมีผู้ติดเชื้อเพิ่มทำให้ต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศ  


ขณะที่อัฟริกาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ซึ่งเป็นวัคซีนภูมิต้านทานสูงก็ยังติดเชื้อ เนื่องจากโควิดกลายพันธ์สายเดลต้าระบาดหนัก ดังนั้นเห็นว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำวัคซีนที่รัฐแจ้งว่า อยู่ระหว่างการจอง 105.5 ล้านโดส และรมว.สาธารณสุขระบุว่ามีการจองเพิ่มอีก 150 ล้านโดสเร่งนำเข้า เพื่อนำมาฉีด 120 วันให้ประชาชน 50 ล้านคน หรือประมาณ 100 ล้านโดสมาฉีดให้กับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงมากกว่าฉีดเข็มเดียวและสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย


"หลายประเทศเป็นตัวอย่างฉีด 2 เข็มยังเอาไม่อยู่เชื้อโควิดกลายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรง  ดังนั้นต้องได้รับฉีดวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันมากกว่านี้หรือเปลี่ยน วัสดุให้ทนกับลูกกระสุนเพิ่มลดความเสี่ยงเปิดประเทศ เพราะถ้าคุมไม่อยู่ล็อกดาวน์รอบ 4 เศรษฐกิจแย่และ ต้องพึ่งพรก.เงินกู้อาจทำให้ไทยเป็นหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมากกว่า 60% หนี้ครัวเรือนเพิ่มกว่า 90% "




ฝั่ง "นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี"  นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)มองว่า การประกาศของนายกรัฐมนตรีเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกคนในประเทศรับรู้ถึงจุดมุ่งหมาย ดังนั้นการจัดหาวัคซีนมีความท้าทาย และต้องเร่งการกระจายวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยวก่อน หรือรับนักท่องเที่ยวในประเทศก่อน เพื่อให้เข้าตามมาตรฐานSHA Plus ในการสร้างจุดขายในการเปิดรับนักทอ่งเที่ยวต่างชาติ เพราะหากท่องเที่ยวฟื้นกลับมาเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเนื่องจากท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน  20% ของจีดีพี  ซึ่งต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ภาครัฐต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย เช่น ต้องกักตัวกี่วันเดินทางไปไหนได้บ้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และในปัจจุบันมีหลายสายการบินที่ต้องรับเปิดเส้นทางบินไปจังหวัดภูเก็ต

ขณะเดียวกันอยากให้รัฐ ช่วยพยุงการจ้างงานไม่ให้ธุรกิจเลิกจ้างไม่มากกว่านี้  ด้วยการเร่งจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยววงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อรีสตาร์ทธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ด้วยการให้บุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันไขว้กันได้


ส่วนการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ปัจจุบันใช้ซอฟท์โลนวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปีสำหรับ 6 เดือนแรกรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือให้ บยส. จากเดิมที่ค้ำสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ขยายการค้ำประกันในธุรกิจรายใหญ่ด้วยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนเตรียมพร้อมจ้างงาน และบริหารจัดการก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

เสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการเปิดประเทศเพื่อเร่งฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การจะให้พลิกฟื้นกลับขึ้นมาในเร็ววัน คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะความเชื่อมั่น มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องประสานแรงร่วมใจกัน เดินตามแนวทางและกฏกติกาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
   
การเปิดประเทศครั้งนี้ ถือว่าเป็นการโชว์ศักยภาพของประเทศ และเป็นเหมือนการเดิมพันครั้งสำคัญ ว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมานับหนึ่งได้อย่างจริงจังหรือไม่ หากไม่พร้อม ผลีผลาม และเกิดสถานการณ์ไม่พึงประสงค์จนเอาไม่อยู่ขึ้นมา นอกจากจะไม่ได้อะไรแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งใหม่ อาจเกินกว่าจะเยียวยาไหวก็เป็นได้...!


  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง