จับกระแสลงทุนหุ้นเทค อานิสงส์ดีมานด์ชิปพุ่งช่วง WFH
การระบาดของโควิด 19 ทำให้เทคโนโลยีมีความสำคัญมากขึ้น เพราะชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปแม้ในสภาวะที่มีการล็อคดาวน์ (lock down) และ การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ผู้คนเปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็น work from home นักเรียนนักศึกษาก็ต้องเรียน online ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อใช้ในการทำงาน การประชุมสัมมนา การศึกษา รวมถึงกิจกรรมความบันเทิงต่างๆ อย่าง การช้อปปิ้ง หรือการเล่นเกมออนไลน์
ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมผู้ผลิต ‘ชิป’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการประมวลผล การเก็บข้อมูลหรือการส่งออกข้อมูลที่ถือเป็นหัวใจสำคัญหรือมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุดแห่งยุค
หลายคนคงทราบว่า TSMC เป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่ผลิตชิปให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบครึ่งโลก เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ทันสมัยและล้ำหน้าที่สุด แต่เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั้น ต้องยกให้กับผู้พัฒนาและผู้ให้กำเนิดเทคโนโลยีการผลิตชิปด้วยคลื่นลำแสง Extreme Ultraviolet หรือ EUV
ซึ่งทำให้สามารถผลิตชิปที่มีขนาดเล็กที่สุดอย่าง ASML ซึ่งก่อนที่ ASML จะสามารถสร้างเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ล้ำสมัยที่สุด จนขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตชิปและยังเป็นผู้นำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามาย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในปี 1984
● ในปี 1984 บริษัท Phillips ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับแสงและเครื่องมือทางการแพทย์ ร่วมมือกับผู้ผลิตชิปสัญชาติเนเธอร์แลนด์ อย่าง ASM International ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท ASML โดยเน้นทำธุรกิจด้านการสร้างและพัฒนาเครื่องพิมพ์ลายลงบนแผ่นซิลิคอนเวเฟอร์ที่เรียกว่า Lithography หรือเครื่องผลิตชิป
● การเติบทางธุรกิจในช่วงแรกนั้นยังไม่สามารถครองตลาดได้ เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดย Nikon และ Canon ที่มีเทคโนโลยีเครื่องผลิตชิปที่ล้ำหน้ากว่า โดยได้ส่วนแบ่งตลาดของเครื่องผลิตชิปทั่วโลกรวมกันมากถึง 80%
● การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ ASML เกิดขึ้นเมื่อบริษัทใช้เวลาพัฒนามากกว่า 20 ปี ในการคิดค้นเครื่องผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีคลื่นลำแสง Extreme Ultraviolet หรือ EUV นวัตกรรมใหม่ที่จะทำให้เครื่องผลิตชิปนั้นสามารถสร้างชิปขนาดเล็กที่สุดและประหยัดพลังงานมากที่สุดได้
● ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ในปัจจุบัน ASML ครองส่วนแบ่งตลาดของเครื่องผลิตชิปทั่วโลกได้มากถึง 90% นอกจากนี้ยังไม่พบข้อมูลว่ามีบริษัทใดที่สามารถสร้างเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าหรือใกล้เคียงกับบริษัท ASML ได้เลย
ความโดดเด่นของเทคโนโลยีการผลิตชิปที่ ASML เป็นเจ้าของเพียงผู้เดียวบนโลกนั้น คือ EUV ซึ่งมีลักษณะเป็นคลื่นที่มีความยาวน้อยกว่าคลื่นที่ใช้ในเครื่องผลิตชิปทั่วไปอย่างของ Nikon และ Canon ถึง 14 เท่า อาจถือได้ว่าคลื่น EUV เป็นคลื่นลำแสงที่สั้นที่สุดในอุตสาหกรรมเครื่องผลิตชิปก็ว่าได้ ความยาวของคลื่นที่สั้นนั้น ทำให้กระบวนการวาดลวดลายลงบนชิปมีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น ทำให้เทคโนโลยี EUV จึงสามารถสร้างชิปที่มีขนาดเล็กที่สุดและประหยัดพลังงานมากที่สุดได้นั่นเอง
แม้ในปัจจุบัน ASML จะเป็นผู้ครองตลาดเครื่องผลิตชิปอยู่ แต่ก็ยังไม่หยุดการพัฒนา โดยข้อมูลล่าสุดกล่าวว่า ASML กำลังพัฒนาเครื่องผลิตชิปชนิดใหม่มีชื่อเรียกว่า High Numerical Aperture Extreme Ultraviolet หรือ High-NA EUV ซึ่งจะสามารถผลิตชิปที่เล็กลงกว่า EUV ได้ถึง 1.7 เท่า และคาดว่าจะเปิดตัวภายในปีหน้า รวมถึงใช้เวลาอีกประมาณสองปีในการวางขาย ซึ่งสิ่งนี้อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากกว่าเดิม
ส่วนปัญหาการขาดแคลนชิปที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงการที่บริษัท TSMC Samsung และ Intel ต้องการครองตำแหน่งผู้ผลิตชิปที่ล้ำหน้ามากที่สุดในโลก
● ส่งผลต่อความต้องการเครื่องผลิตชิปของ ASML เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการปรับขึ้นของราคาเครื่องผลิตชิปชนิด EUV โดยปกติราคาเครื่องละ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี และคาดว่าราคาเครื่องผลิตชิปชนิด High-NA EUV จะมีราคาสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
● ด้านผลตอบแทนของหุ้น ASML ปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 371% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และยังสามารถเอาชนะดัชนี MSCI ภาพรวมของอุตสาหกรรมชิปที่ปรับขึ้นมา 217% นอกจากนี้ ASML ยังให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าดัชนีภาพรวมหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่าง NASDAQ ที่ปรับขึ้นเพียง 113% เท่านั้นและนี่ก็คือเส้นทางโดยสรุปที่ทำให้ ASML ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทแนวหน้าที่มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมเครื่องผลิตชิปและยังเป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและล้ำสมัยที่สุดเพียงหนึ่งเดียว
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในอุตสาหกรรมบ้านเราเองอาจจะยังไม่มีทางเลือกสำหรับการลงทุนในบริษัทเหล่านี้โดยตรง แต่นักลงทุนที่สนใจสามารถเลือกลงทุนหุ้นเทคโนโลยีอย่าง ASML ผ่านการลงทุนผ่านกองทุนรวมอย่าง กองทุน K-CHANGE และ K-EUROPE ที่บริหารจัดการโดย บลจ.กสิกรไทยจึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับการลงทุนในครั้งนี้ได้เช่นกัน
ที่มา นที ดำรงกิจการ Executive Director, Head of Financial Advisory Private Banking Group, ธนาคารกสิกรไทย
ภาพประกอบ พิกซาเบย์