รีเซต

จับตาเยียวยาเกษตรกรซ้ำรอยดราม่า5,000บาท

จับตาเยียวยาเกษตรกรซ้ำรอยดราม่า5,000บาท
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2563 ( 14:02 )
477
2
จับตาเยียวยาเกษตรกรซ้ำรอยดราม่า5,000บาท

 

หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว    ล่าสุดก็การออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19  และยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย  โดยเป็นโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว  ซึ่งผ่านการอนุมัติของครม.ไปเมื่อวันที่  28 เม.ย.ที่ผ่านมา  โดยจะมีกาจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย  

 

 

เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับเงินแน่นอนส่วนอีกกลุ่มเป็นเกษตรกรเป้าหมายกลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน อาจจะเป็นกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรใหม่ หรือเพิ่งขึ้นทะเบียนปีนี้ต้องมีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่ามีการเพาะปลูกจริงหรือไม่ ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1.57 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการจะใช้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท 

 

สำหรับขั้นตอนการรับเงินเยียวยาระหว่างนี้ขอให้เกษตรกรที่มีข้อมูลอยู่แล้วไปตรวจสอบสถานะการเป็นเกษตรกรได้ที่เว็บไซต์  farmer.doae.go.th กรมส่งเสริมการเกษตรหรือสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลในการรับสิทธิ ผ่านเว็บไซต์ได้จนถึงวันที่  15 พ.ค. นี้ โดยใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ในการตรวจสอบถ้าผลการค้นหาแสดงเป็น "ปรับปรุงล่าสุด ปี 2562 หรือ 2563"  เกษตรกรไม่มีความจำเป็นต้องไปที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือเข้าแอป farmbook เพื่อปรับปรุงข้อมูลใดๆ แล้ว เพราะข้อมูลได้ปรับปรุง "ล่าสุดแล้ว" ให้ทุกคน โดยให้ ตรวจสอบ "บัญชีธนาคาร ธ.ก.ส." ว่า บัญชี ธ.ก.ส. ที่ถืออยู่ ชื่อ-สกุล ตรงกับชื่อหัวหน้าครัวเรือนหรือไม่ ถ้าไม่ตรง ต้องเปิดบัญชีที่ตรงกัน "เท่านั้น" 

 

ถ้าผลการค้นหาแสดงเป็น "ปรับปรุงล่าสุด ปี 2561 หรือ น้อยกว่านี้"ให้รีบไปติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ท่านขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน "ไม่สามารถปรับปรุง" ผ่านแอป farmbook ได้ เพราะแอปฯ ดึงได้แค่กิจกรรมปี 2562 เท่านั้น

 

หลังจากจากนั้นกระทรวงเกษตรจะส่งรายชื่อผู้ได้รับสิทธิไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินหรือโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงให้เกษตรกร เพราะส่วนใหญ่น่าจะเป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้ว โดยจะมีการตรวจสอบด้วยว่าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการเป็นผู้ได้รับสิทธิจากโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ที่ได้รับ 5,000 บาท  และต้องไม่เป็นข้าราชการบำนาญหรือมีรายชื่อในระบบประกันสังคม จึงจะมีการโอนเงินให้ 

 

 

สำหรับการจ่ายเงินให้เกษตรกรจะเริ่มจ่ายให้วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยเกษตรกรไม่ต้องไปที่ธนาคาร  กลุ่มที่มีบัญชีเงินฝากกับธ.ก.ส.อยู่แล้ว จะโอนข้าบัญชีเดิมคาดว่าจะกระจายการโอนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ประมาณวันละ 1 ล้านราย ซึ่งสามาราถใช้บัตร ATM ของ ธ.ก.ส.ถอนเงินจากตู้ ATM ของทุกธนาคาร หรือใช้โทรศัพท์มือถือที่มีแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile ถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM ที่ตู้ ATM ของ ธ.ก.ส.ได้อีกด้วย

 

ส่วนกลุ่มที่ไม่มีเงินฝากกับธ.ก.ส. แต่มีบัญชีของธนาคารอื่น สามารถลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาโดยไปแจ้งหมายเลขบัญชีผ่านทางเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ซึ่งยังแจ้งได้เรื่อยๆ

 

เชื่อว่าการจ่ายเงินเยียวยาน่าจะมีปัญหาตามมาแน่นอน ทั้งกลุ่มที่ไม่ได้รับเงิน ตกหล่นหรือ มีปัญหาในการตรวจสอบว่ามีการเพาะปลูกจริงหรือไม่  รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิซึ่งจะไม่ได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ แต่ก็ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน  ตรงนี้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลหรือดำนินการป้องกันแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นดราม่าขึ้นมาเหมือนกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท

 

ล่าสุดเกิดประเด็นขึ้นมาสำหรับกลุ่มที่ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบว่าเพาะปลูกจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นกลุ่ม 1.57 ล้านรายที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในปี 2563 และเป็นการลงทะเบียนใหม่ของเกษตรกร ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย 7 หน่วยงานประกอบด้วย  กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานอ้อยและน้ำตาล และการยาสูบแห่งประเทศไทย  ซึ่งระเบียบปฏิบัติในการขึ้นทะเบียน กำหนดไว้ต้องมีพืชอยู่ในที่ดิน 15 วัน จึงจะสามารถลงทะเบียนได้ แต่ขณะนี้ ประสบภัยแล้ง ปริมาณน้ำน้อย ยังไม่มีฝนตก ส่งผลให้ชาวนายังไม่สามารถทำนาได้ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ

 

ดังนั้นล่าสุดทางกระทรวงเกษตรฯ ได้แก้ปัญหากรณีไม่มีพืช หรือยังไม่มีข้าวในนาครบ 15 วัน จะมีการอนุโลมให้ชาวนาไปรีบปลูกข้าว รอเพียงข้าวงอกครบ 15 วันเท่านั้น ครบวันไหน ถือว่าคุณสมบัติครบเป็นเกษตรกรวันนั้น เพื่อให้เอกสาร หลักฐานครบ ตามระเบียบราชการ ซึ่งอาจจะเป็นหลังจากันที่ 15 พฤษภาคมก็ได้ยังให้ก็ถือว่าดำเนินการทันเวลา ตามที่คณะรัฐมนตรี  กำหนด และจะมีสิทธิที่จะได้รับเงินเยียวยาเช่นกัน......

 

มาดูหน่อยมั้ยว่าคุณสมบัติของการเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีอะไรบ้างซึ่งกระทรวงเกษตรฯกำหนดให้  1 ทะเบียนบ้านลงทะเบียน 1 ครัวเรือนและใช้บังคับมาตั้งแต่ เดือน ต.ค.56 เป็นต้นมา เกษตรกรต้องประกอบกิจกรรม ดังนี้

 

 

•ทำนา หรือทำไร่ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันบนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป

•ปลูกผัก หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือเพาะเห็ด หรือปลูกพืชอาหารสัตว์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป

•ปลูกไม้ผลยืนต้น หรือปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจำนวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป

•ปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันบนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่และมีจำนวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป

•เลี้ยงแม่โคนมตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป

•เลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป

•เลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไป

•เลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป

•เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

•ทำนาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป

•ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน

•เพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรกรอื่นๆ ซึ่งหมายถึง เลี้ยงผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรงชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคู ไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์ และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน

 

 

แนวทางที่กระทรวงเกษตรกรผ่อนผันนี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง  แต่ในทางปฎิบัติก็คงต้องดูว่าจะมีปัญหาอื่นๆตามมาอีกหรือไม่   แม้ว่าธ.ก.สงบอกว่าส่วนของเกษตรกรไม่น่าจะมีประเด็นเหมือนกรณีของการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เพราะไม่ต้องลงทะเบียนใหม่  ส่วนใหญ่มีรายชื่ออยู่แล้วก็ตาม แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินเยียว 5,000 บาท   ก่อนหน้านี้เพราะสถานะขึ้นว่าเป็นเกษตรกร   คงต้องดูว่ากลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกรหรือไม่หากไม่ได้รับ ธ.ก.ส.บอกว่าให้ไปทวงถามหรือไปแจ้งที่กระทรวงการคลัง  แต่กระทรวงการคลังก็ปิดรับเรื่องร้องเรียนไปแล้วจะไปแจ้งที่ใครตรงนี้อาจจะเป็นประเด็นปัญหาตามมาให้แก้ไขอีกก็เป็นได้

           

มาดูความคืบหน้าของ“มาตรการเยียวยา 5,000 บาท" ที่รัฐบาลเคาะจ่ายเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19  ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง  ตกงานจากภาวะเศรษฐกิจหรือหยุดงานจากมาตรการของรัฐบาลในการประกาศล็อกดาวน์  โดยการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน รวมต่อคนได้รับเงิน 15,000 บาทนั้น  หลังจากที่ครม.อนุมัติมาตรการวันที่  24 มีนาคม 2563 ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน ตั้งแต่วันที่  28  มีนาคม และปิดลงทะเบียนไปเมื่อวันที่  22 เม.ย.ที่ผ่านมา 

          

ก่อนจะปิดลงทะเบียนก็มีสารพัดปัญหา ดราม่า มีกลุ่มอาชีพนั้นได้เงินกลุ่มนี้ไม่ได้เงิน มีกลุ่มถูกตัดสิทธิทั้งที่คิดว่าตัวเองควรจะได้ มีกลุ่มที่ไม่ได้เดือดร้อนจริงได้รับเงินสารพัดประเด็นดราม่า จนกระทรวงการคลังต้องเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ได้ และบางกลุ่มต้องมีการกรอกข้อมูลเพิ่ม  รวมถึงการขยายกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์ ส่งผลให้จำนวนผู้ได้รับสิทธิในมาตรการนี้เพิ่มมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิมค่อนข้างมาก และนำมาสู่การใช้เงินของภาครัฐที่สูงขึ้นด้วย.....

 

อย่างช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  เราก็จะเห็นข่าวมีประชาชนไม่ได้รับสิทธิจำนวนมากเดินทางไปเรียกร้อง ประท้วงไปจนถึงขั้นขู่ฆ่าตัวตายที่กระทวงการคลัง  ไปจนถึงมีผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิหาทางออกไม่ได้หรือไม่มีเงินตัดสินใจจบชีวิตลง   ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มผ่านหลากหลายมาตรการ  และสุดท้ายได้เปิดตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียน มีคนนับพันต่อวันเดินทางมาร้องเรียนท่ามกลางที่ความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ยังคงอยู่  

 

ทำให้สุดท้ายแล้วกระทรวงการคลังต้องปิดรับเรื่องขอทบทวนสิทธิไปเมื่อวันวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมาแต่ยังรับเรื่องร้องเรียนไปถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้ 

มาดูตัวเลขที่กระทรวงการคลังปิดยอดการลงทะเบียนและมีการคัดกรองข้อมูลแล้วว่ามีจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์เท่าไหร่และที่ไม่ผ่านเกณฑ์มากน้อยเพียงใด.......

 

 

พบว่าตั้งแต่เปิดจนถึงวันปิดลงทะเบียนมีจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น  28.8  ล้านรายชื่อ แต่พอตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการลงทะเบียนซ้ำ  4.8  ล้านรายชื่อ  และลงทะเบียนไม่ผ่าน 1.7 ล้านรายชื่อ เนื่องจากส่วนใหญ่ข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง  ทำให้เหลือจำนวนผู้ลงทะเบียนครบถ้วนถูกต้อง 22.3 ล้านราย

 

ทีนี้ลองมาดูจำนวนที่ลงทะเบียนถูกต้องพอตรวจสอบคัดกรองแล้วปรากฎว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์ทีได้รับเงินกลุ่มแรก จำนวน 4.4 ล้านราย มีกลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ 10.4 ล้านราย  และขอยกเลิกการลงทะเบียนอีก 1 ล้านราย แต่มีกลุ่มหนึ่งที่ภาครัฐขอข้อมูลเพิ่มเพราะอาจจะมีข้อมูลเพื่อตรวจสอบยืนยันตัวตนและอาชีพที่ไม่ชัดเจนอีกประมาณ 6.5  ล้านคน

 

ตรวจสอบไปตรวจสอบมาปรากฏว่ากลุ่มนี้มีผู้ผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นมาอีก 5.1 ล้านคน  ส่วนกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ รัฐบาลก็ไม่ได้ตัดสิทธิซะทีเดียว  เพราะกระทรวงการคลังยังเปิดโอกาสให้ยื่นขอทบทวนสิทธิได้  โดยจากจำนวนไม่ผ่านเกณฑ์ 10.4 ล้านคนขอทบทวนสิทธิ 5.6 ล้านคน  และมีผู้ผ่านเกณฑ์เพิ่มอีก 3.8 ล้านคน ทำให้ล่าสุดขณะนี้มีจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000  บาท แล้วรวมทั้งสิ้น 13.9 ล้านคน และยังอยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิจากกลุ่มที่กรอกข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติมและกลุ่มขอทบทวนสิทธิ ซึ่ง หากตรวจสอบเสร็จกระทรวงการคลังประเมินตัวเลขไว้ว่าจะมีกลุ่มได้รับเงินเยียวประมาณ 16 ล้านคนในโครงการนี้  

 

ดังนั้นจะทำให้มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่ได้รับเงินเยียวยาตามมาตรการนี้ประมาณ 6.3 ล้านคน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเจ้าของกิจการหรืออยู่ในระบบประกันสังคมที่มีการลงทะเบียนเข้ามา โดยกลุ่มนี้จะมีการช่วยเหลือผ่านช่องทางอื่นๆอยู่แล้ว

 

 

อย่างไรก็ตามจำนวน 16 ล้านคนถือว่ามากกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งตอนแรกที่ประกาศจะมีมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จะให้สิทธิผู้มีอาชีพอิสะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ประมาณ 3 ล้านคน แต่พอผลกระทบขยายวงกว้างก็เพิ่มจำนวนเป็น 9 ล้านคนเพื่อให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทุกกลุ่มทำให้นำนวนผู้ลงทะเบียนพุ่งไม่หยุด จนกระทั่งสุดท้ายรัฐบาลต้องประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลงทะเบียนและผ่านเกณฑ์ทุกราย  

 

ขณะที่หากดูตัวเลขกำลังแรงงานที่มีงานทำในประเทศไทยจะมีจำนวนทั้งสิ้น 39 ล้านคน 

 

 

แบ่งเป็นกลุ่ม พนักงานรายได้ประจำอยู่ในประกันสังคมมาตรการ 33  มีจำนวน 11 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของสำนักงานประกันสังคม   กลุ่มถัดมาผู้มีอาชีพอิสระที่เป็นกลุ่มหลักในการเยียวยาครั้งนี้มีประมาณ 8 ล้านคน  กลุ่มถัดมาเกษตรกร มีประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งก็มีมาตรการช่วยเหลือแยกออกไปต่างหากและกลุ่มสุดท้ายข้าราชการ ที่ยังได้รับเงินเดือนหรือบำนาญเต็มจำนวนตามปกติที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือ มีประมาณ 2 ล้านคน

 

โดยจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ล้านคนนั้นกระทรวงการคลังโอนเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว 11 ล้านคน   ส่วนที่เหลือ 2.8 ล้านคนจะเร่งดำเนินการโอนเงินแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อสรุปยอดให้แล้วเสร็จและถือว่าสิ้นสุดโครงการในวันที่ 17 พ.ค.63  โดยผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมดจะรู้ว่าตนได้รับสิทธิ หรือไม่ได้รับสิทธิ  ใครที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองของกระทรวงการคลังจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลแน่นอน   

 

ซึ่งกระทรวการคลังยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดลงทะเบียนรอบสองแต่คงต้องดูว่าจะมีกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินเรียกร้องให้ทบทวนมาตรการใหม่หรือไม่.....ดูแล้วคงไม่จบลงง่ายๆ

 

 

ทีนี้ลองมาดูว่ากลุ่มอาชีพไหนที่ยื่นขอรับเงินเยียวยามากที่สุด จากข้อมูลของกระทรวงการคลังที่นำมาจากเว็บไซด์เราไม่ทิ้งกัน  พบว่ากลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไปมีจำนวน  11.7  ล้านคน  อาชีพค้าขาย 6.3 ล้านคน  ค้าขายออนไลน์ 2.1 ล้านคน  มีนายจ้าง 1.9 ล้านคน  ขับรถรับจ้าง  3 แสนคน  ขายลอตเตอรี่ 2 แสนคน  มัคคุเทศก์  3 หมื่นคน  อาชีพอิสระอื่นๆ  1.7  ล้านคน 

 

แน่นอนว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้กว้างมากเพราะจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะต้องเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ แต่ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 (ส่วนผู้ที่อยู่ในมาตรา 39 และ 40 สามารถลงทะเบียนได้) และต้องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  กลุ่มที่ได้รับเงินกลุ่มแรกที่ตรวจสอบข่อมูลง่าย จะเป็นกลุ่มผู้ค้าลอตเตอรี่  มัคคุเทศก์  ขับรถรับจ้าง วินมอเตอร์ไซด์  ขับแท็กซี่  ส่วนกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ค้าขายจะได้รับเงินเป็นกลุ่มที่  2 ยกเว้นค้าขายออนน์จะไม่ได้รับสิทธิเพราะถือว่าช่วงโควิด-19ยังค้าขายได้ตามปกติ และอาจจะขายดีขึ้นด้วยซ้ำเพราะห้างร้านปิด  ส่วนกลุ่มที่ขยายเพิ่มเติมมีนักเรียน กศน. ที่ทำงานไปด้วย กลุ่มไกด์นำเที่ยวที่เป็นนักศึกษา รวมไปถึงกลุ่มอาชีพตกหล่นอย่าง อาชีพเครือข่ายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น  ลิเก ลำตัด  นักกีฬา นักมวย นัดดนตรี ดารานักแสดงได้หมด 

 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิจะเป็น กลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะยังไม่อยู่ในวัยทำงานไม่ใช่แรงงาน  คนที่ว่างงานอยู่แล้ว หรือแม่บ้าน เพราะไม่ใช่กลุ่มแรงงาน ลูกจ้าง หรืออาชีพอิสระที่เดือนร้อนจาก โควิด-19 เช่น ถูกเลิกจ้าง ถูกลดเงินเดือน หรือสถานประกอบการถูกปิด กลุ่มผู้รับบำนาญ เนื่องจากยังได้รับการดูแลจากรัฐอย่างสม่ำเสมอ  ข้าราชการ เนื่องจากยังมีงานทำ และได้รับเงินเดือนปกติ  ผู้ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม คนงานก่อสร้าง เพราะเป็นกลุ่มอาชีพที่ยังดำเนินต่อไปได้ การก่อสร้างยังไม่ถูกระงับ รวมไปถึง โปรแกรมเมอร์ เนื่องจากอาชีพนี้ยังมีความยืดหยุ่นในการทำงานที่ใดก็ได้ ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด   เจ้าของกิจการที่ไม่เข้าข่ายเพราะมีมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นไปแล้ว 

 

ส่วนของการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนพบว่ามี 2 กลุ่มหลัก ที่มาร้องเรียน คือกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง กระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งมีประมาณ 1.7 ล้านคน   อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับสิทธิ แต่ชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อและนามสกุลที่ลงทะเบียนไว้ ในกรณีนี้ท่านสามารถแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องได้ (“เปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน” ปุ่มสีเหลือง) ซึ่งเมื่อท่านเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิธี/ข้อมูลการรับเงินแล้วจะขึ้นสถานะ “อยู่ระหว่างการตรวจสอบวิธี/ข้อมูลการรับเงินที่ท่านแก้ไข” 

 

ทั้งนี้ การแก้ไขบัญชีสามารถแก้ไขได้1 ครั้ง หากยังไม่เรียบร้อย ขอแนะนำให้ไปผูกบัญชีพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชนจะสะดวกที่สุด โดยไม่ต้องดำาเนินการอะไรเพิ่มเติมอีก กระทรวงการคลังจะมีการตรวจสอบและโอนเงินให้ทุกสัปดาห์ในวันอังคาร  กลุ่มนี้ก็รอรับเงินได้เลย

 

จากจำนวนที่ประเมินว่าปิดโครงการจะมีประชาชนได้รับเงินเยียวยาประมาณ 16 ล้านคน 

 

 

ลองมาคำนวณเป็นเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการ จะอยู่ที่ประมาณ  240,000 ล้านบาท  คิดจากการจ่ายเงิน 3 เดือนรวม 15,000 บาทต่อคน  ซึ่งกระทรวงการคลังยืนยันว่ามีเงินเพียงพอ ส่นหนึ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณที่นำมาจากงบกลาง  45,000 ล้านบาทส่วนที่เหลือใช้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยกู้เงินในช่วงต้นเดือน พ.ค.63  นี้ เพราะจะต้องจ่ายเงินต่อเนื่องไปอีก 2 เดือนจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

 

รายการ Business watch จับกระแสธุรกิจ พบกันเวลา 21.00-21.30 น ทุกวันจันทร์-ศุกร์ และวันอาทิตย์ เวลา 21.00-22.00 น ทาง TNN ช่อง 16

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง