รีเซต

TTB เดินเกมปล่อยกู้รายย่อย เน้นสินค้าผลตอบแทนสูง

TTB เดินเกมปล่อยกู้รายย่อย  เน้นสินค้าผลตอบแทนสูง
ทันหุ้น
10 สิงหาคม 2565 ( 12:55 )
142
TTB เดินเกมปล่อยกู้รายย่อย  เน้นสินค้าผลตอบแทนสูง

TTB มองครึ่งหลังปี 65 แนวโน้มสินเชื่อรายย่อยยังขยายตัวดีต่อเนื่อง พร้อมกางแผนรุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่สูง มั่นใจปล่อยกู้ปี 65 เข้าเป้าโต 2% จากครึ่งแรกปีทำได้ 1.6% ย้ำยังคุม NPL ต่ำระดับ 3.2% จากครึ่งปีแรกเพียง 2.63%

 

นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร และ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี สปาร์ค ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 กลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักอย่างสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ยังคงมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

 

NPLยังต่ำ

นายนริศ  มองว่า ttb consumer จะเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ในการขยายฐานสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต โดยในช่วงครึ่งปีหลังทางธนาคารจะมุ่งเน้นขยายไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่สูง เช่น สินเชื่อรถยนต์มือ 2, สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ตลอดจนสินเชื่อส่วนบุคคล ให้มากขึ้น หลังจากที่เห็นการเติบโตและการฟื้นตัวไปแล้วในครึ่งปีแรก

 

ทั้งนี้ ทางธนาคารยังคงมั่นใจว่าแนวโน้มสินเชื่อในปี 2565 นี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ไม่น้อยกว่า 2%หลังจากที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารขยายสินเชื่อไปได้แล้วกว่า 1.6%โดยแรงขับเคลื่อนยังคงมาจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย แต่สินเชื่อบรรษัทลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ลดลง ส่วนใหญ่มาจากการชำระคืนของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายย่อย หรือ เอสเอ็มอี (SMEs) เพิ่มขึ้นจากการปรับกลุ่มลูกค้าใหม่

 

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในครึ่ง 6 เดือนหลังปี 2565 เชื่อว่าจะปรับตัวดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยปัจจุบัน NPL อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 2.63%จากเป้าหมายทั้งปีนี้จะคุมระดับให้อยู่ที่ไม่เกิน 3.2%หลังคุณภาพลูกหนี้ดีขึ้นโดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 พอร์ตสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้าง (modified portfolio) อยู่ที่เฉลี่ยราว 12%ของสินเชื่อรวม โดยลดลงเล็กน้อยจาก 13% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 และ 16% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

 

ในขณะที่การตั้งสำรองในช่วงที่เหลือของปี 2565 ทางธนาคารยังคงต้องให้ความระมัดระวังต่อคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ได้อยู่ในระดับที่แย่ และแม้ว่าลูกค้าออกจากมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว ก็สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด สะท้อนได้จาก NPL ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับระบบ

 

ยิ้มดอกเบี้ยขึ้น

ด้านต้นทุนเครดิต (Credit cost) ปี 2565 นี้นั้น คาดจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 140-160 bps ปัจจุบันธนาคารยังคงเป้าหมายไว้ดังเดิม แม้ว่าในตอนนี้ Credit cost จะอยู่ที่ระดับประมาณ 135 bps แล้ว สำหรับประเด็นหากทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันพรุ่งนี้ คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ และมองว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในระบบจะได้รับประโยชน์ดังกล่าว โดยเฉพาะส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อธนาคารประมาณ 30%เป็นสินเชื่อที่ดอกเบี้ยคงที่โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งอายุการผ่อนชำระเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ปี

 

"TTB ยังคงมีความมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีพันธกิจในการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น (Financial Well-being) ให้กับคนไทยทั้งวันนี้ และอนาคต ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มลูกค้าบุคคลอย่างแท้จริง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีมากจากลูกค้าของธนาคารที่มีอยู่เกือบ 10ล้านราย"นายนริศ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง