รีเซต

มัดที่ 1 เริ่ม ! "มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก" ฮุกซ้ายใส่ "อีลอน มัสก์" ปล่อย Threads ชน Twitter

มัดที่ 1 เริ่ม !  "มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก" ฮุกซ้ายใส่ "อีลอน มัสก์" ปล่อย Threads ชน Twitter
TNN ช่อง16
6 กรกฎาคม 2566 ( 14:42 )
115

การแข่งขันระหว่าง 2 มหาเศรษฐีอันดับโลก อีลอน มัสก์ เจ้าของแอปฯ นกฟ้า ทวิตเตอร์ (Twitter) และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารบริษัท เมตา (Meta) เจ้าของเฟซบุ๊กและอินสตาสแกรม ทำให้สถานการณ์ในโลกออนไลน์ตอนนี้ร้อนระอุไม่ต่างจากกองเพลิงที่อยู่ในทะเลทราย ทั้งนี้ก็มาจากการแข่งขันทางธุรกิจ การปะทะกันบนโซเชียลมีเดีย จนทำให้สงครามน้ำลายกลายเป็นเรื่องท้าต่อยมวยกรงกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั้ง 2 บริษัทที่ไม่สู้ดีนัก จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขาลง การปลดพนักงานจำนวนมากออกจากบริษัท ไปจนถึงการออกนโยบายที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้งาน


ล่าสุด หลังจากการท้าต่อยกัน ซักเคอร์เบิร์กได้ปล่อยมัดแรกใส่อีลอนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ใช่การดวลกันซึ่ง ๆ หน้า แต่เป็นการเปิดตัวโซเชียลเน็ตเวิร์กใหม่ล่าสุดเธรดส์ (Threads) ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของทวิตเตอร์ (Twitter) ที่อีลอน มัสก์ เพิ่งจะเข้าซื้อกิจการไปได้สำเร็จในช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา 


ที่บอกว่าคู่แข่งโดยตรงก็เพราะว่า หน้าตาและวิธีใช้งานช่างละม้ายคล้ายกับแอปนกฟ้าซะเหลือเกิน และดูเหมือนว่าเธรดส์ (Threads) จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวซะด้วย เพราะได้ใช้ฐานผู้ใช้งานเดียวกับอินสตาแกรม (Instagram) ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลก แถมได้รับเสียงตอบรับดีซะด้วย เพราะภายหลังจากการเปิดให้ดาวน์โหลดทั้งใน iOS และแอนดรอยด์ มียอดผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคนภายใน 7 ชั่วโมงเท่านั้น 


นอกจากนี้ Threads ยังเปิดตัวในช่วงเวลาที่ใช่มาก ๆ อีกด้วย เพราะสถานการณ์ของทวิตเตอร์ตอนนี้ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ รายได้ลดจากการที่บริษัทหลายเจ้าหยุดโฆษณา แถมยังจำกัดการอ่านโพสต์ของผู้ใช้ไม่เกินวันละ 600 โพสต์ ยิ่งเป็นการเปิดช่องให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กปล่อยหมัดเข้าอย่างจัง 


อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากทางอีลอน มัสก์ ซึ่งเขาเองก็ไม่ใช่คนที่เพิกเฉยต่อเทรนด์สักเท่าไหร่ แถมยังขยันตอบด้วย ก็ต้องรอดูกันตอบไปว่าท่าทีของเจ้าพ่อเทคโนโลยีคนนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งทางโลกออนไลน์บางส่วน ก็อยากเห็นและลุ้นเหมือนว่าอีลอนจะเปิดบัญชีในแพลตฟอร์มใหม่อย่างเธรดส์ด้วยหรือไม่ 


แนวคิดเปลี่ยนแปลงโลกที่คล้ายกัน


การเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกันโดยใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเป็นหนึ่งในความฝันสำคัญของอีลอน มัสก์ ที่เขาอยากทำให้สำเร็จซึ่งเป็นที่มาของโครงการ Starlink ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ในหลายประเทศและมีเครือข่ายดาวเทียมหลายพันดวงอยู่บนวงโคจรของโลก รวมไปถึงการเข้าซื้อกิจการโซเชียลเน็ตเวิร์กบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งอีลอน มัสก์ อธิบายเอาไว้ว่าเขาต้องการสร้างโลกที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก


ในขณะที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็มีความฝันคล้าย ๆ กัน ผ่านโครงการ Internet.org ในช่วงปี 2016 ซึ่งมีลักษณะเป็นบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมชื่อว่า Amos 6 อย่างไรก็ตามในระหว่างการปล่อยจรวด Falcon 9 พร้อมดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ จรวดได้ระเบิดอย่างรุนแรงบริเวณฐานปล่อยจรวด ความฝันของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กพังทลายลงไปต่อหน้าต่อตา โดยมีการประเมินว่าความเสียหายของโครงการอาจมากถึง 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยของจุดชนวนความขัดแย้งระหว่าง 2 คนก็เป็นได้ 


ความเห็นไม่ลงรอยกันในอดีตเรื่องหุ่นยนต์ AI สังหาร


ในช่วงปี 2017 เหมือนการมองหน้าและปล่อยหมัดแย็บเบา ๆ ระหว่างอีลอน มัสก์และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปะทะคารมกันอย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์โซเชียลเน็ตเวิร์กในประเด็นเรื่องหุ่นยนต์ในอนาคตจะเป็นอันตรายต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์หรือไม่ ? โดยทางอีลอน มัสก์ มองว่าในอนาคตปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความเฉลียวฉลาดจนน่ากลัวและเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ  และยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐออกกฎหมายที่ควบคุม AI อย่างชัดเจน ในขณะที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวและกล่าวหาอีลอน มัสก์ว่ากำลังสร้างภาพวันสิ้นโลก ซึ่งอาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เกิดความล่าช้า


สงครามโซเชียลเน็ตเวิร์กเริ่มขึ้นแล้ว ?  


หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ไม่ได้ลดลาวาศอก สาดสงครามน้ำลายใส่กันหลายครั้งนับไม่ถ้วน ทั้งข้อความและรูปภาพ ซึ่งนำมาสู่การท้าต่อยกัน 


สถานการณ์ตอนนี้ มวยกรงแมตช์หยุดโลกที่ลาสเวกัสยังไม่ถูกกำหนดวันออกมาเป็นที่แน่นอน ซึ่งไม่สามารถตอบได้เลยว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ นับจากนี้ สงครามระหว่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้เริ่มขึ้นอีกครั้งแล้ว


ที่มาของข้อมูล CNBC, TMZ, The Sun

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง