ไขปัญหาโลกแตก เงินซื้อความสุขได้ vs เงินซื้อความสุขไม่ได้

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ไข้ข้อสงสัยโดยเปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับข้อถกเถียงที่ว่า เงินซื้อความสุขได้ vs เงินซื้อความสุขไม่ได้ โดยระบุว่า
ใครเคยได้ยินสองประโยคนี้บ้าง หรือใครเคยเถียงกันไหม ว่าตกลงอันไหนถูกกันแน่ ?
- ฝ่ายหนึ่งก็คงบอกว่าไม่มีเงินจะมีความสุขได้ยังไง ดูหนัง กินข้าวใช้เงินทั้งนั้น
- อีกฝ่ายก็บอกเงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง และความสุขก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
วันนี้เราลองมาหาคำตอบกันจากงานวิจัยกัน
การศึกษาชื่อดังอันแรกที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2010 โดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Angus Deaton และนักจิตวิทยาชื่อ Danial Kahneman* (ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002) ได้ทำการศึกษาเรื่องเงินกับความสุขในชีวิต โดยทำการศึกษาในคนจำนวนกว่าสี่แสนคนในประเทศอเมริการะหว่างปี 2008-2009
(* บทความชื่อ “High income improves evaluation of life but not emotional well-being” ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS)
โดยการศึกษานี้ได้ประเมินความสุขในชีวิตคนเราออกเป็นสองแบบคือ
1. Emotional well-being หรือ ความสุขทางด้านอารมณ์
หมายถึง อารมณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจริง ๆ เช่น ความรู้สึกมีความสุข สนุก เครียด หรือเศร้า ซึ่งในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยทำการวัดโดยการใช้แบบสอบถามประเมินถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อวาน (วันก่อนทำแบบสอบถาม)
2. Life evaluation หรือ การประเมินชีวิตตัวเอง
หมายถึงความคิดที่คนๆ หนึ่งมีต่อชีวิตตัวเองโดยรวม ว่าพอใจหรือไม่พอใจ โดยใช้แบบประเมินที่ชื่อ Cantril’s Self Anchoring Scale ซึ่งมีคะแนนอยู่ระหว่าง 0-10 คะแนน คะแนน 0 แปลว่า ผู้ตอบมองว่าชีวิตตัวเองมันช่างแย่มาก ไม่มีอะไรดี ส่วน 10 คะแนนเต็มแปลว่าผู้ตอบมองว่าชีวิตตัวเองนั้นดีมากที่สุดแล้วเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยผลการศึกษาพบว่าคะแนนการประเมินชีวิตตัวเอง (Life evaluation) เพิ่มขึ้นตามระดับของรายได้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งแปลว่า คนเรายิ่งมีรายได้มากเท่าไหร่ ก็คิดว่าชีวิตดีมากขึ้นเท่านั้น ตตตตต แต่ ... แต่ ...
แต่พอเป็นเรื่องของความสุขทางด้านอารมณ์ (Emotional well-being) กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ผลการศึกษาพบว่าในช่วงแรกที่รายได้ยังไม่มาก เปอร์เซ็นต์ของคนที่อารมณ์ดีมีความสุขจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่มากขึ้น
แต่เมื่อพอถึงจุด ๆ หนึ่ง (ที่รายได้ประมาณ 75,000$ ต่อปี) กลับพบว่ารายได้ที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้เปอร์เซ็นต์คนที่อารมณ์ดีมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกต่อไป (ในรูปครับ)
ซึ่งการศึกษาลักษณะนี้ส่วน่ใหญ่ก็จะได้ผลคล้ายๆ แบบนี้เกือบหมดแหละครับ
อย่างการศึกษาในประเทศออสเตรเลียบ้างซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ค่อนมาใกล้ทางบ้านเรามากขึ้น ก็พบว่าในผู้ที่มีรายได้น้อยนั้นเงินช่วยให้คนมีความสุขได้ โดยผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000$ ต่อปี การมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเพียง 6,000$ สามารถทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก
แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อรายได้มากกว่า 100,000$ ต่อปี กลับพบว่าเงินแทบจะไม่เพิ่มความสุขอีกต่อไป หรือถ้าเพิ่มก็ต้องใช้เงินจำนวนมากมายเพียงเพื่อจะเพิ่มความสุขได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การศึกษานี้ยังบอกอีกว่าระดับรายได้จะที่ทำให้คนมีความสุขคือมากกว่า 31,000$ ต่อปี (หรือหากคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 80,000 บาทต่อเดือน)
สรุปคือถูกทั้งสองประโยคครับ คือเงินซื้อความสุขได้ และเงินก็ซื้อความสุขไม่ได้ กล่าวคือ
1) เงินทำให้คนคิดไปเองว่าชีวิตตัวเองดี (แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่ก็ได้)
2) หากขาดเงิน/เงินไม่พอใช้/จน เงินจะซื้อความสุขได้ และการไม่มีเงินก็จะไม่มีความสุข (คือถูกครับ เงินน้อยจนเป็นหนี้ ไปเที่ยว ดูหนัง ไม่ได้ กินแบบอดๆ อยากๆ ก็ไม่มีความสุข)
3) แต่เมื่อมีเงินมากๆ เงินจะเริ่มซื้อความสุขไม่ได้ การมีเงินเยอะโคตรๆ กับเยอะโคตรๆๆๆ ความสุขแทบจะไม่ต่างกัน รายได้ 100 ล้านต่อปี กับ 1,000 ล้านต่อมี แม้ต่างกันสิบเท่าแต่ความสุขแทบจะไม่ต่างกัน
ฉะนั้น การมีรายได้ระดับหนึ่งที่พอเพียงเป็นสิ่งจำเป็นครับที่จะทำให้มีความสุข การบอกว่า "จงจนอย่างมีความสุข" หรือ "จนก็มีความสุขได้" อาจเป็นเพียงการพูดเพ้อฝันของคนมีเงิน (คนไม่มีเงินคงไม่พูดแบบนี้) แต่อย่าบ้าหาแต่เงิน เพราะถึงจุดหนึ่งเงินจะเริ่มซื้อความสุขไม่ได้ แต่ คนรัก ลูก เพื่อน ครอบครัว การได้พักผ่อน การทำในสิ่งที่ชอบตะหากที่ทำให้เรามีความสุข จบครับ ใครเดาถูกกันบ้างเอ่ย