รีเซต

เจาะเบื้องหลังเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports

เจาะเบื้องหลังเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
24 พฤศจิกายน 2566 ( 17:05 )
37
เจาะเบื้องหลังเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย | TNN Tech Reports



ปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายและเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากเกิดการระบาดของโควิด -19 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และหุ่นยนต์บริการ  ต่างก็มีสัดส่วนการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น


รายงานจาก Statista บริษัทด้านข้อมูลตลาดและผู้บริโภคระดับโลก คาดการณ์ว่า 

  • ในปี 2023 รายได้ตลาดหุ่นยนต์ทั่วโลกจะสูงถึง 37,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ล้านล้านบาท

  • และจะเติบโตมีมูลค่าสูงถึง 45,090 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2028


แรงงานขาดแคลน ?


ด้วยความนิยมใช้งานหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 


ข้อมูลจาก แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำระดับโลกด้านการจัดหาบุคลากรและที่ปรึกษาด้านแรงงาน ระบุว่า

บุคลากรสายงานไอที เป็นกลุ่มงานที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูงที่สุด และยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก 


ด้วยเหตุนี้ สถาบันการศึกษาจึงเข้ามามีความสำคัญในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และผลิตแรงงาน หนึ่งในนั้นคือ สถาบันหุ่นยนต์วิทยาการภาคสนามหรือ ฟีโบ้ ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 


โดยนอกจาก การสอนทฤษฎีแล้ว ยังมีการร่วมมือกับภาคเอกชน และอุตสาหกรรม  ในการพบปะกับนักศึกษา เพื่อให้เกิดการคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้จริง หรือเพิ่มโอกาสเข้าสู่ตลาดทั้งหุ่นยนต์และแรงงานได้มากขึ้น


หนึ่งในนั้นคืองาน 0110 ASIA TECHLAND 2023 งานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2566


Meta Market 


Meta Market เป็นเทคโนโลยีการเลือกซื้อสินค้าในซูปเปอร์มาร์เก็ตบนสภาพแวดล้อมเสมือนหรือ Metaverse เพื่อตอบโจทย์การซื้อสินค้าได้จากทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์แว่นตา VR  โดยนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการหยิบจับสินค้าบนชั้นวางสินค้าในโลกจริง แทนมือของคน


พูดง่าย ๆ ก็คือ หากเราชอปปิงสินค้าชิ้นไหนในซูเปอร์มาร์เก็ตในโลกเสมือน ผ่านแว่นตา VR แล้ว จากนั้นหุ่นยนต์ก็จะเคลื่อนที่ไปหยิบสินค้าชิ้นนั้น แล้วนำไปชำระเงิน ต่อด้วยเข้าสู่ระบบขนส่ง และเราก็รอรับสินค้า


โดยหุ่นยนต์ที่ใช้เป็นหุ่นยนต์ประเภท Collaborative robot  เรียกสั้น ๆ ว่า Co Bot หรือ หุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับมนุษย์อย่างปลอดภัย ในภาคอุตสาหกรรม


ซึ่งการทำงานจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ 1 ส่วนของฮาร์ดแวร์หรือตัวหุ่นยนต์แขนกล ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยสามารถหยิบจับของน้ำหนักสูงสุด 5 กิโลกรัม ส่วนที่ 2 ซอฟต์แวร์ หรือส่วนของการป้อนคำสั่งหรือโปรแกรมการเคลื่อนที่เพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานในระบบ Virtual ซึ่งส่วนนี้แหละค่ะคือส่วนที่เป็นฝีมือการพัฒนาของนักศึกษาไทย


แม้ว่าขณะนี้จะเป็นเพียงตัวอย่างคอนเซ็ปต์ชิ้นงาน แต่หากได้รับการพัฒนาต่อไป ก็อาจจะประยุกต์ใช้ได้จริงกับหลาย ๆ งาน เช่น ภายในคลังสินค้า ร้านหนังสือ หรือห้องสมุด  


Ice Cream robot


ขณะที่หุ่นยนต์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจภายในงานก็คือ หุ่นยนต์ทำอาหาร เช่น หุ่นยนต์ไอศกรีม  โดยเป็นลักษณะของหุ่นยนต์แขนกลประกอบเข้ากับรถไอศกรีม 


ตัวแขนกลถูกออกแบบให้ทำงานเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ๆ ทำให้สามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 500 กรัม หรือครึ่งกิโล และในส่วนของการทำงานทั้งหมดก็เกิดการจากการใส่โปรแกรมที่นักพัฒนาเขียนขึ้น  


ปัจจุบันหุ่นยนต์แขนกลเสิร์ฟไอศกรีมนี้ ยังเป็นเพียงคอนเซ็ปต์หรือหุ่นยนต์ไอศกรีมต้นแบบเท่าน้ัน  แต่ก็ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของหุ่นยนต์ ที่อาจจะถูกพัฒนาและนำไปใช้ในแวดวงอาหารอย่างแพร่หลายในอนาคต 


หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว


ภายในงานเดียวกันยังมีการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว ซึ่งได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน โดยก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามจากฝีมือเจ้าหุ่นยนต์ ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 2 นาที 


นอกจากเรื่องของการออกแบบท่าทางแล้ว ยังมีรายละเอียดในส่วนอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิในการลวกเส้น  ลวกผัก ที่ต้องเหมาะสมกับวัตถุดิบแต่ละประเภท และเพื่อให้รสชาติของก๋วยเตี๋ยวออกมาเหมือนเดิมมากที่สุด


โดยหุ่นยนต์ที่ใช้เป็นหุ่นยนต์ Co Bot มีเซนเซอร์ป้องกันการชนเพื่อการใช้งานร่วมกับมนุษย์อย่างปลอดภัย ลักษณะแขนกลมี 6 ข้อต่อ ระยะในการหยิบจับอยู่ที่ 95 เซนติเมตร รับน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม ใช้พลังงานไฟฟ้า 220 โวลต์ ในการทำงาน


แม้ว่าหุ่นยนต์ทำก๋วยเตี๋ยวนี้จะเป็นผลงานต้นแบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแสดงภายในงานเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็มีบริษัทอาหารหลายบริษัทให้ความสนใจและกำลังพูดคุยกันถึงการนำหุ่นยนต์ทำก๋วยเตี๋ยวมาใช้งานจริงในอนาคต


โดยผลงานนี้ เป็นการพัฒนาจาก บริษัท ANT Robotics บริษัทสตาร์ตอัปด้านหุ่นยนต์และกลไกอัตโนมัติ ซึ่งก่อตั้งบริษัทมานาน 4 ปี  โดยที่ผู้ก่อตั้งทั้งหมดก็คือศิษย์เก่าของสถาบันฟีโบ้นั่นเอง


หุ่นยนต์คั่วไก่


ผลงานจาก ANT Robotics ยังรวมถึงต้นแบบหุ่นยนต์คั่วไก่ ที่ใช้เวลาในการพัฒนารวมการทดสอบราว 1 ปี ซึ่งอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการขอจดสิทธิบัตร ถ้าหากผ่านมาตรฐานแล้ว นี่จะถือว่าเป็นหุ่นยนต์คั่วไก่ตัวแรกของประเทศไทย


ซึ่งผู้พัฒนาระบุว่า ความยากของการพัฒนาหุ่นยนต์คั่วไก่ก็คือ การควบคุมอุณหภูมิ กลิ่น สี และทำให้เส้นไม่ติดกันในการผัด 


ซึ่งการใช้หุ่นยนต์คั่วไก่นี้ จะเหมาะกับร้านอาหารที่มีหลายสาขาหรือแฟรนไชนส์ ที่จะต้องรักษามาตรฐานของอาหารไว้ให้เท่ากันทุกสาขา 


ซึ่งการนำหุ่นยนต์มาใช้ จะช่วยในเรื่องของการคุณภาพอาหาร ทั้งกลิ่น สี รสชาติ และปริมาณได้ดี รวมถึงการควบคุมต้นทุน แต่ข้อเสียก็อาจจะอยู่ที่ลีลา ที่ทำได้ไม่เท่าคน


หุ่นยนต์ยกกระสอบ


หุ่นยนต์ยกกระสอบ ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งผลงานของ ANT Robotics ซึ่งพัฒนาขึ้นตามความต้องการของโรงงาน และตอบโจทย์ในหลายเรื่อง ทั้งช่วยทุนแรงคน ประหยัดเวลาในการยกกระสอบ รวมถึงมีรูปแบบการจัดเรียงกระสอบที่สมำเสมอมากกว่าแรงงานคน 


โดยหุ่นยนต์ที่ใช้เป็นหุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าบนพาเลทอัตโนมัติ หรือ Robotic Palletizer มีจำนวน 4 ข้อต่อ 


น้ำหนักที่ยกต่อครั้ง รวม 100 กิโลกรัม ระยะใช้งานของแขนประมาณ 2 เมตร - 2.50 เมตร  ใช้ไฟฟ้า 380 โวลต์ ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม 


ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ยกกระสอบจะช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพการยกของได้มากขึ้น จากเดิมหากใช้แรงงานคน จะสามารถยกได้ 88 กระสอบ ต่อ 1 ชั่วโมง แต่หุ่นยนต์สามารถทำได้ 120 กระสอบ  โดยใช้เวลายกแต่ละกระสอบเพียง 30 วินาที


หุ่นยนต์ประเภทนี้มีการใช้งานโดยทั่วไป แต่จะแตกต่างกันที่ System Integrator หรือรูปแบบของการออกแบบโปรแกรมคำสั่งใช้งานจากผู้พัฒนา เพื่อให้ตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด  และเนื่องจากสามารถควบคุมกระบวนการ พัฒนาและขึ้นชิ้นงานต่าง ๆ ภายในโรงงานของตัวเองได้เกือบทั้งหมด  ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ต่ำกว่า  เมื่อเทียบกับความสามารถของหุ่นยนต์ระดับเดียวกันในต่างประเทศ ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท  


แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ในเรื่องของการใช้งานที่ซับซ้อน ซึ่งผู้ใช้ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ประเภทนี้ เพื่อให้การเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 


ส่วนการพัฒนาในอนาคต ANT Robotics มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีสุดฮิตอย่าง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์ด้วย เช่น  AI Vision หรือการนำเอไอมาใช้ประมวลผลแยกวัตถุจากภาพที่เห็น


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง