รีเซต

เปิด "6 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย ปี 66" จากศูนย์วิจัยซีไอเอ็มบี

เปิด "6 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย ปี 66" จากศูนย์วิจัยซีไอเอ็มบี
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2565 ( 11:02 )
46
เปิด "6 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย ปี 66" จากศูนย์วิจัยซีไอเอ็มบี

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป หลังธนาคารกลางเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง 

แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแรงในปีนี้ ยังไม่มีท่าทีว่าจะคุมเงินเฟ้อได้ ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับขึ้นอีกรอบหลังโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนนักเศรษฐศาสตร์มองว่า จำเป็นต้องลดอุปสงค์ในประเทศ หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องเพื่อลดการบริโภคและการลงทุน แม้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือใช้ recession แก้ปัญหา inflation เพราะเมื่อเศรษฐกิจถดถอย คนว่างงานเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนจะชะลอ ราคาสินค้าก็ชะลอตามหรือปรับลดลงได้ 

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อย มีผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทาย 6 ด้านในปีหน้า คือ 

1. การส่งออกติดลบ-กำลังซื้อสินค้าอุตสาหกรรมไทยจากสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มชะลอลง  

2. กำลังซื้อระดับล่าง SMEs ต่างจังหวัด ภาคเกษตรอ่อนแอ-ไทยยังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่ฉุดกำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยลากยาวถึงปีหน้า ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยังกดดันกำลังซื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีหนี้สูง

3. ดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง-ปัญหาเงินเฟ้อสูงมีแนวโน้มลากยาวไปปีหน้า เงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมายของธปท. ที่ระดับ 1-3% ทางธปท. น่าจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปจนถึงระดับ 2.00% เป็นอย่างน้อยภายในช่วงกลางปีหน้า ขณะที่สหรัฐน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแตะระดับ 5.00% เป็นอย่างน้อยช่วงกลางปีหน้าเช่นกัน 

4. บาทอ่อนค่าถึงกลางปีหน้า ลุ้นพลิกมาแข็งค่าครึ่งหลังของปี 2567 จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และเฟดอาจส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 

5. ท่องเที่ยวระดับบนฟื้นต่อเนื่อง แต่เมื่อยังขาดกลุ่มทัวร์ โดยเฉพาะจากจีน จะยังไม่เห็นการกระจายตัวของการใช้จ่ายมายังโรงแรมระดับต่ำลงมาและกลุ่มค้าขายทั่วไปมากนักในปีหน้า 

และ 6. กำลังซื้อระดับบน ธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคบริการในเมืองแข็งแกร่ง สนับสนุนให้มนุษย์เงินเดือนมีกำลังจับจ่าย เป็นกลไกฟื้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง 

ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง