ศก.ไทยขาลง กดดันกนง.ลดดอกเบี้ยมิ.ย.นี้

วิจัยกรุงศรี รายงานบทวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคล่าสุดระบุว่า เศรษฐกิจชะลอลงในเดือนมีนาคมจากการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว แต่โดยภาพรวมในไตรมาสแรกของปี 2568 เศรษฐกิจยังมีการฟื้นตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน จากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสินค้าที่เร่งขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากขึ้น สะท้อนจากการปรับลดคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งล่าสุดได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทยในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ นอกจากนี้ Moody’s สถาบันจัดอันดับความเชื่อถือได้ปรับลดแนวโน้ม (Outlook) ของไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงลบ (Negative)
ภายใต้บริบทที่ความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยทวีแรงขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2568 ลงอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 2.9 เหลือร้อยละ 2.0 (Reference scenario) พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 1 จึงตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับร้อยละ 1.75 ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้นับเป็น pre-emptive move ในการรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง สาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง
ด้วยจุดยืนเชิงผ่อนคลายของกนง.ข้างต้นวิจัยกรุงศรีประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน เนื่องจากความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้าจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออก
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งเป็นช่วงที่กนง.ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐจะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นนั้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและ terminal rate หรือดอกเบี้ยจะไปหยุดที่ระดับใด จึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการและการความคืบหน้าของการเจรจาการค้าเป็นสำคัญ