รีเซต

Apple Watch ช่วยชีวิตหญิงสาวจากลิ่มเลือดในปอดขณะหลับ

Apple Watch ช่วยชีวิตหญิงสาวจากลิ่มเลือดในปอดขณะหลับ
TNN ช่อง16
22 มิถุนายน 2566 ( 09:54 )
118

ที่ผ่านมาบริษัทแอปเปิล (Apple) พัฒนา Apple watch ให้ช่วยดูแลสุขภาพผู้สวมใส่มากขึ้น ไม่ว่าจะช่วยตรวจจับอัตราการเต้นหัวใจ ดูแลคุณภาพการนอนหลับ ไปจนถึงดูแลสุขภาพสายตา และล่าสุดเจ้านาฬิกาอัจฉริยะ Apple watch ได้ช่วยชีวิตหญิงสาวชาวสหรัฐฯ คนหนึ่ง ด้วยการแจ้งเตือนว่าอัตราการเต้นหัวใจของเธอเร็วเกินไปขณะนอนหลับ จนเธอสะดุ้งตื่นและตัดสินใจไปตรวจหาสาเหตุ ก่อนจะพบว่าตนเองมีลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ! 


Apple watch ช่วยชีวิต

โดยสำนักข่าวท้องถิ่นรายงานว่า คิมมี่ วัตคินส์ (Kimmie Watkins) หญิงสาววัย 29 ปี จากเมืองซินซินแนติ (Cincinnati) รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาขอบคุณ Apple Watch ที่ช่วยชีวิตเธอ  หลังจากที่เจ้านาฬิกาอัจฉริยะได้แจ้งเตือนวัตคินส์ที่กำลังนอนหลับอยู่ว่า เธอมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ


โดยวัตคินส์อธิบายว่า ก่อนหน้านี้เธอรู้สึกหน้ามืดวิงเวียน ก็เลยงีบหลับไป และในขณะที่เธอหลับอยู่นี่เอง เจ้านาฬิกาอัจฉริยะ Apple Watch ตรวจพบว่าอัตราเต้นของหัวใจของเธอเร็วผิดปกติ ถึง 178 ครั้งต่อนาที ! ซึ่งคนทั่วไปมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ราว ๆ  60-100 ครั้งต่อนาที ทำให้ Apple Watch ร้องเตือนจนปลุกให้วัตคินส์สะดุ้งตื่น


เหตุจากหัวใจเต้นเร็ว จนเจอลิ่มเลือดในปอด ! 

ด้วยเหตุนี้เอง วัตคินส์จึงตัดสินใจไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ก่อนจะพบว่าเธอมี Saddle pulmonary embolism (SPE) หรือลิ่มเลือดขนาดใหญ่อุดกั้นบริเวณหลอดเลือดแดงลงสู่ปอด ซึ่งเป็นโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอดแบบเฉียบพลันชนิดหนึ่ง ที่มีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 50 ! เรียกได้ว่าฟีเชอร์ในนาฬิกาอัจฉริยะช่วยชีวิตวัตคินส์เอาไว้ได้แบบหวุดหวิด 


ภาพจาก Healthline

Apple Watch วัดอัตราการเต้นหัวใจได้อย่างไร ?

ฟีเชอร์แจ้งเตือนอัตราการเต้นของหัวใจนี้ เป็นหนึ่งในฟีเชอร์พื้นฐานใน Apple Watch ทุกเครื่อง โดยปกติ Apple Watch วัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยเซนเซอร์วัดหัวใจแบบออปติคัล และเทคโนโลยี PPG หรือ Photoplethysmography (อ่านว่า โฟโตเมธฟิพส์โมกราฟฟี) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ลำแสงสีเขียวที่เราเห็นหลังตัวเรือนนาฬิกา ทำหน้าที่ช่วยวัดค่าวัดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งเลือดนั้นมีสีแดง ทำให้เลือดสะท้อนลำแสงสีแดงซึ่งเป็นสีเดียวกันออกไป แต่จะดูดซับแสงสีเขียวได้ 



ภาพจาก Apple

 

แสงสีเขียวช่วยวัดปริมาณเลือด

โดย Apple Watch ใช้ลำแสงสีเขียวคู่กับโฟโต้ไดโอด (Photo Diode) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สารกึ่งตัวนำที่ไวต่อแสงเพื่อตรวจวัดปริมาณเลือดที่ไหลผ่านข้อมือ โดยหากหัวใจเต้นเร็วมากเท่าไหร่ ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านและดูดซึมแสงสีเขียวก็จะมีปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย ตัวนาฬิกาก็จะเก็บข้อมูลปริมาณเลือดที่ไหลผ่านบริเวณข้อมือ ก่อนจะคำนวณออกมาเป็นจำนวนครั้งที่หัวใจเต้นในแต่ละนาที หรืออัตราการเต้นของหัวใจนั่นเอง


ซึ่ง Apple Watch คอยเก็บข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจให้กับผู้ใช้ตลอดเวลาที่สวม ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกเปิดการแจ้งเตือนอัตราการเต้นของหัวใจได้ หากอัตราการเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือเพื่อติดตามว่าจังหวะการเต้นของหัวใจของตนมีความผิดปกติหรือไม่ 


ภาพจาก Apple

 

เทคโนโลยีช่วยดูแลสุขภาพอีกแรง

ในขณะนี้ วัตคินส์ยังอยู่ในขั้นตอนห้ยาละลายลิ่มเลือด และพักฟื้น โดยกรณีของคิมมี่ วัตคินส์ ถือได้ว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ช่วยให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิด โดยก่อนหน้านี้ Apple watch ก็ได้ช่วยชีวิตผู้ใช้รายหนึ่งที่เป็นลมหมดสติ ก่อนจะล้มกระแทกอย่างรุนแรง ซึ่งเจ้านาฬิกาอัจฉริยะนี้ไม่เพียงแต่ตรวจจับการล้ม แต่ยังช่วยติดต่อหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินให้กับผู้ใช้ได้ทันท่วงที


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนกับคิมมี่ วัตคินส์ แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยเก็บข้อมูลและดูแลผู้ใช้ได้มนหลาย ๆ ด้าน ตัวผู้ใช้เองควรดูแลใส่ใจรักษาสุขภาพ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และหากเกิดความผิดปกติกับร่างกายของตนเอง ก็ควรรีบไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุต่อไป 


ที่มาข้อมูล 9to5mac, Healthline, Apple

ที่มาภาพ AppleUnsplashUnsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง