รีเซต

ทำความรู้จักเชื้อรามรณะการติดเชื้อในซีรีส์ The Last of Us ที่คุณอาจไม่เคยรู้

ทำความรู้จักเชื้อรามรณะการติดเชื้อในซีรีส์ The Last of Us ที่คุณอาจไม่เคยรู้
แบไต๋
23 มกราคม 2566 ( 15:23 )
39
ทำความรู้จักเชื้อรามรณะการติดเชื้อในซีรีส์ The Last of Us ที่คุณอาจไม่เคยรู้

เข้าสู่ตอนที่ 2 ของซีรีส์เราสองคนสุดท้ายในโลกที่ล่มสลายของ ‘The Last of Us’ หลังจากที่ตอนแรกเราได้ทำความรู้จักเกี่ยวกับตัวละครต่าง ๆ ไปแล้วว่า โจเอล (Joel) กับ เอลลี่ (Ellie) คือใครมีที่มาอย่างไร ที่ในตอนท้ายของซีรีส์เราได้เห็นสภาพของตึกที่ทับกันกับเสียงร้องของผู้ติดเชื้อที่ชื่อว่า ‘Clicker’ ที่เป็นการบอกเราว่านับจากนี้ไปจะเข้าสู่เรื่องราวที่แท้จริงของเนื้อหา เพราะคราวนี้เราจะได้เห็นเหล่าผู้ติดเชื้อรา ‘Cordyceps’ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ในซีรีส์อาจจะไม่ได้บอกเราตรง ๆ ว่าตัวไหนเป็นอย่างไร วันนี้เราเลยขอหยิบเรื่องราวของเหล่าซอมบี้ในซีรีส์นี้มานำเสนอ โดยเราจะอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากเกมมาใช้ เพราะทั้งในเกมและซีรีส์ใช้ข้อมูลคล้ายกัน และเราจะขอพูดถึงเหล่าผู้ติดเชื้อในเฉพาะในภาคแรกเท่านั้น (ภาค 2 ของเกมมีผู้ติดเชื้อแบบใหม่เพิ่มมาอีก) เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้คุณดูซีรีส์นี้สนุกขึ้น ถ้าพร้อมแล้วก็มาดูเหล่าผู้ติดเชื้อไปพร้อมกันเลย

จุดเริ่มต้นของเชื้อราที่ทีมพัฒนาเกมคิดขึ้น

เริ่มต้นเรื่องแรกเรามาทำความรู้จักที่มาที่ไปของการสร้างเชื้อไวรัสซอมบี้หัวเห็ด (คนเล่นเกมเรียกกันแบบนี้) ว่ามันมีแนวคิดมาจากอะไร โดยเราต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2006 จอห์น สวีนีย์ (John Sweeney) ผู้ออกแบบเกมได้รับแรงบันดาลใจจากสารคดีธรรมชาติของ ‘BBC’ ชื่อ ‘Planet Earth’ ที่บอกเล่าถึงเชื้อราที่ตรงเข้าไปยึดสมองของแมลงจนมันมีรูปแบบความคิดที่เปลี่ยนไป ซึ่งทางทีมพัฒนาก็เอาแนวคิดนี้มาปรับใช้กับมนุษย์จนกลายเป็นเกม ‘The Last of Us’ ที่เราได้เห็น โดยเชื้อในเรื่องนี้จะถูกเรียกว่า ‘Cordyceps’ หรือที่แปลแบบตรงตัวก็คือ “ถั่งเช่า” ที่เป็นยาจีนนั่นเอง ขณะที่ตัว นีล ดรักมานน์ (Neil Drachmann) ผู้กำกับเกมและซีรีส์ที่เราดูก็มีความคิดในการสร้างเกมที่ต้องการนำเรื่องราวของซอมบี้ใน ‘Night of the Living Dead’ มารวมกับเรื่องราวของภาพยนตร์ ‘Sin City’ ในตอนของนายตำรวจที่ต้องคุ้มกันสาวน้อยจากผู้ร้ายที่ทั้งคู่ต้องร่วมมือกัน รวมถึงสิ่งที่นีลอยากได้คือบรรยากาศความรักความหวังความรู้สึกเติมเต็มของตัวละคร ที่เหมือนชิ้นส่วนที่ขาดหายมาเติมเต็มให้กันและกันจนกลายมาเป็น ‘The Last of Us’ ที่เราได้เห็นในตอนนี้

การติดเชื้อผ่านการกัดระยะการติดเชื้อต่างกัน

คราวนี้เรามาดูระบบการติดเชื้อของซีรีส์นี้กันบ้าง โดยเราต้องอธิบายให้แฟนเกมรู้เอาไว้ก่อนว่าระบบการติดเชื้อในซีรีส์ ‘The Last of Us’ นั้นจะเป็นเพียงการโดนกัดเท่านั้น ไม่มีการใส่หน้ากากเพื่อกันสปอร์เห็ดแบบในเกม (ในเกมมีการแพร่เชื้อซอมบี้จากสปอร์เห็ดที่ศพปล่อยออกมา) และเมื่อเป็นอย่างนั้นการติดเชื้อผ่านการกัด ก็จะมีระยะติดเชื้อที่ต่างกันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่ถ้ากัดขาจะติดเชื้อภายใน 12 ถึง 24 ชั่วโมง กัดแขนจะติดเชื้อใน 2 ถึง 5 ชั่วโมง โดยอาการเบื้องต้นจะมีอาการกระตุกที่แขนพูดไม่ชัดพูดติด ๆ ขัด ๆ แต่ถ้ากัดคอจะติดเชื้อในเวลา 5 ถึง 15 นาที เพราะเชื้อรา ‘Cordyceps’ จะตรงเข้าไปยึดสมองของร่างต้นและจะเลี้ยงชีพเจ้าของร่างเอาไว้ไม่ให้ตายเพื่อการแพร่เชื้อต่อไป เหมือนในตอนแรกที่รายการทีวียุค 80 เขาคุยกันนั่นคือการอธิบายทุกอย่างที่คุณควรรู้เกี่ยวกับเชื้อรานี้ แต่สิ่งที่คุณควรรู้เพิ่มคือผู้ติดเชื้อจะมีความทนทานต่อความเจ็บปวดสูงกว่ามนุษย์ทั่วไป แต่ร่างกายจะบอบบางกว่าคนปกติ ก่อนที่เชื้อราจะวิวัฒนาการให้ร่างต้นมีความแข็งแรงเพิ่มประสาทสัมผัสในการได้ยินแทนการมองเห็น และเปลี่ยนสมองกับหัวของร่างต้นให้กลายเป็นเห็ดเพื่อปกคลุมร่างเป็นเหมือนเกราะป้องกัน และถ้าตรงไหนมีความชื้นอุณหภูมิเหมาะสมเชื้อราของคนที่ติดเชื้อก็จะแพร่ไปอย่างรวดเร็ว จนร่างต้นไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้ที่สุดท้ายร่างนั้นก็ติดกับผนังหรือนอนตายอยู่ตรงนั้น เพื่อปล่อยสปอร์เห็ดมายึดพื้นที่บริเวณนั้นอย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ตอนแรกและตอนที่ 2

ระยะที่ 1 Runner

คราวนี้มาดูการติดเชื้อแต่ละขั้นอย่างละเอียดกัน โดยเริ่มจากการติดเชื้อขั้นแรกหลังจากถูกกัดคน ๆ นั้นจะถูกเรียกว่า ‘Runner’ ที่จะมีอาการชักกระตุกเก็งตามนิ้วมือนิ้วเท้า เพราะเชื้อรากำลังควบคุมสมองจนผมของร่างต้นเริ่มร่วงและดวงตาที่พร่ามัวจนต้องใช้การฟังเสียงเป็นหลัก นอกจากนี้เชื้อรายังไปกระตุ้นสมองในส่วนของความรู้สึกโกรธดุร้ายของมนุษย์ให้ออกมา เพื่อการขยายพันธุ์ผ่านการกัด ส่วนในตอนปกติถ้าไม่เจอเหยื่อเราจะเห็น ‘Runner’ ยืนหลังค่อมชักกระตุกเล็ก ๆ และได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญด้วยความเจ็บปวดออกมาเบา ๆ เพราะร่างกายกำลังต่อต้านเชื้อราที่บุกรุกเข้ามาแต่ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ‘Runner’ ก็มีความอ่อนแอกว่าคนปกติ เพราะเชื้อราได้ดึงสารอาหารจากร่างคน ๆ นั้นไปใช้ในการขยายพันธุ์ในสมองจนร่างมนุษย์อ่อนแอลง และเราจะได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดเมื่อเราฆ่า ‘Runner’ เพราะตัวของมันยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ รวมถึงรูปร่างที่ไม่ต่างกับซอมบี้ทั่วไปตามภาพยนตร์

ระยะที่ 2 Stalker

มาต่อที่ระยะที่สองของการติดเชื้อที่ถูกเรียกว่า ‘Stalker’ ที่แปลแบบตรงตัวก็หมายถึง “สะกดรอยตาม” ที่พวกนี้จะเริ่มการวิวัฒนาการไปอีกขั้นเมื่อการติดเชื้อผ่านจาก ‘Runner’ มาสองสัปดาห์ถึงหนึ่งปี ที่เชื้อราถั่งเช่าได้ยึดสมองของร่างนั้นได้สมบูรณ์ครบ 100% (เรียก ‘Cordyceps’ ดีกว่าดูน่ากลัว) โดยจุดสังเกตพวกนี้จะดูจากหัวที่เริ่มมีเห็ดราขึ้นบนใบหน้ากับหัว และจะเหลือดวงตาเพียงแค่ข้างเดียวเพื่อใช้ในการมอง (แต่สายตาก็แย่อยู่ดี) โดยความสามารถของ ‘Stalker’ จะก้าวข้ามความดุร้ายที่เป็นจุดอ่อนทิ้งไป แต่จะไปเพิ่มทางด้านคิดในการล่าเหยื่อเป็นฝูงกับการสะกดรอยตามเหยื่อเพื่อซุ่มโจมตี โดยจะเน้นที่แคบและมืดตามอาคารต่าง ๆ ที่พวกมันจะส่งเสียงร้องเพื่อแจ้งตำแหน่งศัตรูให้พวกเดียวกันรู้ และมันจะไม่สู้กับเราตรง ๆ แต่จะแอบมาทำร้ายจากด้านหลังและหนีเมื่อถูกเจอตัว แต่ถ้ามันรู้ว่าเรามาคนเดียวหรือคิดว่าไม่มีทางสู้มันจะมารุมทันที ที่ถ้าใครคิดไม่ออกให้คิดถึง กอลลัม (Gollum) ใน ‘The Lord of the Rings’ คือแบบนั้นเลย ส่วนจุดอ่อนของ ‘Stalker’ คือร่างกายที่ผอมแห้งเพราะเชื้อราได้ดูไขมันและสารอาหารไปเลี้ยงตัวเองจนมันตายง่ายกว่า ‘Runner’ ซึ่งในเกมบอกเลยว่าเจอพวกนี้น่าปวดหัวแบบสุด ๆ เพราะถ้าเราวิ่งหนีมันจะวิ่งตามดักหน้าเราและกระโดดเกาะหลังรุมทันที ที่บอกเลยว่าตอนสู้กับพวกนี้คือลุ้นสุด ๆ บอกเลย

ร่างที่ไม่ได้วิวัฒนาการไปต่อ

ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการวิวัฒนาการก็มีผู้ติดเชื้อบางส่วนจะตายลงระหว่าง ‘Stalker’ เพื่อไปยัง ‘Clicker’ โดยร่างนี้เป็นจะร่างที่ตายแล้ว (บางตัวก็ยังไม่ตาย) ของร่าง ‘Stalker’ ที่หลายคนคิดว่าร่างนี้น่าจะเกิดจากร่างของตัวมนุษย์มีความอ่อนแอมากเกินไป เพราะอย่าลืมว่าเชื้อราในขั้นที่ 1 กับ 2 นั้นจะดูดไขมันและสารอาหารในร่างมนุษย์ไปจนเกือบหมดจนร่างนั้นสูบผอม (เพราะเหตุนี้ถึงไม่มีซอมบี้ตัวอ้วน) ซึ่งถ้าร่างของผู้ติดเชื้อไม่แข็งแรงพอก็จะไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองไปไหนได้ สุดท้ายก็ตายลงเพื่อให้เชื้อแพร่พันธุ์ไปตามกำแพงและที่ต่าง ๆ และจะปล่อยสปอร์เห็ดออกมา ซึ่งใครที่สูดสปอร์เห็ดเข้าไปก็จะติดเชื้อซอมบี้ ตัวละครในเกมจึงต้องใส่หน้ากาก (แต่เอลลี่ไม่ต้องเพราะเธอไม่ติดเชื้อ) ตามรูปประกอบที่เราหยิบมานำเสนอ แต่ก็มีอีกกรณีที่เราได้อธิบายไปแล้วว่าถ้าสถานที่นั้นมีอุณหภูมิความชื้นเหมาะสมมาก ๆ บางทีเชื้อราในร่างมนุษย์ก็จะโตเร็วเกินกว่าที่ร่างมนุษย์จะรับไหว จนสุดท้ายร่างนั้นก็ยืนไม่ก็นั่งตายติดกำแพงจนร่างนั้นแห้งตายในเวลาต่อมา แต่ก็มีบางตัวที่ยังไม่ตายสนิทและวิ่งมาหาเรา ที่บอกเลยว่าในซีรีส์มีแน่นอนตกใจได้เลย

ระยะที่ 3 Clicker

มาถึงพระเอก (นางเอก) ของงานนี้กับการติดเชื้อถึงขั้นสมบูรณ์ (แต่ไม่ใช่จุดสูงสุด) ของห่วงโซ่อาหารของการติดเชื้อ ที่เรียกว่า ‘Clicker’ ซึ่งต้องผ่านการติดเชื้อมาเกิน 1 ปีที่หัวและสมองของร่างนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นดอกเห็ดโดยสมบูรณ์ และไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่อีกต่อไป ซึ่งจุดเด่นของการวิวัฒนาการในครั้งนี้เชื้อราได้ตัดการมองเห็นของผู้ติดเชื้อทิ้งไป และเปลี่ยนส่วนดวงตาให้เป็นเหมือนจานดาวเทียมเพื่อรับเสียงที่สะท้อนกลับมาเหมือนค้างคาว ผ่านการกัดฟันจนเป็นเสียงคลิก ๆ ที่ถ้าเราแปลความหมายแบบอ้อม ๆ ของ ‘Clicker’ ก็จะหมายถึงการลั่นหรือการกระทบให้เกิดเสียง ซึ่งตรงกับความหมายของตัวมันอย่างชัดเจน โดยในครั้งนี้เชื้อราเริ่มวิวัฒนาการที่เปลี่ยนจากการดูดไขมันและสารอาหารจากร่างต้น มาเป็นการแบ่งสารอาหารให้ร่างต้นจนร่างของ ‘Clicker’ แข็งแรงกว่ามนุษย์ปกติแถมยังวิ่งเร็วกว่า ‘Runner’ ที่ถ้าอ้างอิงจากในเกมเราจะไม่มีทางวิ่งหนี ‘Clicker’ พ้นและสู้ตรง ๆ ไม่ได้เพราะมันแรงเยอะมาก ๆ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มันจะขาดสติปัญญาแบบ ‘Stalker’ เหลือเพียงร่างที่ยืนนิ่ง ๆ ฟังเสียงรอบตัวกับการสัมผัสแรงสั่นสะเทือนที่เข้ามาหาตัว ที่เมื่อมันเจอเหยื่อมันจะร้องเรียกพวกและตรงมาหาเราทันที เรียกว่าเป็นตัวที่น่ากลัวและอันตรายที่สุดเลยก็ว่าได้

ระยะที่ 4 Bloater

เตรียมตัวสวดมนต์และไปเกิดใหม่ได้เลยถ้าในชีวิตจริงเราได้เจอ ‘Bloater’ ร่างติดเชื้อขั้นที่ 4 ที่เกิดหลังจากติดเชื้อมาหลายปี ซึ่งเป็นตัวที่หายากใครที่เจอนี่ต้องเรียกว่าถูกหวยนรก (แต่ทำไมในเกมมันเยอะจัง) ซึ่งชื่อ ‘Bloater’ นั้นก็แปลตรงตัวว่า “ตัวบวม” ไอ้ต้าวอ้วนกลมน่ารักที่จะพัฒนามาจาก ‘Clicker’ ตัวธรรมดามาเป็น ‘Clicker’ ร่างใส่เกราะที่สมกับชื่อและรูปร่างของมัน เพราะตอนนี้เชื้อรา ‘Cordyceps’ ได้ปกคลุมทั่วทั้งร่างไปแล้ว พร้อมกับวิวัฒนาการทางด้านพลังโจมตีที่สามารถหักคอคนได้เหมือนหักท่อนไม้ แถมมันยังกินมนุษย์เป็นอาหารเพราะตัวของ ‘Bloater’ ค่อนข้างเผาผลาญพลังงานในร่างเยอะเพราะต้องเลี้ยงเห็ดราตามตัวและร่างต้นให้มีชีวิตรอด โดยข้อเสียของพี่ตัวอวบนี้ก็คือการเคลื่อนไหวที่ช้าจนเราสามารถหนีพ้น แต่มันก็ทดแทนด้วยการปาสปอร์เห็ดเป็นระเบิดใส่เราเพื่อเป็นม่านควันจนเรามองไม่เห็น ที่พอรู้ตัวอีกทีพี่อืดร่างบวมก็เข้ามาหาเราแล้ว และเห็นแบบนี้พี่แกอึดทึกทนมาก ๆ กระสุนระเบิดมีเท่าไหร่ใส่ไปเลยโดยเฉพาะไฟมันจะแพ้เป็นพิเศษ ที่ในตัวอย่างเราก็ได้เห็นมันไปแล้ว และเชื่อว่าราว ๆ ตอนที่ 3 หรือ 4 เราก็น่าจะได้เจอมันแน่นอน

ความเหมือนที่แตกต่างระหว่างซีรีส์และเกม

ปิดท้ายกับการสรุปเนื้อหาของซีรีส์และตัวเกม ‘The Last of Us’ ที่ต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่คุณจะได้เห็นในซีรีส์นั้นเป็นแค่การติดเชื้อบางส่วนเท่านั้น เพราะในภาคที่ 2 ของซีรีส์ได้เพิ่มการติดเชื้อแบบใหม่เข้าไปอีก 2 แบบในชื่อ ‘Shambler’ ผู้ติดเชื้อตัวอ้วนกลมที่สามารถปล่อยก๊าซพิษและระเบิดที่รุนแรงออกมาฆ่าเรา กับแบบตัวที่อยู่จุดสูงสุดของการติดเชื้อของจริงนั่นคือราชาหนู ‘Rat king’ ที่บอกเลยว่าสองสายพันธุ์นี้คือตัวตึงของจริง ซึ่งในภาคแรกยังไม่มีพวกนี้เพราะสองสายพันธุ์นี้จะเกิดขึ้นเฉพาะสถานที่เท่านั้น และไม่ต้องห่วงเราไม่มีรูปให้คุณดูเดี๋ยวจะเสียอารมณ์ไปเสียก่อน แต่ก็ไม่แน่นะทางผู้พัฒนาซีรีส์อาจจะใส่มาเพื่อให้คนเล่นเกมแปลกใจก็ได้คงต้องมารอดูกันไป และนอกจากเหล่าซอมบี้ก็ยังมีผู้คนที่ไม่เป็นมิตรอีกมากมายรอฆ่าพวกโอเอลกับเอลลี่อยู่ ที่บอกเลยว่านับจากนี้ไปมันคือความสนุกที่แท้จริงที่คุณจะได้ลุ้นระทึกสนุกสิ้นหวังและอบอุ่นหัวใจกับซีรีส์นี้อย่างแน่นอน

ก็จบกันไปแล้วกับการทำความรู้จักเชื้อไวรัสถั่งเช่าหรือ ‘Cordyceps’ ที่เราหยิบมานำเสนอ เพื่อให้คุณรู้จักระบบการติดเชื้อของเหล่าซอมบี้ให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าในซีรีส์คงจะไม่ได้บอกเราทุกอย่างเหมือนในเกม หลายคนจึงอาจจะไม่รู้หรือแยกไม่ออกว่า ‘Runner’ กับ ‘Stalker’ ต่างกันตรงไหนและทำไม ‘Clicker’ ถึงต่างกับซอมบี้ทั่วไป รวมถึงซากเห็ดตามฉากเกิดจากอะไร หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนหายสงสัยและดูซีรีส์ได้สนุกขึ้น และถ้าข้อมูลขาดตกตรงไหนไปก็ขออภัยมาด้วย ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับ ‘The Last of Us’ อีกก็รอติดตามกันได้ เพราะยังมีเรื่องราวอีกมากมายรอคุณอยู่รอติดตามกันยาว ๆ ได้เลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง