รีเซต

วิธีป้องกันฝีดาษลิง-อาการฝีดาษลิง หลังพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย ไม่อยากติด "ฝีดาษลิง" ทำตามนี้

วิธีป้องกันฝีดาษลิง-อาการฝีดาษลิง หลังพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย ไม่อยากติด "ฝีดาษลิง" ทำตามนี้
Ingonn
29 กรกฎาคม 2565 ( 09:18 )
4.4K
วิธีป้องกันฝีดาษลิง-อาการฝีดาษลิง หลังพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย ไม่อยากติด "ฝีดาษลิง" ทำตามนี้

"โรคฝีดาษลิง" หรือ Monkeypox เข้าไทยแล้ว ยืนยันผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 จากวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติแบบรักร่วมเพศ ซึ่งฝีดาษลิงในไทย กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าควบคุมได้ และกำลังเร่งหาผู้สัมผัสรายอื่นๆเพิ่มเติม ดังนั้นใครไม่อยากติดฝีดาษลิง เช็กวิธีป้องกันฝีดาษลิง-อาการฝีดาษลิง ที่นี่

 

ฝีดาษลิง คืออะไร

ฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร เป็นโรคสัตว์สู่คน ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มักมีรายงานผู้ป่วยในประเทศแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก ส่วนสัตว์รังโรค ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะสัตว์กัดแทะและลิง ส่วนระยะฟักตัว ตั้งแต่วันที่สัมผัสถึงวันเริ่มป่วยอยู่ที่ 5-21 วัน ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ คือ

  • สายพันธุ์ West African clade ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 1 
  • สายพันธุ์ Central African clade ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 10

 

ฝีดาษลิง ติดต่อทางไหน

  • การติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก

  • การติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplet respiratory particle) ของผู้ป่วยหรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า

  • โรคฝีดาษลิงอาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์

 

กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ฝีดาษลิง ในประเทศไทย ยังสามารถควบคุมได้ ไม่แพร่ระบาดได้รวดเร็ว เหมือนอย่างโรค โควิด-19 เนื่องจากโควิดมีอัตราการแพร่เชื้อ จาก 1 คน ไปยัง 5 คน แต่ฝีดาษลิง 1 คน มีอัตราการแพร่เชื้อ ไปยังอีกคนเกิดขึ้นได้ยากเพราะการติดเชื้อจะเกิดได้จากการสัมผัสตุ่มหนอง ของผู้ติดเชื้อหรือ จากการเสียดสีเป็นเวลานาน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์   

 

อาการฝีดาษลิง

  • มีไข้ 
  • เจ็บคอ 
  • ต่อมน้ำเหลืองโต 
  • มีผื่นแดง หรือตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ลำตัว แขน ขา ใบหน้า และฝ่ามือฝ่าเท้า 

ไทม์ไลน์อาการฝีดาษลิง

  • วันที่ 0-5 จะมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและหมดแรง ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่อาการแรกที่มี มักจะเป็นอาการไข้ แต่ระยะออกผื่นมักจะเป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้มาก

  • วันที่  1-3 วันหลังมีไข้ จะมีลักษณะการกระจายเริ่มจากบริเวณหน้า และกระจายไปส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนใหญ่ 95% ของผู้ป่วยจะมีผื่นที่หน้า และ 75% มีผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ยังสามารถพบผื่นได้ที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ช่องปาก 70%  และอวัยวะเพศ 30%  

 

ลักษณะของผื่นฝีดาษลิงจะพัมนาไปตามระยะดังต่อไปนี้ ผื่นนูนแดง(Maculopapular) ตุ่มน้ำใส (Vesicles)  ตุ่มหนอง(Pustules) และสะเก็ต(Crust)  โดยพบว่าหากผู้ป่วยมีผื่นลักษณะสะเก็ดขึ้นจนแห้งและร่วงหลุดไป จะไม่มีการแพร่เชื้อได้

ภาพจาก www.hfocus.org

 

วิธีป้องกันฝีดาษลิง

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของผู้อื่นหรือสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า

  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

  3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า

  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค

  5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

  6. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายที่ให้บริการทางเพศ หรือมีคู่นอนหลายคนที่ไม่ใช่คู่ของตนเอง

  7. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น หนู กระต่าย เป็นต้น

  8. หากเริ่มมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ลำตัว แขนขา ใบหน้า และฝ่ามือฝ่าเท้า ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง ได้แก่ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ/ร่วมงาน กิจกรรมที่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยฝึดาษลิง มีอาชีพที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดคลุกคสีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ หรือมีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะที่มาจากแอฟริกา ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้ขอให้แจ้งประวัติเสี่ยงด้วย

  9. กรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แนะนำให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรหลบหนี เพื่อลดการแพรโรคสู่ผู้อื่น

 

ฝีดาษลิง หายได้เองไหม

ฝีดาษลิงเมื่อเป็นแล้วสามารถหายจากโรคเองได้ ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์จึงหายจากโรค และมียาต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษลิงที่สามารถรักษาโรคได้

 

การปลูกฝี ป้องกันฝีดาษลิงได้ไหม

ผู้ที่ได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษในอดีตมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ เพียงแต่ประเทศไทยเลิกปลูกฝีไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เนื่องจากฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษหมดไปจากโลกในขณะนั้น ดังนั้นการสังเกตว่าตนเองเคยได้รับการปลูกฝีแล้วหรือไม่สามารถสังเกตได้จากแผลเป็นบริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผลแบนเรียบหรือมีหลุมลงไปเล็กน้อย ประกอบกับต้องสังเกตปีเกิด นั่นคือหากเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ยังไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแน่นอน ส่วนในผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2517 แต่ก่อนปี พ.ศ. 2523 นับเป็นช่วงก้ำกึ่งต้องตรวจดูแผลอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อจะยืนยันได้ว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่

 

 

 

รวบรวมข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข , Hfocus , โรงพยาบาลกรุงเทพ  , blockdit น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง