ราคาข้าวเอเชียพุ่งรอบ 2 ปี หลังกังวลว่า "เอลนีโญ" จะกระทบการเพาะปลูก
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(WMO) ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญได้แผ่ปกคลุมในพื้นที่เขตร้อนชื้นของแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ซึ่งส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญสภาพอากาศแห้งแล้ง นอกจากนี้ การที่อุณหภูมิทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าปัญหาโลกร้อนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
ในขณะที่ฝนในฤดูมรสุมเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกข้าวในหลายพื้นที่ของอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกนั้น สภาพอากาศที่แห้งแล้งกลับส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลก โดยรัฐบาลไทยได้เรียกร้องให้เกษตรกรปลูกข้าวเพียงปีละ 1 ครั้งเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในปีนี้
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเริ่มทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวของไทยได้รับผลกระทบในเดือนก.ย.และต.ค.ปีนี้ ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าการเพิ่มปริมาณข้าวในสต็อกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า
ทั้งนี้ บรรดาผู้นำเข้าได้เริ่มสต็อกข้าวในปริมาณมาก โดยเวียดนามคาดว่าจะส่งออกข้าวในปีนี้เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มผู้ซื้อในฟิลิปปินส์ จีน และอินโดนีเซียที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เจเรมี สวิงเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท The Rice Trader กล่าวว่า "การที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซื้อข้าวปริมาณมากนั้น ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าปริมาณการซื้อข้าวของประเทศเหล่านี้อาจจะชะลอตัวลงในปีหน้าหรือในช่วงไตรมาส 4 นอกเสียจากว่านโยบายหรือสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงไป"
ฟาบริซิโอ ซาร์โคน เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการประเทศไทยของธนาคารโลกกล่าวว่า "การที่ไทยไม่มีนโยบายระยะยาวในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งนั้น จะยิ่งทำให้ผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนในไทยยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไทยเผชิญปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ ไทยยังต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในสาธารณูปโภคทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN