รีเซต

บริษัทน้ำตาล 'จีน-ไทย' ในกว่างซี ส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจ-การค้า

บริษัทน้ำตาล 'จีน-ไทย' ในกว่างซี ส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจ-การค้า
Xinhua
19 พฤศจิกายน 2565 ( 01:34 )
71
บริษัทน้ำตาล 'จีน-ไทย' ในกว่างซี ส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจ-การค้า

หนานหนิง, 18 พ.ย. (ซินหัว) -- บริษัท อีสต์ เอเชีย ชูการ์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย (ฉงจั่ว) เมืองฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน จัดเป็นกิจการร่วมค้าจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มมิตรผลของไทย และกลุ่มโรงงานน้ำตาลในเมืองฉงจั่ว ก่อตั้งเมื่อปี 1993

ชูศักดิ์ ว่องกุศลกิจ ซีอีโอของบริษัทฯ เผยว่าปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำตาลอยู่ที่ราว 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของน้ำตาลที่ผลิตภายในประเทศ โดยมีบริษัทในเครือ 12 แห่ง ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล พลังงานชีวมวล ปุ๋ย ยีสต์ อาหารสัตว์ และอื่นๆ

โรงงานน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ของบริษัทฯ ครอบคลุมพื้นที่ราว 125 ไร่ มีการดำเนินงานอัตโนมัติระดับสูง ผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ได้ 1,200 ตันต่อวัน แต่ละกะมีพนักงานประจำอยู่ 20 กว่าคน รวมทีมช่างเทคนิคตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์จากห้องควบคุมกลาง ซึ่งลดการใช้แรงงานลงกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับโรงงานแบบเก่า

การดำเนินงานของบริษัทฯ ช่วยเหล่าเกษตรกรเพาะปลูกอ้อยในท้องถิ่นก้าวสู่ความมั่งคั่ง เช่น หวงหย่งจวิน เกษตรกรคนหนึ่งที่ปลูกอ้อยมานานกว่า 20 ปี มีพื้นที่เพาะปลูกราว 20.83 ไร่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทฯ สร้างรายได้กว่า 1 แสนหยวน (ราว 5 แสนบาท) ในปีก่อน ทำให้เขาสามารถซื้อบ้าน รถยนต์ และทำธุรกิจส่วนตัว

 

(แฟ้มภาพซินหัว : กระสอบน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในคลังสินค้าของบริษัท อีสต์ เอเชีย ชูการ์ กรุ๊ป จำกัด)

อนึ่ง เมืองฉงจั่วมีฉายาว่า "นครแห่งน้ำตาล" และเกษตรกรปลูกอ้อยมากกว่า 350,000 คน ซึ่งลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทฯ อยู่ราว 1.1 แสนคน โดยบริษัทฯ จ่ายเงินค่าอ้อยตรงเวลาและครบถ้วนรวมกว่า 6.5 หมื่นล้านหยวน (ราว 3.25 แสนล้านบาท) รวมถึงจ่ายภาษีราว 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5 หมื่นล้านบาท) ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา

ชูศักดิ์เสริมว่าบริษัทฯ ยินดีเป็นสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือไทย-จีน และใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการพัฒนาตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) กับกลุ่มประเทศอาเซียน

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย (ฉงจั่ว) ก่อตั้งปี 2016 มีทำเลโดดเด่นดังคำเปรียบ "เปิดประตูเป็นเวียดนาม เดินสองก้าวถึงอาเซียน" และความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมแห่งอื่นๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และนิคมอุตสาหกรรมสยามโอเรียนเต็ล

ข้อมูลสถิติระบุว่ามูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน (ราว 100 ล้านบาท) ช่วงสามไตรมาสแรกของปีนี้ สะสมอยู่ที่ 1.07 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.38 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 เมื่อเทียบปีต่อปี

 

(แฟ้มภาพซินหัว : ผลิตภัณฑ์ของบริษัท อีสต์ เอเชีย ชูการ์ กรุ๊ป จำกัด)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : หวงหย่งจวิน ชาวไร่อ้อยตรวจสอบการเจริญเติบโตของต้นอ้อย)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง