“โจมตี รพ.-พลเรือน” ไทยเอาผิดกัมพูชาฐาน อาชญากรรมสงครามได้ไหม ?

ความตึงเครียดระหว่างไทย และกัมพูชาถึงขึดสุด ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิต
นอกเหนือจากปฏิบัติการทางทหาร สิ่งหนึ่งที่สังคมต่างพูดถึง นั่นคือ ไทยจะสามารถเอาผิดกัมพูชา ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ฐานก่ออาชญากรรมสงครามได้หรือไม่ ?
โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่พลเรือน และโรงพยาบาล กลายเป็นเป้าหมายของกัมพูชา จนเข้าข่ายละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่ต้องปกป้องพลเรือน ผู้บริสุทธิ์ จากภาวะสงคราม
ทำความเข้าใจ "ธรรมนูญกรุงโรม" และศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)
“ธรรมนูญกรุงโรม” หรือ “ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ” คือ สนธิสัญญาที่จัดตั้ง “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” (ICC) มีวัตถุประสงค์นำตัวผู้กระทำความผิดอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดมาลงโทษ ยุติการลอยนวลพ้นผิด และป้องกันไม่ให้เกิดอาชญกรรมร้ายแรงกับมนุษยชาติขึ้นอีก
ประเภทคดีที่ศาล ICC รับพิจารณาจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท ตามมาตรา 5 ได้แก่
1. การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
2. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
3. ก่ออาชญากรรมสงคราม
4. อาชญากรรมแห่งการรุกราน
การโจมตีพลเรือนและโรงพยาบาล เข้าข่ายอาชญากรรมสงครามหรือไม่ ?
แล้วการกระทำของกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีโรงพยาบาล หรือ ที่อยู่อาศัยของประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามหรือไม่ ?
ผศ.ดร. ธนภัทร ชาตินักรบ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ และศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้คำตอบประเด็นนี้ไว้ว่า
ถ้ามีข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่า กัมพูชาเป็นผู้โจมตีโรงพยาบาล และพื้นที่พลเรือนก็จะเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม โดยเกณฑ์เบื้องต้นที่จะใช้ในการพิจารณา จะมีประมาณ 3-4 ข้อ
“อันแรกสุดจะดูก่อนว่า มีการโจมตีโดยเจตนาต่อพลเรือนใช่ไหม อันที่ 2 เป็นการโจมตีที่คุณจงใจคุณไม่ได้แยกแยะว่า อันนี้คือเป้าหมายทางทหาร อันนี้คือเป้าหมายทางพลเรือนใช่ไหม เราก็จะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อพลเรือนเกินกว่าเป้าหมายทางทหารอย่างชัดเจน ก็คือเหมือนกับว่ามุ่งเป้าไปที่พลเรือน หรือจริง ๆ อาจจะไม่ได้มุ่งเป้า แต่ว่าคุณไม่ได้สนใจว่า จุดที่คุณยิงเข้าไป มันเป็นพลเรือน หรือว่าทหารเขาอยู่” ผศ.ดร. ธนภัทร กล่าว
“ท้ายที่สุดเนี่ย พอมันเป็นเรื่องของการโจมตีโดยตรงต่อโรงพยาบาล ที่เขาไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อการทหาร อันนี้ก็จะค่อนข้างชัดเจนว่า มันจะเป็นอาชญากรรมสงคราม”
“เงื่อนไขมันอาจจะต้องมีการพิสูจน์นิดนึงว่า การกระทําดังกล่าวของกัมพูชาจะเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามหรือไม่ ก็ต้องดูว่า ถ้ามันมีข้อเท็จจริงสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นการโจมตีโรงพยาบาล พื้นที่ของพลเรือนถูกโจมตีโดยเจตนา คนโจมตีก็รู้อยู่แล้วถึงความเสี่ยงว่า มันอาจจะมีคนได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับความเสียหาย แต่ก็ยังตัดสินใจที่จะดําเนินการต่อ แล้วก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามหลักความจําเป็น หรือความได้สัดส่วน มันก็เข้าข่ายของการที่จะเป็นอาชญากรรมสงครามได้เช่นเดียวกัน” อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ กล่าว
เมื่อถามว่า แล้วถ้าหากกัมพูชายกข้ออ้างขึ้นมาว่า “ไม่มีเจตนา” โจมตีพลเรือน แบบนี้สามารถเอามาใช้สู้ในศาลได้ไหม ?
ผศ.ดร. ธนภัทร ตอบว่า หรือต่อให้อีกฝ่ายอ้างว่า “ไม่เจตนา” ก็ไม่สามารถใช้เป็นข้อแก้ตัวได้ เพราะกฎหมายจะดูที่พฤติการณ์เป็นหลัก
“การกระทําแม้มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเจตนาโดยตรง ในการที่จะสังหารพลเรือน แต่ว่าภายใต้หลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การที่มันไม่มีเจตนา มันก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวนะครับ เพราะว่า กฎหมายเค้าให้ความสําคัญกับพฤติการณ์ ที่ถือว่าคุณเนี่ยละเลยต่อพันธกรณีอย่างร้ายแรงนะครับ หรือว่าอาจจะมีความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”
“การประมาทเลินเล่อร้ายแรง หมายถึง เป็นการกระทําโดยที่ไม่ได้คํานึงถึงผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นกับพลเรือน แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของหลักการแยกแยะนะครับ หลักความได้สัดส่วน ซึ่งเป็นหลักที่กําหนดให้ฝ่ายที่ตัดสินใจว่า คุณจะใช้กําลัง คุณต้องแยกแยะก่อน ว่าอันไหนเป้าหมายทางทหารกับเป้าหมายพลเรือน หรือ วัตถุที่เป็นของพลเรือนให้ชัดเจน”
“การใช้กําลังคุณต้องใช้กําลังอย่างได้สัดส่วน โดยที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพลเรือนเกินความจําเป็นนะครับ ดังนั้นเนี่ย การโจมตีนะครับ แม้จะไม่ได้มีเจตนานะครับ” ผศ.ดร. ธนภัทร กล่าว
บทลงโทษมีอะไรบ้าง บังคับใช้ได้จริงไหม ?
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงการดำเนินคดี เราต้องอยากรู้ว่า ผู้ที่มีความผิดฐานก่ออาชญากรรมสงคราม จะได้รับบทลงโทษอะไรบ้าง แล้วจะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ หากมีคำตัดสินออกมา
มาตรา 77 ระบุเกี่ยวกับบทลงโทษที่บังคับใช้ได้ แบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่
1. การจำคุก
1.1 จำคุกตามจำนวนปีที่ศาลกำหนด แต่สูงสุดไม่เกิน 30 ปี
1.2 จำคุกตลอดชีวิต โดย ICC เมื่อพิจารณาถึงอาชญากรรมนั้น มีความร้ายแรงอย่างยิ่งยวด และพฤติการณ์ส่วนบุคคลของผู้กระทำ
2. การปรับเงิน-ยึดทรัพย์
2.1 ค่าปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาและพยานหลักฐาน
2.2 ยึดทรัพย์สิน ที่ได้จากการกระทำอาชญากรรมนั้น ไม่ว่าจะทางตรง หรือ ทางอ้อม โดยไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลที่สามผู้สุจริต
ทั้งนี้ การโจมตีพลเรือนโดยเจตนา จนถึงแก่ชีวิต หรือ บาดเจ็บสาหัส เป็นหนึ่งในการกระทำที่ถือว่า เป็นอาชญากรรมสงคราม ตามอนุสัญญาเจนีวา และพิธีสารเพิ่มเติมที่ 1 มาตรา 85
“ประเด็นเรื่องของการบังคับใช้ ตามปกติแล้ว ถ้าผู้กระทําความผิดอยู่ในประเทศที่เป็นรัฐภาคีของ ICC ศาลก็อาจจะมีการออกหมายจับนะครับ แล้วก็อาจจะมีการร้องขอให้มีการจับกุมบุคคลดังกล่าว ให้ส่งมาที่ ICC ได้นะครับ” ผศ.ดร. ธนภัทร กล่าว
ผศ.ดร. ธนภัทร กล่าวด้วยว่า หากบุคคลดังกล่าว มีหมายจับของ ICC ถ้าผู้ต้องหาอยู่ในประเทศที่เป็นรัฐภาคี แล้วประเทศนั้น ไม่ส่งตัวมา ศาล ICC ก็จะออกคำวินิจฉัยมาว่า ประเทศดังกล่าว ไม่ให้ความร่วมมือ และอาจส่งเรื่องต่อไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ว่า จะดำเนินการอย่างไร กับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตาม
ไทยจะฟ้องกัมพูชาใน ICC ได้อย่างไร แม้ไม่ใช่รัฐภาคี ?
ถึงไทยไม่ได้สมาชิกรัฐภาคีที่ยอมรับเขตอำนาจศาล ICC ก็จริง แต่ก็มีช่องทางที่ไทยจะสามารถดำเนินคดียื่นดำเนินการผ่านศาล ICC ได้
ผศ.ดร.ธนภัทร กล่าวว่า การที่ไทยจะสามารถทำเช่นนั้นได้ เบื้องต้นต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาก่อนว่า เข้าข่าย 1 ใน 4 คดีที่ศาล ICC รับพิจารณาหรือไม่ พร้อมได้ให้แนวทางที่ไทยจะสามารถยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรับเรื่อง ดังนี้
1. การขอให้รัฐภาคีเป็นผู้ยื่นเรื่องให้
2. การยื่นเรื่องผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เป็นผู้ยื่นให้ แต่แนวทางนี้ ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก เพราะ UNSC จะพิจารณาว่า เหตุการณ์นั้น เป็นภัยต่อความมั่นคงโลกหรือไม่
3. การยอมรับอำนาจศาลเฉพาะรายกรณี ตามมาตรา 12 (3) ซึ่งเป็นหนทางที่ง่ายสุด เพราะแม้ไทยจะไม่ใช่รัฐภาคีศาล ICC แต่ก็มีสิทธิ์ยื่นคำร้องได้
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธนภัทร ยังได้แนะแนวทางว่า ไทยควรรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อส่งเรื่องไปให้องค์กรระหว่างประเทศ, ใช้เวทีสหประชาชาติอย่างเป็นระบบมากขึ้น, กลไกแบบทวิภาคีจำเป็นต้องดำเนินต่อไป และแสดงเจตจำนง ยอมรับเขตอำนาจศาล ICC แบบเฉพาะรายกรณี ต่อเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุปะทะของทั้ง 2 ฝ่ายบนเวทีนานาชาติ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
บทสัมภาษณ์ ผศ.ดร. ธนภัทร ชาตินักรบ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ และศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2568
https://www.icc-cpi.int/about/how-the-court-works
https://www.icc-cpi.int/sites/default/files/2024-05/Rome-Statute-eng.pdf
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
