รีเซต

โดนัลด์ ทรัมป์ คือประธานาธิบดีที่โป้ปดมดเท็จที่สุดของสหรัฐฯ จริงหรือ

โดนัลด์ ทรัมป์ คือประธานาธิบดีที่โป้ปดมดเท็จที่สุดของสหรัฐฯ จริงหรือ
ข่าวสด
10 มีนาคม 2564 ( 14:57 )
56

อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ไม่แยแสต่อความจริงอย่างสิ้นเชิง ทว่าบรรดาผู้นำสหรัฐฯ ในอดีตบางคนก็เคยถูกจับได้ว่าพูดเรื่องเท็จ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องที่ฟังดูแปลกประหลาดไปจนถึงเรื่องที่น่าตกตะลึง

 

ในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนต้องทำงานอย่างหนักในการตรวจสอบข้อมูลที่เอ่ยออกจากปากของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์

 

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์คือฐานข้อมูลสำคัญที่รวบรวมถ้อยแถลงของนายทรัมป์ และพบว่ากว่า 30,000 ถ้อยแถลงของเขาเป็นการกล่าวอ้างความเท็จหรือข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด

 

การพูดไม่ตรงความจริงของเขาในหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง เช่น เรื่องกอล์ฟ หรือความร่ำรวยของเขา แต่บางครั้งถ้อยคำเท็จที่เขาเอ่ยออกมาก็สร้างความเสียหายและดูเป็นการจงใจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ชาวอเมริกัน เช่น การพูดลดทอนความร้ายแรงของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือการกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 โดยที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ใด ๆ

 

BBC

ศาสตราจารย์เอริค อัลเตอร์แมน นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Lying In State: Why Presidents Lie - And Why Trump Is Worse กล่าวว่า คำโป้ปดมดเท็จมากมายของนายทรัมป์ได้ทำลายแนวคิดเรื่อง ความจริงที่คนในสังคมยอมรับตรงกันในการเมืองอเมริกัน

 

เขาชี้ให้เห็นถึงกรณีที่ผู้สนับสนุนนายทรัมป์บุกเข้าไปก่อจลาจลในอาคารรัฐสภา ซึ่งคนเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นกลุ่มสุดโต่งจากทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ของฝ่ายนิยมขวาจัด ทั้งเรื่องการโกงเลือกตั้ง และเรื่ององค์กรลับที่บูชาซาตาน

 

ศาสตราจารย์อัลเตอร์แมนชี้ว่า กรณีเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลที่นายทรัมป์ยุยงให้เกิด "การสร้างโลกที่ไม่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง"

 

แล้วคำโกหกของนายทรัมป์มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับบรรดาผู้นำคนก่อน ๆ

 

สองพ่อลูกตระกูลบุช

ตอนที่ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำเผด็จการของอิรักนำกำลังทหารเข้ารุกรานดินแดนที่อุดมไปด้วยบ่อน้ำมันอย่างคูเวต ในเดือน ส.ค. 1990 อดีตประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ผู้พ่อ ประกาศกร้าวว่า "จะไม่อดทนต่อเรื่องนี้"

แต่ในขณะที่สหรัฐฯ เร่งส่งทหารไปยังอ่าวเปอร์เซีย ประชาชนชาวอเมริกันกลับรู้สึกกังขากับความชอบธรรมของปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้

 

ในตอนนั้น รัฐบาลพลัดถิ่นของคูเวตได้ว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ที่ชื่อ Hill & Knowlton ซึ่งสำนักงานในกรุงวอชิงตัน ดีซี ดำเนินการโดยอดีตหัวหน้าคณะทำงานของนายบุช ผู้พ่อ

บริษัทดังกล่าวได้สร้างพยานเท็จขึ้น เป็นเด็กหญิงวัย 15 ปี ที่ชื่อ "นายิราห์" ซึ่งอ้างว่าเป็นพยานที่ได้เห็นภาพความโหดร้ายจากการกระทำของซัดดัม ฮุสเซน และได้ขึ้นให้การทั้งน้ำตาต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 1990 ว่า ทหารอิรักได้บุกเข้าไปในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในคูเวต แล้วเอาเด็กทารกออกจากตู้อบเด็กแรกเกิด และทิ้งให้เด็กเหล่านี้ต้องตายอยู่บนพื้นอันหนาวเย็น

 

Getty Images
ประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ที่ทำเนียบขาวในปี 1991 ก่อนหน้าการเปิดฉากปฏิบัติการพายุทะเลทรายในตะวันออกกลาง

 

ทว่าหลังจากสงครามจบลง ได้ปรากฏข้อมูลที่นักเขียน จอห์น แมคอาร์เธอร์ นำมาเปิดโปงในหนังสือของเขาที่ชื่อ Second Front, Censorship and Propaganda in the 1991 Gulf War ว่าที่จริงแล้วเด็กหญิงที่อ้างว่าชื่อ "นายิราห์" เป็นบุตรสาวของเอกอัครราชทูตคูเวตประจำสหรัฐฯ และเรื่องราวที่เธอกล่าวอ้างก็ไม่มีมูลความจริงอย่างสิ้นเชิง

มีข้อมูลว่าอดีตประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อ ได้อ้างอิงคำให้การจากพยานเท็จคนนี้อย่างเปิดเผยอย่างน้อย 6 ครั้งในช่วงที่เขาพยายามผลักดันให้สหรัฐฯ ทำสงครามครั้งนี้

 

"ทารกถูกกระชากออกจากตู้อบแล้วโยนไปทั่วพื้นราวกับท่อนฟืน" อดีตผู้นำสหรัฐฯ ระบุในการปราศรัยกับทหารอเมริกันในซาอุดีอาระเบีย

แมคอาร์เธอร์ เขียนไว้ในหนังสือว่า ถ้อยคำหลอกลวงนี้ช่วยให้ได้เสียงสนับสนุนจากคนอเมริกันในการทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย

 

เขาระบุว่าในเดือน ม.ค.ปี 1991 การลงมติขอความเห็นชอบในการทำสงครามจากวุฒิสภาของนายบุช ผ่านการอนุมัติอย่างเฉียดฉิว โดยวุฒิสมาชิก 6 คนอ้างนิทานหลอกเด็กเรื่องทหารฆ่าทารกเป็นเหตุผลสนับสนุนการทำสงครามกับอิรัก

จากนั้นปฏิบัติการพายุทะเลทราย (Operation Desert Storm) ก็เริ่มเปิดฉากขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา

 

แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ มีทารกเสียชีวิตจริง แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนแรกของปฏิบัติการทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ โดยหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า การโจมตีดังกล่าวทำให้ไฟฟ้าดับ ส่งผลให้บรรดาแม่หอบลูกที่เพิ่งคลอดออกจากตู้อบทารกของโรงพยาบาลเด็กแห่งหนึ่งในกรุงแบกแดด แล้วเข้าไปหลบภัยอยู่ที่ชั้นใต้ดินอันหนาวเหน็บ ส่งผลให้ทารกเสียชีวิตกว่า 40 คน

เด็กผู้บริสุทธิ์เหล่านี้คือกลุ่มพลเรือนหลายพันคนที่ต้องสังเวยชีวิตในปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้นที่กินเวลา 42 วัน

 

แม้จะไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าอดีตประธานาธิบดีบุชผู้พ่อล่วงรู้หรือไม่ว่าคำให้การของบุตรสาวเอกอัครราชทูตคูเวตนั้นเป็นเรื่องเท็จ แต่โดยปกติแล้วทำเนียบขาวมีหน้าที่ต้องตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ประธานาธิบดีพูดออกมา โดยเฉพาะในเรื่องที่น่าตกใจเช่นนี้

ขณะที่สื่อมวลชนก็ไม่ได้ตรวจสอบความจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของ "นายิราห์" จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง นอกจากนี้ในหนังสืออัตชีวประวัติของอดีตประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อ ที่เพิ่งจะตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ ก็ไม่มีการเอ่ยถึงเรื่องอื้อฉาวนี้ รวมถึงการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในตอนที่เขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2018

 

ศาสตราจารย์เบนจามิน กินส์เบิร์ก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The American Lie: Government by the People and Other Political Fables ระบุว่า คำโป้ปดของประธานาธิบดีมีอันตรายอย่างมาก

เขายกตัวอย่างถ้อยแถลงของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้เป็นลูก ในตอนที่เขาพยายามขอแรงสนับสนุนจากคนอเมริกันในการทำสงครามอ่าวครั้งที่สอง

 

BBC
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อ้างเหตุผลในการทำสงครามอ่าวครั้งที่สองว่า ซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธทำลายล้างสูงอยู่ในครอบครอง

ในตอนนั้น ประธานาธิบบุช ผู้เป็นลูก ได้เพิกเฉยต่อการตั้งข้อสงสัยของหน่วยงานด้านข่าวกรองเกี่ยวกับเรื่องที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธทำลายล้างสูงอยู่ในครอบครอง หรือแม้แต่เรื่องที่ระบุว่าเขาอาจมีอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ผู้นำสหรัฐฯ ยังยืนยันอย่างมั่นใจถึงเรื่องที่อดีตผู้นำอิรักเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอัลไคดา

ศาสตราจารย์กินส์เบิร์ก ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ กล่าวว่า "เรื่องโกหก" ที่นำไปสู่ปฏิบัติการทางทหารคือสิ่งที่อันตรายที่สุด และที่ผ่านมานายทรัมป์ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายในแง่นี้

 

เขาชี้ว่า ปัญหาเหล่านี้มาจากการที่กระบวนการคัดเลือกผู้นำของอเมริกามีข้อบกพร่องฝังลึกในแก่น จึงทำให้ได้ผู้นำประเทศที่เป็นเช่นนี้ นั่นคือการที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการแข่งขันเพื่อให้ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว ซึ่งทำให้มีเฉพาะคนที่ยโสโอหัง ทะเยอทะยาน และหลงตัวเองมากที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถทำได้

 

ลินดอน เบนส์ จอห์นสัน

นักประวัติศาสตร์หลายคนระบุว่า ในอดีตชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นในประธานาธิบดีอย่างบริสุทธิ์ใจแบบเดียวกับเด็กที่เชื่อมั่นในผู้ใหญ่ ทว่าความรู้สึกไว้วางใจในผู้นำประเทศเริ่มเสื่อมถอยลงในยุคของอดีตประธานาธิบดีคนที่ 36 คือ ลินดอน เบนส์ จอห์นสัน หรือ แอลบีเจ

 

Getty Images

นายโรเบิร์ต เคนเนดี น้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี เคยพูดถึงแอลบีเจว่า "เขาโกหกทุกเรื่องตลอดเวลา เขาโกหกแม้ตอนที่ไม่จำเป็นต้องโกหก"

การโกหกของนายจอห์นสันเกี่ยวกับสงครามเวียดนามนั้น รวมถึงการกุเรื่องการโจมตีทางเรือที่อ่าวตังเกี๋ยในเดือน ส.ค. 1964 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพื่อทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น

 

หลังจากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นายจอห์นสันได้ส่งทหารอเมริกันเข้าไปสู้รบในป่าและทุ่งนาของเวียดนามอย่างลับ ๆ จนในที่สุดมีทหารถูกส่งไปที่นั่นกว่าครึ่งล้านนาย

นายจอห์นสันได้พยายามปิดบังความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของเขาเรื่อยมา ทำให้ผู้สื่อข่าวเรียกรัฐบาลของเขาว่า "ขาดความน่าเชื่อถือ"

 

ริชาร์ด นิกสัน

Getty Images

ขณะที่นายริชาร์ด นิกสัน ผู้มารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนายจอห์นสันก็ให้คำมั่นจะยุติสงครามและการนองเลือดในเวียดนามอย่างมีศักดิ์ศรี ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะทำให้ความขัดแย้งขยายวง ด้วยการสั่งทิ้งระเบิดแบบปูพรมในกัมพูชา ซึ่งเป็นกลางในสงครามนี้

นอกจากนี้ นายนิกสันยังตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องการพยายามปกปิดคดีวอเตอร์เกต (Watergate scandal) ที่เขาพัวพันการสั่งดักฟังคู่แข่งทางการเมืองที่ศูนย์รณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต ซึ่งทำให้ในที่สุดเขาต้องกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ลาออกจากตำแหน่ง

 

โรนัลด์ เรแกน

ในปี 1983 โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐฯ อ้างว่าเขาได้บันทึกภาพความโหดร้ายของค่ายกักกันนาซีในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยทหารสื่อสารที่ประจำการในยุโรป

เขาเล่าเรื่องนี้ให้นายยิตซัค ชาเมียร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลฟังในระหว่างการเยือนทำเนียบขาว

แต่ในความเป็นจริงนั้น นายเรแกนไม่เคยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจนอกประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเลย

 

บิล คลินตัน

ในปี 1998 อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ปฏิเสธผู้สื่อข่าวต่อข้อกล่าวหาว่าเขามีความสัมพันธ์ทางเพศกับนางสาวโมนิกา ลูวินสกี อดีตนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว

การไต่สวนว่าเขากล่าวคำโกหกภายใต้คำสาบานหรือไม่นั้น ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่นการที่เขาใช้บุหรี่ซิการ์ในการทำกิจกรรมทางเพศกับนักศึกษาสาววัย 22 ปีในห้องทำงานรูปไข่

 

แม้ตอนที่นายคลินตันกำลังเตรียมออกโทรทัศน์ในเดือน ส.ค.ปี 1998 เพื่อแสดงความสำนึกผิดต่อการกระทำของตนเอง เขากลับเล่าให้เพื่อนสนิทคนหนึ่งฟังว่า "การโกหกช่วยให้เขารอดพ้น" จากการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

นายคลินตันให้เหตุผลว่า ข้อกล่าวหาอื้อฉาวต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ ถูกเปิดเผยออกมาทีละน้อย ทำให้คนอเมริกันเริ่มชินชาและค่อย ๆ ยอมรับได้กับการกระทำที่น่าละอายใจของเขา และช่วยรักษาอาชีพทางการเมืองของเขาไว้ในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง