รีเซต

วิจัยเผย "คว้าเหรียญทอง" ใน "โอลิมปิก" ดีกว่าเป็นเจ้าภาพเอง ได้ชื่อเสียงแถมประหยัดงบ | Exclusive

วิจัยเผย "คว้าเหรียญทอง" ใน "โอลิมปิก" ดีกว่าเป็นเจ้าภาพเอง ได้ชื่อเสียงแถมประหยัดงบ | Exclusive
TNN ช่อง16
26 กรกฎาคม 2567 ( 16:16 )
20

ถึงแม้ว่าโอลิมปิก 2024 นี้จะได้รับการคาดการณ์ว่าจะไม่ขาดทุน แต่ในระยะหลัง ๆ การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมีแต่คำว่าขาดทุน เห็นได้จากการขาดงบประมานบำรุงรักษาสนามแข่งขัน อย่างในกรีซ อดีตเจ้าภาพโอลิมปิก 2004 หรือขนาดมหาอำนาจโลกอย่างจีน อดีตเจ้าภาพโอลิมปิก 2008 ยังไม่สามารถบำรุกรักษา “สนามกีฬารังนก” ให้คงสภาพเดิมที่ยิ่งใหญ่อลังการได้


คำถามที่ตามมาคือ เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก “ได้คุ้มเสีย” จริงหรือไม่ ? ซึ่งมีงานศึกษาเสนอว่า บางทีการเข้าร่วมแข่งขันและพยายามฝึกฝนนักกีฬาให้ได้ “เหรียญทอง” มากที่สุด อาจเป็นผลดีในการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศ และยังประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการเป็นเจ้าภาพด้วยตนเอง


ได้ไม่คุ้มเสีย


งานศึกษาเสนอว่า โอลิมปิกไม่ได้เป็นเพียงกีฬา แต่เป็นหนึ่งใน Showcase หรือเวทีจัดแสดงขนาดใหญ่ ทำให้บรรดาประเทศต่าง ๆ ต้องการเป็นเจ้าภาพ เพื่อหวังว่าจะได้รับการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ เพื่อเพิ่มชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือกระทั่งดึงดูดการลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจของตนเองเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น


แต่การจะเป็นเจ้าภาพได้นั้น ต้องอาศัยเม็ดเงินจัดงานมหาศาล จึงมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่พร้อมพอที่จะรับหน้าเสื่อ ส่วนใหญ่มักจะเป็นชาติมหาอำนาจหรือมหาอำนาจขนาดกลาง 


ประเทศระดับเศรษฐกิจขนาดกลางหรือประเทศยากจน แทบไม่มีโอกาสใด ๆ ไม่นับความเสี่ยงว่าเป็นเจ้าภาพแล้ว จะไม่ได้รับการยอมรับ เพิ่มชื่อเสียง เพิ่มภาพลักษณ์ หรือเศรษฐกิจเจริญเติบโตได้


งานศึกษาเปิดเผยว่า การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวกลับมีผลกระทบตามมาอย่างมาก อย่าลืมว่า หลังจากจบการจัดโอลิมปิกไปแล้ว ยังมีเรื่อง “Olympics Legacy” เป็นผลสืบเนื่อง อาทิ การบำรุงรักษาสนามแข่งขันที่สร้างขึ้นมาใหม่ การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับภูมิทัศน์หลังต้อนรับนักท่องเที่ยวและแฟนกีฬา หรือกระทั่ง การใช้เงินที่กู้ยืมมาจัดการแข่งขัน 


บ่อยครั้ง เจ้าภาพมักจะใช้เงินเกินตัวไปมากเพื่อหวังผลเพียงระยะสั้น ๆ และไม่คำนึงถึงผลระยะยาวที่ตามมา หรืออาจไม่ได้คิดเรื่องผลลัพธ์ในการ “การันตี” เรื่องการสร้างการยอมรับ ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือเศรษฐกิจใด ๆ ทำให้ไม่แปลกใจที่น้อยครั้งเจ้าภาพเหล่านี้จะได้กำไรหรือคืนทุนหลังจากจบมหกรรมไปแล้ว โชคร้ายอาจจะถึงขนาดเป็นรัฐล้มเหลว (แบบกรีซ) เลยก็ว่าได้


ไม่จัดเอง เน้นเข้าร่วม


เมื่อการเป็นเจ้าภาพเองมีแต่ปัญหา แบบนี้พอจะมีทางออกหรือไม่ ? งานศึกษาดังกล่าวเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องไปรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพด้วยตนเอง ขอเพียงประเทศนั้น ๆ พัฒนานักกีฬาให้มีประสิทธิภาพ และส่งเข้าแข่งขันโอลิมปิก “ให้ได้เหรียญทอง” ก็เท่ากับว่า ประเทศจะได้รับการยอมรับ เพิ่มชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และอาจจะมีผลพวงเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาแทน


ยกตัวอย่าง “ยูเซน โบลท์” นักกรีฑาทีมชาติจาไมกา เจ้าของผลงาน “8 เหรียญทองโอลิมปิก” และเจ้าของสถิติกรีฆา 100 เมตร 200 เมตร และ 4x100 เมตรชาย ทำให้เกิดการยอมรับจากนานาประเทศต่อจาไมกาว่า เป็นดินแดนที่ผลิตนักกรีฑาอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากการรับรู้ว่าเป็นบ้านเกิดของ บ็อบ มาร์เลย์ ศิลปินเร็กเก้ชื่อดัง


หากจะเปรียบเทียบ ให้ลองไปสอบถามผู้คน ก่อนหน้าที่จาไมกาจะมียูเซน โบลท์ และหลังจากที่มียูเซน โบลท์ ว่ารู้จักดินแดนแคริบเบียนแห่งนี้หรือไม่ ? 


สิ่งที่ส่งผลโดยตรงคือเรื่องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เป็นจำนวนกว่า 2 ล้านคนในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2010 พร้อมยกระดับการจ้างงานในประเทศกว่า 7 หมื่นคน


แต่ข้อจำกัดก็มีเช่นกัน เพราะแนวทางดังกล่าวจะได้ผลดีสำหรับ “ประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจหรือประเทศดาวรุ่ง (Emerging State)” เท่านั้น เพราะพวกเขาไม่มีต้นทุน ชื่อเสียง หรือการรับรู้มาก่อน จึงต้องมี Showcase สำหรับการโปรโมต แต่สำหรับประเทศมหาอำนาจหรือมหาอำนาจกลางแล้ว โอลิมปิกไม่ได้เป็นช่องทางเดียวในการแสวงหาสิ่งดังกล่าว เพราะยังมีช่องทางอื่น ๆ อีกมากมายให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออกคุณค่าหรือวัฒนธรรม การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งการบีบบังคับให้ประเทศอื่นนิยมชมชอบตนเอง


เมื่อมาถึงตรงนี้ จึงไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะต้องหันมาเน้นเข้าร่วมอย่างเดียวทั้งหมด ไม่อย่างนั้นโอลิมปิกก็จะไม่มีเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีกต่อไป เพราะการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพในแต่ละครั้ง มีจำนวนเม็ดเงินสูงขึ้นทุกปี ทำให้ไม่แน่ว่า บางทีการจัดโอลิมปิก อาจเป็นเรื่องที่ “รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง” ก็เป็นได้


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง