สตาร์ตอัปลดโลกร้อนทำแปลก ปล่อยบอลลูนซัลเฟอร์เข้าชั้นบรรยากาศ
นิตยสารด้านเทคโนโลยี MIT Technology Review รายงานว่า เมค ซันเซ็ทส์ (Make Sunsets) บริษัทสตาร์ตอัปในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทดสอบปล่อยบอลลูนตรวจอากาศบรรจุอนุภาคกำมะถันขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ซึ่งอาจจะระเบิด และปล่อยซัลเฟอร์ออกมา
เมค ซันเซ็ทส์ ก่อตั้งโดยลุค ไอส์แมน (Luke Iseman) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายฮาร์ดแวร์ของ วาย คอมไบเนเตอร์ (Y Combinator) บริษัทแหล่งรวมสตาร์ตอัป โดยความพยายามแรกเริ่มของบริษัทสตาร์ตอัปแห่งนี้ คืองานด้านวิศวกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะปล่อยอนุภาคซัลเฟอร์เข้าไปในชั้นบรรยากาศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่อวกาศเพื่อลดภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ ก่อนที่บริษัทเมคซันเซ็ทส์จะก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีนี้ พวกเขาก็เคยแอบปล่อยบอลลูนตัวทดลองจากเขตรัฐบาฮากาลิฟอร์เนีย (Baja California) ประเทศเม็กซิโเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และที่ผ่านมาบริษัทแห่งนี้ได้ปล่อยบอลลูนอากาศโดยไม่ได้รับการอนุมัติตามกฎระเบียบ ทั้งยังไม่มีการรับรองจากหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ
บริษัท เมค ซันเซ็ทส์ มีแหล่งรายได้จากการขาย "Cooling Credit" มูลค่า 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 345 บาท สำหรับการปล่อยกำมะถัน 1 กรัม ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นการชดเชยคาร์บอนเครดิต ช่วยลดผลกระทบจากคาร์บอนปริมาณ 1 ตันเป็นเวลา 1 ปี ทำให้บริษัทสตาร์ตอัป เมค ซันเซ็ทส์ สามารถระดมทุนได้ถึง 750,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 26 ล้านบาท จากการแบ่งสัดส่วนร่วมลงทุน และขายคาร์บอนเครดิตให้กับนักลงทุน
ไอส์แมนยังเผยว่า การปล่อยบอลลูน 2 ครั้งแรก เหมือนการทดลองโครงการทางวิทยาศาสตร์มาก พวกเขาทดสอบใส่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2-3 กรัม ลงในบอลลูนตรวจอากาศและอัดก๊าซฮีเลียมในปริมาณที่มากพอที่เขาคิดว่าจะพาพวกมันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ และที่ระดับความสูงนั้น เขาคาดว่า แรงดันอากาศจะทำให้ลูกโป่งแตก และปล่อยอนุภาคกำมะถันที่จะสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไป แต่เนื่องจากบอลลูนเหล่านี้ไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ตรวจสอบ ทั้งไม่มีแม้กล้องบันทึกภาพ จึงไม่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วลูกโป่งดังกล่าวจะเป็นเช่นไร
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับแนวทางของบริษัทนี้ พวกเขากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าทั้งหมดคือการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน ซึ่งอาจลงเอยด้วยการดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในเทคโนโลยีที่ใช้ไม่ได้จริง ด้านไอส์แมนอ้างว่า บริษัทของเขาทำงานด้วยระบบการสร้างแบบจำลองจากฐานข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยังมีข้อกังขาในระบบคาร์บอนเครดิตอย่างมาก เนื่องจากค่าความเย็นที่บริษัทกล่าวอ้างนั้น ไม่สามารถวัดผลได้ นักวิทยาศาสตร์บางคนชี้ว่า วิธีการลดคาร์บอนของบริษัทมีความน่าสงสัย เนื่องจากปกติแล้ว เที่ยวบินพาณิชย์ปล่อยก๊าซกำมะถันที่ 100 กรัมต่อนาที พวกเขาจึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดต้องมีคนไปปล่อยซัลเฟอร์บนชั้นบรรยากาศเพิ่มเติมอีกด้วย
ที่มาของข้อมูล interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Reuters
หมายเหตุ : ภาพใช้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้น