เจาะคลังแสงนิวเคลียร์ อินเดีย-ปากีสถาน เสี่ยงศึกปรมาณูแค่ไหน

กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องหันกลับมาเฝ้าจับตาอีกครั้ง เมื่อความขัดแย้งระหว่างอินเดีย และปากีสถานกลับมาปะทุกันอีกรอบ ตั้งแต่เหตุกราดยิงแคชเมียร์ ต่อมา อินเดียก็ได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่ปากีสถาน และล่าสุด ปากีสถานก็ได้ตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับเช่นกัน จนตอนนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบรายจากทั้ง 2 ประเทศ
แต่สิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจที่สุดคือ ความขัดแย้งของ 2 ประเทศ จะพาไปสู่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ เพราะทั้งอินเดีย และปากีสถานต่างก็ถือครองหัวรบนิวเคลียร์ทั้งคู่
อินเดีย-ปากีฯ ถือหัวรบนิวเคลียร์เกือบเท่ากัน
สมาคมควบคุมอาวุธ ประมาณการณ์ไว้ว่า อินเดียถือหัวรบนิวเคลียร์อยู่ประมาณ 172 ลูก ขณะที่ ปากีสถานถือหัวรบนิวเคลียร์อยู่ที่ประมาณ 170 ลูก จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 ประเทศ ถือหัวรบนิวเคลียร์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน
Statista ระบุว่า ปี 2024 อินเดีย และปากีสถานมีหัวรบนิวเคลียร์เป็นอันดับที่ 6 และ 7 ของโลก ขณะที่ อันดับ 1 คือ รัสเซีย มีอยู่ราว 5,580 ลูก
ขณะที่ ICAN เปิดเผยว่า ปี 2023 อินเดียใช้งบประมาณไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สูงถึง 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปากีสถานใช้ไปราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จุดเริ่มต้นสะสมอาวุธนิวเคลียร์
เรื่องนี้ เราต้องมาเริ่มกันที่อินเดียก่อน เพราะช่วงปลายปี 1950 อินเดียมีการก่อตั้งโครงการนิวเคลียร์ขึ้น ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และแคนาคา
โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์ เพื่อสันติภาพ และอินเดียเองก็ตกลงจะไม่ฉวยโอกาสสร้างอาวุธนิวเคลียร์
แต่สุดท้ายแล้ว ช่วงทศวรรษปี 1960 อินเดียก็ได้เริ่มใช้เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วจากเครื่องปฏิกรณ์ มาแปรรูปเป็นพลูโตเนียมอย่างลับ ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสองวิธีของการผลิตวัสดุที่แตกตัวได้ เพื่อใช้เป็นอาวุธนิวเคลียร์
ต่อมาปี 1974 อินเดียก็เริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก โดยเรียกการทดสอบนี้ว่า “Smiling Buddha” และเผยว่า การระเบิดครั้งนี้มีจุดประสงค์ เพื่อสันติภาพ แต่ทั่วโลกต่างรู้ดีว่า นี่คือการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์
เหตุการณ์นี้ ทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ ออกกฎหมายในปี 1978 เพื่อควบคุมการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ให้ดีขึ้น
หลายปีต่อมา อินเดียก็พัฒนาอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ที่แข็งแกร่งขึ้น และต้องทำให้โลกตะลึงอีกครั้ง เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์นี้สำเร็จในปี 1998
ส่วนเรื่องราวการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในปี 1974 หลังอินเดียมีการทดสอบระเบิดครั้งแรก
สิ่งนั้น กระตุ้นให้ “อับดุล กาดีร์ ข่าน” นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวปากีสถาน เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และเสนอช่วยสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพื่อประเทศ นั่นจึงก่อให้เกิดโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถานขึ้น
ปี 1986 ปากีสถานได้สร้างหัวรบนิวเคลียร์ แต่ยังไม่ได้ทดสอบมัน จนกระทั่งปี 1998 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่อินเดียทดสอบระเบิดชนิดใหม่ ปากีสถานจึงได้แสดงให้โลกเห็นว่า พวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน
หวั่นเกิดสงครามนิวเคลียร์
เมื่อทั้ง 2 ชาติ ต่างฝ่าย ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ที่มีจำนวนใกล้เคียงกันทั้งคู่ แล้วเมื่อความขัดแย้งตึงเครียดมากขึ้น จะนำพาให้ไปสู่การเกิดสงครามนิวเคลียร์หรือไม่
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ เผยว่า ประชาคมระหว่างประเทศ ค่อนข้างเป็นกังวลว่า ความขัดแย้งนี้ จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ แต่มองว่า แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความรุนแรงใส่กัน แต่คงไม่อยากไปถึงขั้นการเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์
“อินเดียเอง ก็รู้ว่า เมื่อไหร่ที่พูดเรื่องนิวเคลียร์ แสนยานุภาพของอินเดียและปากีฯ ก็พอ ๆ กัน เพราะว่า พวกเขามีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่ใกล้เคียงกันมาก”
“อินเดียมีนโยบายไม่ใช้ก่อน ฝั่งปากีฯ แม้จะมีการพูดถึง เรื่องการใช้นิวเคลียร์ หรือเอาเรื่องนี้มาข่มขู่ แต่คิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว ปากีฯ ไม่น่าจะเอานิวเคลียร์มาใช้ เต็มที่ก็จะมีการขู่เพื่อให้เกิดอำนาจป้องปรามอีกฝ่ายหนึ่ง” ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มศว. กล่าว
หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ โลกจะเป็นอย่างไร ?
แน่นอนว่า ไม่มีใครต้องการให้ความขัดแย้งนี้ นำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ พร้อมกับเรียกร้องสันติภาพให้เกิดขึ้นโดย เพราะไม่เช่นนั้น ผลเสียจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์อาจร้ายแรงกว่าที่คิด
เพราะเพียงการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ลูกเดียว ก็สามารถทำให้ประชาชนเสียชีวิตนับล้าน และหากอินเดีย ปากีสถานยิงนิวเคลียร์ใส่กัน แม้จะเป็นการแลกเปลี่ยนอาวุธนิวเคลียร์เพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากถึง 20 ล้านคนในเวลาไม่กี่วัน
ในระยะยาว ผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา อาจส่งผลต่อสุขภาพกับคนที่รอดชีวิต เสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือ มีพันธุกรรมบางอย่างเสียหาย
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ จากควันเขม่าที่ลอยขึ้นไปชั้นบรรยากาศ บดบังแสงอาทิตย์ และจะเป็นปัจจัยที่จะพืชผลทั่วโลกเสียหาย จนทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร และความอดอยากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งท้ายสุดแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในท้ายที่สุด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.statista.com/statistics/264435/number-of-nuclear-warheads-worldwide/