รีเซต

ตูนิเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นแผ่นดินไหวทางการเมือง

ตูนิเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นแผ่นดินไหวทางการเมือง
TNN World
27 กรกฎาคม 2564 ( 10:04 )
128
ตูนิเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นแผ่นดินไหวทางการเมือง
Editor’s Pick: ตูนิเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นแผ่นดินไหวทางการเมือง โค่นรัฐบาลที่บริหารสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว เหมือนกับที่เคยเป็นจุดอุบัติ ‘อาหรับสปริง’ โค่นอำนาจเผด็จการ เมื่อปี 2011 หรือไม่
 
 
 
ประธานาธิบดีรัฐประหารนายกรัฐมนตรี?
 
 
ตอนนี้ ตูนิเซียเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษ หลังเมื่อวันอาทิตย์ (25 กรกฎาคม) ประธานาธิบดี คาอิส ไซเอด สั่งขับไล่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพ้นจากหน้าที่ และระงับกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภา
 
 
ประธานาธิบดีไซเอด ประกาศทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทน โดยอ้างว่า รัฐบาลล้มเหลวรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกระทบเศรษฐกิจและประชาชนออกมาประท้วงรุนแรง
 
 
“ผมเตือนผู้ใดก็ตามที่ใช้อาวุธ...ผู้ใดก็ตามที่ลั่นกระสุน กองทัพเองก็จะตอบโต้ด้วยกระสุนเช่นกัน” ปธน. ไซเอด กล่าวในแถลงการณ์
 
 
ประธานาธิบดีไซเอด กล่าวในแถลงการณ์ว่า เขาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการปลดนายกรัฐมนตรีฮิเชม เมชีชี ออกจากตำแหน่ง และออกรัฐบัญญัติระงับการประชุมรัฐสภาเป็นเวลา 30 วัน
 
 
พร้อมกับระบุว่า เขาจะบริหารประเทศร่วมกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเขาจะเฟ้นหาเองโดยเร็วที่สุด
 
 
 
ปธน. ผู้ขานรับเสียงของประชา หรือเผด็จการ
 
 
การเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีไซเอด ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2019 ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ 1 วันก่อนหน้านั้น มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและพรรคเอนนาห์ดา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองมุสลิมสายกลางที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา หลังจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งแตะ 300 คน ขณะที่การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า
 
 
ประชาชนไม่พอใจมากขึ้นเรื่อง ๆ ในเรื่องของการบริหารงานของรัฐบาล การรับมือโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจ
 
 
เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในตูนิเซียนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติ ‘อาหรับสปริง’ เมื่อปี 2011 และตูนิเซียเป็นประเทศเริ่มต้นของ ‘แผ่นดินไหวทางการเมือง’ ที่สะเทือนเป็นลูกโซ่ไปยังหลายประเทศในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
 
 
 
ความหวัง หรือจุดเริ่มต้นหายนะ
 
 
รานา จาวัด ผู้สื่อข่าว BBC ประจำแอฟริกาเหนือ วิเคราะห์ว่า สำหรับประชาชนหลายคน นี่คือความหวัง หลังเผชิญการบริหารงานที่ผิดพลาดมาตลอดปี
 
 
แต่สำหรับคนอีกกลุ่ม มันมีข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญอยู่ และอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เลวร้ายได้
 
 
คำถามคือ นี่คือการยึดอำนาจโดยประธานาธิบดีแบบเบ็ดเสร็จ หรือเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อนำประเทศกลับมาสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น แล้วฝ่ายค้านจะกระพือแรงสนับสนุนสู่ถนน จนกลายเป็นวิกฤตประท้วงหรือไม่...หากทำเช่นนั้น ฝ่ายค้านต้องการอะไร
 
 
กุญแจสำคัญ คงเป็นนายกรัฐมนตรี (แต่งตั้ง) คนใหม่ และยุทธศาสตร์ที่เขาจะสื่อสารถึงประชาชน ถึงทิศทางต่อไปของประเทศ
 
 
 
มวลชนหนุนโค่นอำนาจนายกฯ
 
 
หลังจากแถลงการณ์ของนายไซเอดไม่กี่ชั่วโมง ประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันในกรุงตูนิส และอีกหลายเมืองเพื่อสนับสนุนเขา ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ออกมาพบปะกับบรรดาผู้สนับสนุนถึงกลางท้องถนนด้วยตนเอง
 
 
ขณะที่ กองทัพสั่งเคลื่อนกำลังทหารเข้าปิดกั้นอาคารรัฐสภาและสถานีโทรทัศน์ของทางการ หมายถึงการเลือกเข้าข้างประธานาธิบดีไซเอดของกองทัพ
 
 
 
การบั่นทอนประชาธิปไตยหรือไม่?
 
 
นายราเชด กานนูชี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเอนนาห์ดา และมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสม กล่าวว่า การกระทำของประธานาธิบดีไซเอด เป็นการก่อรัฐประหารและโจมตีประชาธิปไตย
 
 
เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (26 กรกฎาคม) นายกานนูชี เดินทางมาที่รัฐสภา และประกาศกร้าวว่าจะเปิดประชุมโดยเมินคำสั่งของนายไซเอด แต่ทหารที่ประจำการอยู่ด้านนอกอาคารขัดขวางไม่ให้เขาเข้าไปในอาคารรัฐสภา
จากนั้น เขาก็ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเดินขบวนประท้วงตามถนนเพื่อต่อต้านประธานาธิบดี
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง