รีเซต

นิคมอุตสาหกรรมเตรียมรับผลบวกจากการเปิดประเทศ

นิคมอุตสาหกรรมเตรียมรับผลบวกจากการเปิดประเทศ
TNN Wealth
17 กันยายน 2564 ( 14:21 )
146
นิคมอุตสาหกรรมเตรียมรับผลบวกจากการเปิดประเทศ

ข่าววันนี้  หลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติในเดือนตุลาคมนี้ ก็ส่งผลดีกับหลายภาคส่วนธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และนิคมอุตสาหกรรม โดยในส่วนนิคมอุตสาหกรรมนั้น ผู้ประกอบการหลัก ๆ 3 ราย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ดับบลิวเอชเอ , อมตะ และโรจนะ ก็เตรียมรับนักลงทุนเต็มที่ 


โดยนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและก้าวไปสู่การเปิดประเทศ บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 64 เท่ากับ 1,030 ไร่ โดยแบ่งเป็นยอดขายที่ดินในประเทศไทยจำนวน 725 ไร่ และเวียดนามจำนวน 305 ไร่


ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 12 แห่ง (11 แห่งในไทยและ 1 แห่งในเวียดนาม) มีลูกค้า 867 ราย มีพื้นที่รวมทั้งหมด 68,000 ไร่ โดยเป็นพื้นที่มีลูกค้าดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและกำลังพัฒนา 49,900 ไร่ ในประเทศไทยและเวียดนาม 


ซึ่งในรอบ 6 เดือน แรกของปี 64 มียอดขายที่ดิน 274ไร่ แบ่งเป็น 241 ไร่ ในประเทศไทย และ 33ไร่ ในประเทศเวียดนาม และอยู่ในกระบวนการซื้อขายอีก 83 ไร่ มีรายได้จากการขายพื้นที่ในนิคมฯ 691.8 ล้านบาท โดยในปี 2564 จะเดินหน้าก่อสร้างนิคมฯแห่งใหม่ในไทยอีก 2 แห่ง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปี 2564


“สภาวะการลงทุนของประเทศไทยในไตรมาสที่ผ่านมาที่เริ่มกลับมาส่งสัญญาณเชิงบวก โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น ยุโรป จีนและไต้หวัน รวมถึงนักลงทุนอินเดียที่แสดงความสนใจย้ายฐานการผลิตมายังไทยมากขึ้น ภายหลังจากประเทศอินเดียต้องประสบกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา”


นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ในส่วนของการดำเนินงานของอมตะไตรมาส 1 และ 2/2564 ถือว่าเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ที่ข้อตกลงการซื้อ-ขายจะมีจำนวนน้อยมากเป็นไปตามไซเคิลแต่ละปีอยู่แล้ว 


ส่วนใหญ่ข้อตกลงที่มีการเซ็นสัญญากัน จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของทุกปี ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดภาพการเจรจาซื้อขายที่ดิน แตกต่างจากภาวะปกติ เพราะติดการเดินเข้ามาประเทศไทย จึงใช้วิธีการเจรจาผ่านระบบออนไลน์เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดในพื้นที่ดินให้กับลูกค้า ซึ่งสามารถดำเนินการในระดับหนึ่ง แต่การตัดสินใจซื้อที่ดินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกลุ่มลูกค้าต้องเดินทางเข้ามาเห็นพื้นที่จริง เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูง จำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ


อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่ายอดขายที่ดินยังเป็นไปตามเป้าหมายในปี 64 ที่วางไว้ 650 ไร่ ทั้งไทยและเวียดนาม ยังมั่นใจว่านักลงทุนที่สนใจประเทศไทยยังคงลงทุนต่อเนื่อง และหากรัฐบาลสามารถปลดล็อกเงื่อนไขผ่อนปรนการเข้าประเทศให้กับนักลงทุนได้ เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนในนิคมฯ จะเป็นไปตามแผน 


นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า โรจนะมีนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่ง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 6 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 3 แห่ง ได้แก่ นิคมฯโรจนะชลบุรี2 (เขาคันทรง) นิคมฯโรจนะ (แหลมฉบัง) และล่าสุดนิคมฯโรจนะหนองใหญ่ 


โดยบริษัทฯ มีความมั่นใจในศักยภาพของ อีอีซี จึงได้มุ่งขยายการลงทุนในพื้นที่นี้ ซึ่งในบริษัทฯ ยังมีพื้นที่แลนด์แบงค์ในการพัฒนานิคมฯใน อีอีซี ได้อีกประมาณ 5 พันไร่ รวมทั้งยังได้ขยายพื้นที่นิคมโรจนะอยุธยา เพิ่มขึ้นอีก 800 ไร่ ทำให้มีพื้นที่นิคมฯอยุธยากว่า 1.5 หมื่นไร่


ขณะนี้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจมาซื้อพื้นที่ แต่เข้ามาไม่ได้จากปัญหาโควิด ซึ่งมั่นใจว่าหากโควิดคลี่คลายเปิดให้ต่างชาติเข้ามาได้จะเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยในช่วงต้นปี 2563 ได้ลดเป้าหายยอดขายพื้นที่จากเดิมที่ตั้งไว้ปีละ 1,000 ไร่ เหลือ 400-500 ไร่ แต่เมื่อถึงสิ้นปี 2563 ยอดขายพื้นที่ได้ 1,200 ไร่ สูงกว่าที่คาดไว้มาก 


ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในอีอีซีและเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะผลกระทบจากโควิด-19 และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยจำนวนมาก


ส่วนปี 2564 ตั้งเป้าหมายเพียง 500 ไร่ เพราะยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์โควิด-19 แต่คาดว่าสถานการณ์จะดีกว่าปี 2563 เพราะวัคซีนได้เริ่มมาแล้วและต่างชาติเริ่มทยอยฉีดวัคซีน ซึ่งหากเปิดประเทศได้จะมีนักลงทุนเข้ามาจำนวนมาก

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง