รีเซต

หมดฝน - เจอฝุ่น คาด PM 2.5 รุนแรงกว่าทุกปี ความท้าทายด้านภัยพิบัติในยุคโลกเดือด

หมดฝน - เจอฝุ่น คาด PM 2.5 รุนแรงกว่าทุกปี ความท้าทายด้านภัยพิบัติในยุคโลกเดือด
TNN ช่อง16
9 ตุลาคม 2567 ( 18:30 )
22
หมดฝน - เจอฝุ่น คาด PM 2.5 รุนแรงกว่าทุกปี ความท้าทายด้านภัยพิบัติในยุคโลกเดือด
แม้ว่าภาคเหนือ และ ภาคกลางตอนบนยังต้องเผชิญกับอุทกภัย และ พายุฝนจะโหมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง แต่ทันทีที่เมฆฝนเริ่มจางหายเพียงเล็กน้อย ภัยพิบัติชุดต่อไปก็เริ่มเข้าโจมตีในทันที  

กรุงเทพมหานคร ที่กำลังรับศึก 2 ด้าน จากการเฝ้าระวังน้ำจากทางตอนเหนือที่ระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ต้องรับศึกเพิ่มขึ้นอีกด้านจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา กทม. พบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 16 พื้นที่ เสี่ยงต่อสุขภาพคนกรุงเทพ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อากาศหนักสุดอยู่ที่ เขตหนองแขม ทำให้ กทม. ต้องแจ้งเตือนประชาชน คนทั่วไป ใส่หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร รวมถึงงดกิจกรรมกลางแจ้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ดร.สนธิ คชวัฒน์  ชี้ว่าปัญหาฝุ่นที่โรมรันเข้ามาในช่วงเดียวกับปัญหาอุทกภัยเป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฝนตกหนักมากผิดปกติ เมื่อฝนตกหนักมากก็ทำให้ความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้น เมื่อต้องเจอกับความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือของทวีปเคลื่อนตัวลงมาปกคลุมพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งความกดอากาศที่ปกคลุม ปิดกั้นไม่ให้อากาศร้อนและฝุ่นต่าง ๆ ที่สะสมตัวอยู่ภายในอากาศไหลผ่านไปได้ส่งผลให้ PM 2.5 รุนแรง 
“คาดว่าปีนี้ปัญหา PM 2.5  จะรุนแรงมากขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะในวัฏจักรของโลกปัจจุบัน จะพบว่าพายุมีความรุนแรงขึ้น ฝนตกหนักมากขึ้น ฤดูหนาวแห้งแล้งมากขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น 

แม้ว่าในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาภาครัฐจะรับมือกับ PM 2.5 ได้ดีขึ้น เพราะมีการเข้าไปควบคุมต้นตอมลพิษได้มากขึ้น แต่ในปีนี้ปัญหาหลัก คือ เรื่องของสภาพอากาศที่จะทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รุนแรงขึ้น เหมือนกับที่ปัญหาอุทกภัยในปีนี้ก็รุนแรงขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน” ดร.สนธิ คาดการณ์ถึงปัญหา PM 2.5 ที่คาดว่าตะหนักหน่วงที่สุดในรอบหลายปี 


ดร.สนธิ มองว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดการได้ในเร็ววันนี้ แต่สิ่งที่จะช่วยลดปัญหาให้เบาบางลงได้ คือการนำบทเรียนจากอุกทภัยที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ เชียงราย และ ลำพูน มาเป็นบทเรียนในการปรับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติ  รวมถึงการเข้าไปจัดการที่ต้นตอของมลพิษ โดยเข้าไปควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นจิ๋ว ทั้งการเผา ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ และ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม  

“เครื่องมือสำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 คือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งเป็นกลไกแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและกฎหมายสำหรับบังคับใช้  โดยร่าง พ.ร.บ.ได้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ และฉบับอื่นรวม 7 ฉบับ พร้อมตั้งกมธ. พิจารณารายละเอียด ซึ่งขณะนี้ผ่านมากว่า 9 เดือนยังไม่มีความคืบหน้า จึงคาดว่าปัญหาปีนี้น่าจะยังไม่สามารถนำกฎหมายอากาศสะอาดมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้” ดร.สนธิทิ้งท้าย 


สุดท้ายการรับมือกับภัยพิบัติชุดต่อไปอย่าง PM 2.5 อาจต้องขึ้นอยู่กับมาตรการระยะสั้น เพราะกลไกสำคัญเช่นกฎหมายอากาศสะอาด ยังไม่คลอดออกมา และ คงต้องรอดูว่าความรุนแรงของ PM 2.5 ปีนี้จะรุนแรงในระดับใด จะสร้างประวัติการณ์ภัยพิบัติเหมือนกับอุทกภัยเชียงใหม่-เชียงรายที่ทุบสถิติความรุนแรงที่สุดในรอบ 60-70 ปีหรือไม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง