“New Normal” ความปกติใหม่ของชีวิตประจำวันหลังพ้นโควิด-19
ช่วงนี้หลายคนรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นหลังจากที่รัฐฯ ได้ออกมาประกาศคลายล็อคดาวน์ของเฟสที่ 2 และเริ่มให้คนออกมาข้างนอกได้ แต่ยังคงมาตรการเคอร์ฟิวอยู่ ซึ่งการออกมาข้างนอกนั้นการใช้ชีวิตของคนจะเปลี่ยนไป เพราะการแพร่โรคระบาดโควิด-19 ก็ยังไม่หมดไปเช่นกัน “New Normal” จึงกลายเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนที่กำลังจะเปลี่ยนไป
ซึ่งความหมายของ New Normal นั้น ในที่นี้หมายถึง “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” คือ การที่คนกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ แต่จะมีสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ พฤติกรรมรูปแบบใหม่ของผู้บริโภคที่จะใช้ชีวิตประจำวันโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อของผ่านออนไลน์ หรือพฤติกรรมในด้านสุขอนามัยของคนที่จะมีการรักษาความสะอาดและป้องกันมากกว่าเดิม โดยคำว่า New Normal มาจาก ผู้ก่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ชาวอเมริกัน บิลล์ กรอส (Bill Gross) จากการที่เขาได้ใช้อธิบายถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 2007-2009 นั่นเอง
ยกตัวอย่าง New Normal จากการที่คนไทยกำลังเจอกับวิกฤตโควิด-19 ตอนนี้ คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น อย่างการทำงานที่บ้าน (Work For Home) เพราะช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายบริษัทมีการอนุโลมให้ทำงานที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์เข้ามาช่วยจนทุกวันนี้การทำงานที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว รวมถึงสถานศึกษาหลายที่ได้มีการจัดให้มีการเรียนการสอนทางออนไลน์ และหลายธุรกิจก็เริ่มที่จะหันมาสนใจการค้าขายทางออนไลน์กันมากขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาแล้ว พฤติกรรมการดูแลสุขภาพก็เปลี่ยนไปด้วย จากการที่คนเริ่มออกมานอกบ้านเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะรู้ว่าคนมีระยะห่างทางสังคมในการใช้ชีวิตมากกว่าแต่ก่อน มีการพกเจลล้างมือติดตัว รวมไปถึงการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ส่วนในด้านอาหารคนจะใหความสำคัญกับเรื่องสุขลักษณะอนามัยมากยิ่งขึ้น และจะเลือกดูที่วิธีการปรุง ความสะอาด รวมถึงกล่องบรรจุที่ใส่อีกด้วย
โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ต้องคอยระมัดระวัง และเข้มงวดกับการใช้ชีวิตให้มากขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะมนุษย์ขึ้นชื่อในเรื่องการปรับตัวได้เร็วกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ดีอยู่แล้ว