รีเซต

ทช. เผยประชาชนงดเที่ยวทะเลช่วงโควิด ทำชายหาดภูเก็ต-พังงาสะอาด เต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่มากขึ้น

ทช. เผยประชาชนงดเที่ยวทะเลช่วงโควิด ทำชายหาดภูเก็ต-พังงาสะอาด เต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่มากขึ้น
มติชน
15 เมษายน 2563 ( 16:53 )
252
2
ทช. เผยประชาชนงดเที่ยวทะเลช่วงโควิด ทำชายหาดภูเก็ต-พังงาสะอาด เต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่มากขึ้น
 

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ตามแนวชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา รวมทั้งสิ้น 11 รัง ก่อนที่ลูกเต่ามะเฟืองจะทยอยฟักออกมาและพากันคลานลงสู่ทะเลตรงกับช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดหนักไปทั่วประเทศ ลูกเต่ามะเฟืองเกิดใหม่ในฤดูนี้มีปริมาณมากกว่าฤดูไหนๆ ในรอบกว่าสองทศวรรษ

 

สำหรับปรากฏการณ์ฤดูวางไข่ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มีรายงานว่าพบแม่เต่ามะเฟือง 4 – 5 ตัว ขึ้นวางไข่ 4 พื้นที่ ได้แก่ หาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และหาดทรายแก้ว – หาดไม้ขาว – หาดในทอน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รวมทั้งหมด 11 รัง (ถูกขโมย 1 รัง) แต่ละรังมีไข่ประมาณ 60- 120 ฟอง โดยรังแรกเกิดขึ้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2562 และรังสุดท้ายเกิดขึ้น 10 กุมภาพันธ์ 2563 ระยะเวลาฟักไข่จะอยู่ในช่วง 54 – 65 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของหลุมทราย แม่เต่ามะเฟืองจะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง

 

จากนั้นจึงคลานลงสู่ทะเล ปล่อยให้ลูกเต่าฟักออกมาเป็นตัวเพียงลำพัง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55 – 60 วัน ในระหว่างนี้อุณหภูมิจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่ออัตราการฟัก ระยะเวลาที่ใช้ฟัก และที่สำคัญเป็นตัวกำหนดเพศของลูกเต่า

 

โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัวจะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1 – 2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเลลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้อง ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่

 

 

นายโสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันเต่ามะเฟืองตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็เนื่องจากผลกระทบจากการทำประมง แหล่งวางไข่ถูกรบกวนจากการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว การลักลอบเก็บไข่เต่า และขยะทะเล ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเวรยามเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย

 

พร้อมจัดทีมนักวิชาการลงพื้นที่ และติดตั้งระบบติดตามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อวิเคราะห์และวางมาตรการดูแลเต่ามะเฟืองให้ดีที่สุด รวมทั้งหาวิธีให้ประชาชนรับทราบข่าวและสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ เช่นเดียวกับกรณี น้องพะยูน และมาเรียม เพราะว่าหากปล่อยให้มีการชมหรือเข้าถึงอย่างใกล้ชิด อาจจะเกิดการรบกวนหรือทำให้การฟักตัวไม่สมบูรณ์ก็เป็นได้ นอกจากเต่ามะเฟืองแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ให้ความสำคัญกับสัตว์ป่าสงวน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเตรียมหามาตรการและประสานความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ให้ช่วยกันสอดส่องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป


สำหรับการกลับมาของแม่เต่ามะเฟืองและสัตว์ทะเลหายากในช่วงนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีว่า มาตรการอนุรักษ์ที่เข้มข้นโดยเฉพาะการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นมีความจำเป็น โดยที่ผ่านมาเรามีมาตรการในระดับหนึ่งแล้วแต่สภาพแวดล้อมก็ยังเสื่อมโทรม แสดงว่าการอนุรักษ์ยังไม่เข้มข้นพอที่จะรักษาความสมบูรณ์ของทะเลเอาไว้ได้ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ชายหาดสาธารณะต่างๆ เราไม่เคยมีแนวทางนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ก็มีผู้ประกอบการมากขึ้น ทำให้มีการใช้ทรัพยากรและการทิ้งของเสียจึงมีมากขึ้นตามมา ถ้าพูดในเชิงของนักอนุรักษ์ วิธีการที่ดีที่สุดคือไม่เข้าไปใช้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงมันไม่สามารถทำได้เพราะเราต้องคำนึงถึงเชิงเศรษฐกิจ ต้องหาจุดสมดุลว่าทำอย่างไรถึงจะใช้ประโยชน์ได้และรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรไว้ได้ด้วย

 

 

นายโสภณ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ขณะนี้โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วประเทศไทย จึงทำให้ประชาชนงดการเดินทางไปท่องเที่ยวตามชายหาด ซึ่งเป็นผลดีในการลดผลกระทบจากการรบกวนในช่วงเพาะฟักและช่วงที่ลูกเต่ามะเฟืองฟักจากไข่ เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น มีสมาธิและไม่ต้องรับแรงกดดันให้ต้องช่วยเหลือลูกเต่าจนผิดธรรมชาติจนเกินไป ตนเองในฐานะที่เป็นผู้นำด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เต่ามะเฟืองไม่ได้หายไปไหน และขอฝากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเป็นหูเป็นตาในการแจ้งเบาะแส ตลอดจนดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้สมบูรณ์ เพื่อในอนาคตลูกเต่ามะเฟืองที่เราเคยดูแลเพาะฟักเหล่านี้ จะย้อนกลับมาวางไข่อีกครั้งในอนาคต

 

 

“ถ้าถามว่าการลดลงของนักท่องเที่ยวตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 มีส่วนทำให้เกิดผลดีหรือไม่ ขอตอบเลยว่า “โดยหลักการแล้ว การลดลงของนักท่องเที่ยวน่าจะมีผลดีต่อระบบนิเวศทางทะเล เพราะว่าเมื่อมนุษย์ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยลง สัตว์ทะเลหายากก็ได้กลับมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้มากขึ้น ทั้งนี้ ทางกรมฯ ยังไม่ได้เก็บข้อมูลที่ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาดและระบบนิเวศทางทะเลหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง แต่โดยหลักการแล้วปริมาณนักท่องเที่ยวที่น้อยลง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งน้อยลง น้ำเน่าเสีย ของเสีย และขยะต่างๆ ก็ลดลงตามไปด้วย จึงมีโอกาสที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสัตว์ทะเลหายาก และระบบนิเวศทางทะเล ได้พักและฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง” นายโสภณ กล่าว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง