ไทยยังเสี่ยงแผ่นดินไหวใหญ่ จับตารอยเลื่อนแม่จัน-สกาย อาจเกิดซ้ำใน 50-100 ปี

ศาสตราจารย์ ดร. สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังที่ประกาศโดยกรมทรัพยากรธรณีทั้งหมด 16 กลุ่ม แต่หากพิจารณารัศมีที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยได้ในระยะ 300 กิโลเมตร จะพบว่า มีรอยเลื่อนมีพลังรวมถึง 55 กลุ่ม กระจายอยู่ในประเทศไทย เมียนมา และ สปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เกิดการเคลื่อนตัวตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงรุนแรง
หนึ่งในรอยเลื่อนสำคัญที่นักวิชาการจับตาอย่างใกล้ชิดคือ “รอยเลื่อนสกาย” (Sagaing Fault) ในประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวได้รุนแรง โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาในเมียนมา ส่งแรงสั่นสะเทือนเข้ามายังภาคเหนือของไทย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กใน อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้จะยังไม่กระตุ้นให้รอยเลื่อนในไทยเคลื่อนตัว แต่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม
นอกจากนี้ รอยเลื่อนที่อยู่ในเขตประเทศไทยเองก็ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะ “รอยเลื่อนแม่จัน” ซึ่งพาดผ่าน จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ขณะที่ กลุ่มรอยเลื่อนทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย แม้จะเคลื่อนไหวน้อย แต่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางถึงรุนแรงได้ในอนาคต
สำหรับ “รอยเลื่อนแม่จัน” เป็นรอยเลื่อนมีพลังที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย พาดผ่านหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา โดยเฉพาะในเขตอำเภอแม่จัน แม่สาย ฝาง และแม่แตง รอยเลื่อนนี้จัดอยู่ในประเภท "รอยเลื่อนตามแนวราบด้านขวา" (right-lateral strike-slip fault) ซึ่งหมายความว่าเปลือกโลกทั้งสองฝั่งของรอยเลื่อนมีการเคลื่อนที่สวนทางกันในแนวราบ พลังงานจากการเคลื่อนตัวสะสมอย่างช้า ๆ โดยมีอัตราการเลื่อนประมาณ 0.1–0.3 มิลลิเมตรต่อปี แม้จะเป็นอัตราที่ไม่สูงมาก แต่สามารถสะสมพลังงานไว้จนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
จากการศึกษาของนักธรณีวิทยา รอยเลื่อนแม่จันมีศักยภาพในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5–7.0 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งถือว่ารุนแรงและสามารถสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่โดยรอบได้ โดยเฉพาะหากจุดศูนย์กลางอยู่ตื้นและใกล้พื้นที่ชุมชน
แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รอยเลื่อนแม่จันยังไม่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แต่มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เป็นระยะ ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการเคลื่อนไหวที่ต้องเฝ้าระวัง
กรมทรัพยากรธรณีจัดให้รอยเลื่อนแม่จันเป็นหนึ่งใน 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย และอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดสำหรับการเกิดแผ่นดินไหวที่อาจกระทบต่อพื้นที่เมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐานในภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่
ศ.ดร.สันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวทุกครั้งจะถูกนำไปประเมินทั้ง ความถี่ของการเกิด และขนาดความรุนแรงสูงสุด เพื่อใช้ประกอบในการออกแบบโครงสร้างวิศวกรรม เช่น อาคาร เขื่อน และบ้านเรือน โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ถือว่า สิ่งปลูกสร้างในไทยสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี ยกเว้นบางอาคารที่โครงสร้างไม่แข็งแรงจนถล่มลงมา
“ประเทศไทยมีโอกาสเผชิญแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคตแน่นอน เพียงแต่เราไม่สามารถคาดเดาเวลาได้อย่างแม่นยำ ความถี่ของเหตุการณ์ใหญ่จะอยู่ในช่วง ทุก 50–100 ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผนรับมือและออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้พร้อมรับแรงสั่นไหวอยู่เสมอ” ศ.ดร.สันติกล่าว