รีเซต

ส.อ.ท.ห่วง 2 ล้านบัญชีกู้นอกระบบ-ปิดตัว หากยืดหนี้ไม่สำเร็จ เร่งรัฐ-แบงก์ชาติ

ส.อ.ท.ห่วง 2 ล้านบัญชีกู้นอกระบบ-ปิดตัว หากยืดหนี้ไม่สำเร็จ เร่งรัฐ-แบงก์ชาติ
มติชน
12 ตุลาคม 2563 ( 06:29 )
59
ส.อ.ท.ห่วง 2 ล้านบัญชีกู้นอกระบบ-ปิดตัว หากยืดหนี้ไม่สำเร็จ เร่งรัฐ-แบงก์ชาติ

ส.อ.ท.ห่วง2ล้านบัญชีกู้นอกระบบ-ปิดตัว หากยืดหนี้ไม่สำเร็จ เร่งเคาะวันถกรัฐ-แบงก์ชาติ หนุนเจ้าสัวซีพีกู้ 10 ล้านล้านช่วยเอสเอ็มอี

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการหารือกับภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สถาบันการเงิน และเอกชน ถึงข้อเสนอมาตรการพักชำระหนี้เอสเอ็มอีที่เผชิญกับโควิด-19 ว่า ปัจจุบันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐค่อนข้างเพียงพอ ทั้งการเติมเงินบัตรสวัสดิการคนจน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือกระแสเงินสดของผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ธุรกิจเล็กๆ ที่จะมีปัญหาหลังมาตรการพักชำหนี้ของธปท.หมดลงวันที่ 22 ตุลาคมนี้ โดยช่วงที่น่าห่วงอย่างมากคือต้นปี 2564 เรื่องนี้ทราบดีว่าเป็นอำนาจของธปท. ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังพยายามนัดคุยอยู่ เบื้องต้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ระบุวันที่ 14 ตุลาคมนี้ แต่ส.อ.ท.ไม่สะดวกจึงกำลังขอขยับวันหารือ

 

“กำลังหารือกับสศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเป็นวันไหน เพราะข้อเสนอนี้เป็นของส.อ.ท. หากกำหนดวันแต่ส.อ.ท.ไม่ได้เข้าร่วมคงไม่ใช่”นายสุพันธุ์กล่าว

 

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า หากมีมาตรการพักชำระหนี้ไม่ว่าจะ 1 หรือ 2 ปี ก็เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการให้มีกระแสเงินสดในการพยุงธุรกิจให้อยู่ต่อไป เพราะหากปล่อยให้ผู้ประกอบการรายเล็กล้มหายตายจากจะส่งผลต่อการจ้างงาน มีการเลิกจ้าง ตอนนี้มี 10 ล้านบัญชีเป็นรายเล็ก จากทั้งหมดกว่า 12 ล้านบัญชีที่มีปัญหา ถ้าไม่รีบแก้ไขตรงนี้ปล่อยให้ล้มคนอีกหลายล้านจะตกงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังซื้อเริ่มแผ่วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะมาตรการช่วยเหลือจากรัฐจบลง แต่จากมาตรการใหม่ของรัฐบาลที่ออกมาก็น่าจะช่วยได้บ้าง ค่อยๆฟื้น เพราะคนทุกระดับได้ประโยชน์ คนจนได้บัตรสวัสดิการ แรงงานทั่วไปใช้คนละครึ่ง คนมีฐานะได้สิทธิทางภาษี และมาตรการท่องเที่ยวอีก

 

“ถ้าเอสเอ็มอีรายย่อยทั้ง 10 ล้านบัญชีมีปัญหา ต้องเริ่มจ่ายหนี้แบงก์ขณะที่รายได้ กำไร ยังไม่มี ก็อาจหันไปพึ่งเงินกู้ใต้ดิน เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยแพง คนกู้ได้ก็เหนื่อย คนกู้ไม่ได้ก็เจ๊ง เกิดปัญหาตามมาอีก คิดง่ายๆคนเป็นเอ็นพีแอลทำธุรกิจไม่ได้อยู่แล้วต้องพึ่งเงินนอกระบบ ต้องใช้เงินสด โดยกลุ่มนี้หากมีแค่ 20% หรือ 2 ล้านรายที่ต้องกู้เงินนอกระบบ หรือปิดกิจการก็แย่แล้วสำหรับประเทศไทย เป็นตัวเลขที่ประเมินขั้นต่ำแล้ว”นายสุพันธุ์

 

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับกรณี น​ายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เสนอรัฐบาลออกบอนด์ในประเทศ 30 ปี กู้ 10 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 0.5% ปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่ชำระหนี้ดี แต่เจอพิษโควิด-19ส่อล้มละลาย นั้น เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันไม่รู้ว่าจะเกิดความเสียหายอีกยาวนานแค่ไหน รัฐบาลควรมีทุนสำรองไว้พอสมควรที่ใช้ได้เลย ซึ่งการกู้เงินสามารถนำมาใช้ได้เลยเมื่อจำเป็น ส่วนจำนวนที่เหมาะสมนั้นทางส.อ.ท.เองเคยเสนอที่ 1 ล้านล้านบาท หากจะมากกว่านั้นก็อยู่ที่รัฐบาลจะพิจารณาความเสียดาย

 

“การกู้มาก็เป็นประโยชน์กับประเทศ ดอกเบี้ยถูก เครดิตประเทศดี ถ้าอัดฉีดผู้ประกอบการให้แข็งแกร่ง แรงงานจะแข็งแรงด้วย เพียงแต่ต้องทำให้ผู้ประกอบการแข็งแกร่งกระจายตัว ไม่ใช่กระจุกตัว”นายสุพันธุ์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง