บิ๊กตู่ บ่น เจ็บหู หลังจบประชุมสภา ย้ำ เห็นด้วยแก้รธน.-ตั้งกก.หาทางออก
บิ๊กตู่ บ่น เจ็บหู หลังจบประชุมสภา ย้ำ เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ-ตั้ง กก.หาทางออก ไม่ขัดตัดอำนาจ สว.เลือกนายกฯ ฝากเอ็นจีโออาศัยอยู่ในไทยเคารพกฎหมายด้วย
เมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 28 ต.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้าเนือย ๆ เพียง 6 นาที ว่า "ไม่เหนื่อย ไม่เคยเหนื่อยอยู่แล้ว"
ผู้สื่อข่าวถามว่าสบายใจขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบ แต่เมื่อถามย้ำอีกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "สบายใจ แต่ไม่สบายกายเพราะเจ็บหู"
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สอบถามผู้สื่อข่าวว่า ได้ดูถ่ายทอดสดการประชุมสภาหรือไม่ และถ้าดูก็อย่าถามอะไรตนมากเพราะพูดไปหมดแล้ว วันนี้ถามว่าอยากพูดอะไรผ่านสื่อบ้างหรือไม่ ที่ผ่านมาพูดไปทุกครั้งและยืนยันหลายครั้งแล้ว รวมถึงในการประชุมสภาว่าตนเอง จำเป็นต้องนำพาประเทศต่อไปให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในทุกเรื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งปัญหาการเมืองที่เกิดในครั้งนี้คงไม่ใช่ตนและรัฐบาลฝ่ายเดียวทุกคนต้องร่วมมือกันหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกันอย่างประนีประนอมและสันติวิธีที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะนี่คือประเทศไทยและทุกคนก็คือคนไทย จึงไม่เกลียดใครทั้งสิ้นไม่ว่าใครจะว่าร้ายอะไรก็ตาม ตนก็รับฟังและอดทน เพราะเป็นนายกฯ ต้องอดทนจะโมโหอะไรมากไม่ได้ และไม่โกรธง่าย พูดจาต้องไพเราะ วันนี้ตนก็พูดเพราะกว่าหลาย ๆ คนที่ได้ยินมาในขณะนี้
เมื่อถามถึงข้อเสนอใดบ้างจากที่ประชุมรัฐสภาที่รัฐตอบรับ และจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพื่อหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางออกมีอยู่แล้ว ก็ขอให้เจอทางออกที่ว่านั้น ซึ่งไม่มีปัญหาอะไรที่เราแก้ไม่ได้ จึงขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าเราจะต้องช่วยกันเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศของเรา ซึ่งไม่ใช่ตนคนเดียว แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
นายกฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในการประชุมทั้ง 2 วันที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณประธานรัฐสภา และสมาชิกทุกคนที่มีการพูดจาอภิปรายหารือกันโดยสงบเรียบร้อย แม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสภาประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องพิจารณาแล้วกันว่ามีความเหมาะสมอย่างไร ซึ่งสภาประเทศไทยไม่ควรเหมือนต่างประเทศที่ทำกันในหลายอย่างที่เป็นพฤติกรรมของต่างประเทศ
"เรื่องที่ผมสรุปได้จากการประชุมร่วมรัฐสภา 2 วัน มีหลายอย่าง ที่ผมเห็นด้วย เรื่องที่สำคัญคือผมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ประกาศไปแล้ว ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภา เมื่อเราเห็นชอบให้มีการแก้ไข แต่หลายอย่างต้องผ่านหลายกระบวนการ ซึ่งรัฐสภาก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปด้วย เพราะยังมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ อยู่ดี ๆ จะไปตั้งกฎกติกาใหม่ทันที ตามเวลาที่ต้องการเป็นไปไม่ได้ เพราะเราอยู่ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ นอกจากนี้ ส่วนที่จะให้สว.เลือกนายกฯหรือไม่เลือกก็แล้วแต่ ผมไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าจะไม่ให้เลือกผมก็ได้ ผมไม่ได้ขัดข้องอะไร ก็เป็นเรื่องของการหารือในรัฐสภา" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยในการเสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาหาทางออกจากแนวทางที่เสนอในรัฐสภา ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือในที่ประชุมครม.แล้ว โดยสภาจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาจากหลายฝ่าย ทั้งในส่วนของรัฐสภา ส.ส. สว. กลุ่ม ต่าง ๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งขอให้หารือกันโดยสงบก็แล้วกัน และหาข้อเท็จจริงออกมาให้ได้ในลักษณะที่ดูทั้งบริบทของการเมืองประเทศไทยที่ประกอบด้วยหลายส่วนหลายฝ่าย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการชุดนี้จะถูกครอบงำหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าพูดเช่นนี้ไม่ได้ ต้องให้เกียรติสภา เพราะเป็นความเห็นของสภา และเป็นความเห็นของส.ส. ผู้ทรงเกียรติเสนอขึ้นมา รวมถึงสว. อย่างนั้นต่างคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าตั้งธงกันไว้แบบนี้ก็ไม่ชอบและไม่เชื่อใจกันหมด ดังนั้นต้องเชื่อใจกันสักครั้ง ถ้าไม่เชื่อใจอะไรกันเลยก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด
ถามต่อว่า มองท่าทีต่างประเทศที่ขับไล่เอ็นจีโอเข้าแทรกกิจการภายของแต่ละประเทศอย่างไร และจะแก้ปัญหาเอ็นจีโอในประเทศอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ไปเกี่ยวข้องกับแต่ละประเทศ จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะถือเป็นกิจการของแต่ละประเทศที่มีกฎหมายของตัวเอง แต่ของเราก็ต้องดูว่ากิจกรรมใดมีปัญหาก็ต้องพูดคุยหารือ โดยต้องไม่มีนัยยะแอบแฝงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มที่ต่างกันออกไป เพราะจะส่งผลเสียหายต่อประเทศ รวมทั้งหลายอย่างที่มีปัญหาของเรา
นายกฯ กล่าวอีกว่า เช่น เรื่องการพัฒนาประเทศของเรา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาเรื่องอื่น ๆ บางครั้งเอ็นจีโอเข้ามาก็จะทำให้กระบวนการของเราช้าลงในเรื่องการทำประชาพิจารณ์หรือประชามติต่าง ๆ อีกทั้งบางครั้งก็มีคนภายนอกเข้ามาในพื้นที่ มาแสดงความคิดเห็นต่อต้านทำให้คนในพื้นที่เสียหายและไม่ได้ประโยชน์ จึงต้องหาวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม
"วันนี้ขอฝากบรรดาเอ็นจีโอในประเทศไทยด้วยทั้งหมด เมื่อท่านอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำงานในประเทศไทย ก็ต้องช่วยประเทศไทยในการพัฒนาชาติบ้านเมืองเหมือนกับคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ ทุกคนที่ไปเสียภาษีที่โน้น ไปอยู่อาศัยที่โน้นก็กลายเป็นพลเมืองของประเทศนั้น ๆ ไป หรือเป็นผู้ไปประกอบกิจการประเทศนั้นก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของอาเซียนและของประเทศไทยด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯจะอยู่จนครบวาระ 4 ปีแสดงว่าไม่รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ทำไมผมต้องตอบอันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมเข้ามาด้วยอะไรก็ว่ากันไป จะออกด้วยอะไรก็ว่ากันมา เพราะไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่ได้หยุดแค่รัฐบาลผม กระบวนการเลือกตั้งกระบวนการรัฐธรรมนูญต่างๆ มีอยู่แล้ว"