รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ทำสถิติชาร์จครั้งเดียววิ่งระยะ 1,000 กิโลเมตร
รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนสำคัญได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทีมวิศวกรมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ซิดนีย์ (UNSW) ประเทศออสเตรเลีย ประสบความสำเร็จในการทดสอบรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ซันสวิฟท์ 7 (Sunswift 7) สามารถทำสถิติวิ่งระยะ 1,000 กิโลเมตร โดยการชาร์จพลังงานไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวและใช้เวลาในการชาร์จน้อยกว่า 12 ชั่วโมง
รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ซันสวิฟท์ 7 (Sunswift 7) ได้รับการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ การไหลผ่านของอากาศมีประสิทธิภาพลดแรงต้านของตัวรถ โครงสร้างของรถยนต์มีน้ำหนักเบาเพียง 500 กิโลกรัม หรือประมาณหนึ่งในสี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla) รุ่นมาตรฐาน
เนื่องจากทีมวิศวกรต้องการรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบาทำให้ภายในตัวรถยนต์ไม่ได้ทำการติดตั้งระบบเบรก ABS และถุงลมนิรภัย ที่ปัดน้ำฝน กระจกบังลม หรือระบบอื่น ๆ ที่ใช้บนรถยนต์ทั่วไปบนถนน แต่ทีมงานได้หันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหลักอากาศพลศาสตร์และขีดความสามารถในการวิ่งระยะไกล โดยรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ซันสวิฟท์ 7 (Sunswift 7) มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศเพียง 0.095 ในขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla Model S มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ 0.208
สถิติการนำรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้มาง่าย ๆ ทีมงานวิศวกรได้ใช้ระยะเวลาในการพัฒนารถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ซันสวิฟท์ 7 (Sunswift 7) นานกว่า 2 ปี เพื่อทำสถิติรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลกที่วิ่งทะลุ 1,000 กิโลเมตร บันทึกลงใน Guinness World Record
ในระหว่างการทำสถิติใหม่นี้ทีมงานวิศวกรต้องพบกับปัญหาต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่และยางรถยนต์ การเปลี่ยนคนขับในทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ทำให้รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์วิ่งระยะทาง 1,000 กิโลเมตร โดยใช้เวลาทั้งหมด 11 ชั่วโมง 53 นาที 32 วินาที ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คว้าตำแหน่งรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในระยะทาง 1,000 กิโลเมตร เป้าหมายต่อไปทีมงานวิศวกรเตรียมนำรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ซันสวิฟท์ 7 (Sunswift 7) เข้าร่วมแข่งขันในรายการ Bridgestone World Solar Challenge ในปี 2023
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ Sunswift