รีเซต

"อาชีพอิสระ" ออมเงินอย่างไร? ให้ได้บำนาญตลอดชีพ เริ่มต้นขั้นต่ำเพียง 50 บาท

"อาชีพอิสระ" ออมเงินอย่างไร? ให้ได้บำนาญตลอดชีพ เริ่มต้นขั้นต่ำเพียง 50 บาท
TNN ช่อง16
11 สิงหาคม 2565 ( 11:31 )
203

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาอย่างยาวนานซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้หลายคนๆ ตกอยู่ในสภาวะความไม่มั่นคงทางการเงิน บางคนต้องตกงาน โดนเลิกจ้าง หรือถูกลดเงินเดือน ค่าล่วงเวลา 

เราทุกคนไม่รู้ว่าอนาคตภายภาคหน้าจะเป็นอย่างเช่นไร แน่นอนว่าหากเรามี "เงินออม" โดยที่เริ่มต้นออมได้ตั้งแต่วันนี้จะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นหลักประกันให้กับชีวิตภายหลังจากที่เกษียณได้

สำหรับคนที่มี "อาชีพอิสระ" อายุ 15-60 ปี และอยากออมเงิน วันนี้ TNN ONLINE จะแนะนำให้รู้จักการออมเงิน ผ่าน "กองทุนการออมแห่งชาติ" (กอช.) ที่ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม จะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ชาวนา ชาวไร่ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับรถแท็กซี่ ขายของออนไลน์หรืออาชีพอิสระ ก็สามารถสมัครได้

อยากออมเงินกับกอช. ทำอย่างไร

สามารถออมเงินได้ง่ายๆ ผ่าน "กองทุนการออมแห่งชาติ" (กอช.) ออกแบบการออมได้ด้วยตัวเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ออมได้เท่าที่มี ฝากวันไหน เมื่อไหร่ก็ได้

การออมเงินกับ กอช. เป็นการออมแบบสมัครใจ สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่รายได้ไม่แน่นอน จึงไม่ได้บังคับให้ต้องออมเงินสะสมเป็นประจำทุกเดือน คุณสามารถออมได้เท่าที่มี จะฝากวันไหน เมื่อไหร่ก็ได้ หรือถ้าเดือนไหนไม่มี จะไม่ส่งเงินออมสะสมก็ได้ โดยไม่เสียสิทธิประโยชน์ใด ๆ   

2.ฝากเท่าไหร่ก็ได้ ขั้นต่ำ 50 บาท 

นอกจากจะไม่บังคับว่าต้องส่งเงินออมสะสมเป็นประจำทุกเดือนแล้ว กอช. ยังให้สมาชิกออมเงินเท่าไหร่ก็ได้ตามสะดวกคือ เดือนไหนมีน้อยก็ส่งน้อย เดือนไหนมีมากก็ส่งมากได้ และไม่จำเป็นต้องส่งเงินเท่ากันทุกเดือน สามารถเริ่มออมได้ขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุดหรือไม่เกิน 13,200 บาท/ปี   

3. ส่งเงินเมื่อไหร่ก็ได้

แม้ว่าสมาชิกจะขาดส่งเงินออมสะสมในปีนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ก็ไม่เสียสิทธิการเป็นสมาชิก กอช. และไม่มีเบี้ยปรับใดๆ เพียงแต่ถ้าปีไหนไม่ได้ส่งเงินออมสะสม ก็จะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลในปีนั้น แต่เมื่อกลับมาส่งเงินออมสะสมใหม่ก็จะได้สิทธิรับเงินสมทบจากรัฐบาลเช่นเดิม  

4.ทำงานประจำแล้ว ก็ยังออมต่อได้

แม้ว่าการออมกับ กอช. จะออกแบบมาเพื่อแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะ แต่หากสมาชิกเปลี่ยนไปทำงานประจำแล้ว ก็ยังสามารถส่งเงินสะสมต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องลาออก โดยช่วงที่ทำงานประจำจะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล แต่หากเมื่อไหร่ที่สมาชิกกลับมาทำอาชีพอิสระ แล้วออมเงินกับ กอช. ต่อไป ก็จะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลดังเดิม 

5.ส่งเงินสะสมช่องทางไหนก็ได้

ไม่ต้องกังวลว่าจะส่งเงินสะสมได้ลำบาก เพราะ กอช. มีช่องทางการส่งเงินให้เลือกได้อย่างสะดวก เช่น แอปพลิเคชั่น กอช. ที่ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android โดยสามารถใช้แอปฯ กอช. หักเงินผ่านบัญชีตรงร่วมกับโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารกสิกรไทย หรือ ธนาคารกรุงไทย รวมทั้งยังสร้าง NSF Payment ที่ช่วยให้การส่งเงินสะสมสะดวก รวดเร็วขึ้นมาก 

นอกจากนี้ สมาชิกยังสามารถส่งเงินสะสมโดยตรงได้กับธนาคาร ธ.ก.ส., ธอส., ออมสิน และกรุงไทยทุกสาขา พร้อมทั้งสามารถสมัครใช้บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติกับทั้ง 3 ธนาคาร รวมถึงมีช่องทางอื่นๆ ให้เลือกส่งเงินออมได้อีก ทั้งสำนักงานคลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ตู้บุญเติม และเทสโก้ โลตัสทั่วประเทศ

คุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิสมัครสมาชิก

1. มีสัญชาติไทย

2. อายุ 15-60 ปี

3. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม

4. เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือก 1 สามารถสมัครได้

5. ไม่เป็นข้าราชการ หรือสมาชิก กบข.

6. ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

7. มีอาชีพอิสระ ไม่มีนายจ้าง หรือ ไม่มีอาชีพ ตัวอย่างอาชีพที่สมัคร กอช. ได้ เกษตรกร ค้าขาย แม่บ้าน เจ้าของร้าน ฟรีแลนซ์ ขับรถรับจ้าง แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง นักเรียน นิสิตนักศึกษา

ประโยชน์ที่ได้รับมีอะไรบ้าง

รับเงินสมทบเพิ่มในเดือนถัดไปตามช่วงอายุ 

ช่วงอายุ 15 - 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออม ไม่เกิน 600 บาทต่อปี 

ช่วงอายุมากกว่า 30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออม ไม่เกิน 960 บาทต่อปี 

ช่วงอายุมากว่า 50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออม ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี 

นอกจากนี้ สมาชิกได้รับผลประโยชน์ของเงินออมสะสม เงินสมทบที่นำไปลงทุน รับประกันผลตอบแทนจากการลงทุน และเงินออมสะสมของสมาชิกนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี

วิธีสมัครสมาชิก

- สมัครสมาชิกได้ที่ แอปพลิเคชัน กอช. 

- หน่วยรับสมัครสมาชิกใกล้บ้านท่าน อาทิ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน

- ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา 

- ไปรษณีย์ไทย 

- สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม 

- เซเว่น-อีเลฟเว่น 

- เคาน์เตอร์เซอร์วิส 

- เทสโก้โลตัส 

- บิ๊กซี 

- ตู้บุญเติม

- เครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000

สมาชิก กอช. ได้รับเงินเมื่อไหร่

- เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ กอช. จะติดต่อสมาชิกล่วงหน้าไปยังที่อยู่ที่แจ้งไว้กับ กอช. เพื่อแจ้งความประสงค์การรับเงินบำนาญรายเดือนผ่านช่องทางธนาคารหรือไปรษณีย์ธนาณัติ

- กรณีทุพพลภาพ ก่อนอายุ 60 ปี หากสมาชิกเกิดทุพพลภาพหรือพิการ ไม่สามารถทำงานได้ สมาชิกจะสามารถขอรับเงินจากกองทุนได้บางส่วน

- กรณีสมาชิกเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์หรือทายาท ขอรับเงินของสมาชิกคืนเป็นเงินก้อนในครั้งเดียว พร้อมเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งช่องทางการรับเงิน

รู้จัก "แอปพลิเคชัน กอช."  

ช่วยเพิ่มความสะดวก ออมเงินได้ง่ายขึ้นด้วยแอปเดียว 

1. ตรวจสอบสิทธิ์

ผู้ที่สนใจออมเงินกับ กอช. สามารถตรวจสอบสิทธิ์ของท่านผ่าน "แอปพลิเคชัน กอช." ได้ง่ายๆ เพียง ยืนยันตัวตนด้วยการกรอกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น

2. คำนวณบำนาญ

"แอปพลิเคชัน กอช." สามารถช่วยคำนวณบำนาญและวางแผนการออมเงินให้คุณได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว แค่นี้ก็วางแผนการออมเงินสำหรับไว้ใช้ยามเกษียณกับ กอช. ได้แล้ว

3. ดูข้อมูลบัญชีเงินออม

การเช็คยอดเงินและผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในบัญชีเงินออมได้ทุกที่ ทุกเวลา เหมือนกับเราถือสมุดบัญชีเงินออมในมือตลอดเวลา อยากจะดูยอดเงินเมื่อไหร่ ที่ไหน ก็สามารถทำได้ผ่าน "แอปพลิเคชัน กอช."

4. สมัครสมาชิก

สามารถสมัครสมาชิกออมเงินกับ กอช. แบบสะดวกรวดเร็วเพียงปลายนิ้ว ผ่าน "แอปพลิเคชัน กอช." ได้เลย โดยใช้ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ แล้วกำหนดรหัสผ่าน (Password)  สำหรับเข้าใช้งาน 

5. ติดตามข่าวสาร และโปรโมชั่น 

สำหรับสมาชิก กอช. และ ผู้ที่สนใจสมัครสมาชิกกับ กอช. เพียงแค่โหลด "แอปพลิเคชัน กอช." คุณจะไม่พลาดข่าวสารและโปรโมชั่นดีๆ จาก กอช. อีกต่อไป 

ช่องทางออมเงิน

สะดวกและครอบคลุมมากๆ สำหรับช่องทางออมเงินกับ กอช. ที่สำคัญคือ สมัครสมาชิกที่ไหน ไม่จำเป็นต้องส่งเงินที่นั้นเสมอไป สามารถเลือกส่งเงินที่ช่องทางใดก็ได้ ทั้งแอปพลิเคชัน หน่วยรับสมัครสมาชิก และเครือข่าย กอช.  ดังนี้ 

- แอปพลิเคชัน กอช. 

เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน กอช. ทั้งระบบ iOS และ Android  สามารถส่งเงินออมสะสมง่ายๆ ได้ทั้งการหักบัญชีตรงผ่าน Mymo ของธนาคารออมสิน และ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย หรือสามารถรับคิวอาร์โค้ดไปจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน ธนาคารอื่นๆ, ตู้ ATM, ตู้รับฝากเงินสด, เคาน์เตอร์บริการธนาคารกรุงไทย และเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ 

- ธนาคารของรัฐทั้ง 5 แห่งทุกสาขาทั่วประเทศไทย

สมาชิกสามารถส่งเงินออมสะสมที่ธนาคาร ธกส., ธอส., ธ.ออมสิน ธ.อิสลามฯ และ ธ.กรุงไทย ทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องส่งเงินออมสะสมกับธนาคารที่สมัครสมาชิกเสมอไป 

นอกจากนี้ ยังสามารถสมัครหักบัญชีธนาคารอัตโนมัติ เพื่อส่งเงินออมสะสมเข้า กอช. ขั้นต่ำ 100 บาท สูงสุด 1,100 บาทต่อเดือน โดยธนาคารจะทำการหักบัญชีเงินฝากของสมาชิกทุกวันที่ 20 ของเดือน ช่วยอำนวยความสะดวกให้สมาชิกสามารถออมเงินได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องกลัวลืมส่งเงินออมสะสมอีกต่อไป

- ตู้บุญเติม

สมาชิกสามารถใช้บริการส่งเงินออมสะสมได้ที่ตู้บุญเติมทั่วประเทศ เพื่อทำรายการส่งเงินออมสะสมได้ เพียงกดหมายเลขโทรศัพท์และเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้วใส่จำนวนเงินที่ต้องการออมผ่าน  ตู้บุญเติม ตามขั้นตอนของระบบ แค่นี้ก็ส่งเงินออมสะสมได้เรียบร้อยแล้ว

- บริการเคาน์เตอร์เซเว่น-อีเลฟเว่น

เพียงแจ้งหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ณ จุดบริการ เซเว่น-อีเลฟเว่น ทั่วประเทศ หรือจะรับคิวอาร์โค้ด จากแอปพลิเคชัน กอช. ไปแสดงที่จุดจ่ายเงินก็สะดวกขึ้นไปอีก โดยสามารถส่งเงินได้ขั้นต่ำ 50 บาท และสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท/ปี

- เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี

สมาชิก กอช. สามารถส่งเงินออมสะสมได้ง่ายๆ เพียงแจ้งเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือยื่นบาร์โค้ด ผ่านแคชเชียร์ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซีได้ ทุกสาขาทั่วประเทศ

- สำนักงานคลังจังหวัด /ที่ว่าการอำเภอ /ไปรษณีย์ไทย /สถาบันการเงินชุมชน และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ

เลือกวิธีการส่งเงินสะสมที่เคาน์เตอร์บริการ ผ่านแอปฯ ของ กอช. ทำอย่างไร

สำหรับสมาชิกที่มีแอปพลิเคชัน กอช. อยู่แล้ว หรือถ้ายังไม่มี ท่านสามารถดาวน์โหลดได้ที่ App Store หรือ Play Store โดยค้นหาคำว่า "กองทุนการออมแห่งชาติ" แล้วกดติดตั้งลงบนโทรศัพท์มือถือ  เพื่อความสะดวก รวดเร็ว มั่นใจ กับ กอช. ซึ่งทำเองได้ง่ายๆ เพียง

- เปิดหน้าแอปพลิเคชันของ กอช. จากนั้น "เข้าสู่ระบบ"

- เลือกนำ "ส่งเงินสะสม" (ปุ่มสีส้มจะปรากฎในกรณีที่ท่านยังไม่ได้ออมเงินในเดือนนั้นๆ)

- จากนั้น ระบุจำนวนเงินที่ต้องการนำส่งขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาท/ปี

- เลือกหน่วยงานที่ท่านสะดวกนำเงินไปส่งที่เคาน์เตอร์บริการ ได้แก่ ธ.ก.ส. ธ.กรุงไทย ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย ไปรษณีย์ไทย เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส 

- นำใบนำส่งเงินสะสมไปสแกนเพื่อชำระเงินที่เคาน์เตอร์บริการ 

- เมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย ท่านจะได้ใบเสร็จรับเงินเพื่อเป็นการยืนยัน จากนั้นท่านสามารถเช็กยอดเงินออมของท่านได้ทันทีบนแอปฯ กอช.

ส่งเงินออมสะสมผ่าน Mobile Banking ทำอย่างไร

ช่องทางสำหรับวิธีการนำส่งเงินสะสมกับ กอช. ง่ายนิดเดียว โดยการหักบัญชีตรงผ่าน Mymo GSB ของธนาคารออมสิน และ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย ขั้นตอนง่ายๆเพียง

- เลือกเมนูบิล/จ่ายบิล แล้วค้นหาคำว่า "กองทุนการออมแห่งชาติ" เพื่อส่งเงินออมสะสม

- จากนั้นกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และระบุจำนวนเงินที่ต้องการนำส่งขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี

- ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องแล้วกดยืนยันหรือเลื่อนเพื่อส่ง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย


ข้อมูลอ้างอิงจาก กองทุนการออมแห่งชาติ

ภาพจาก TNN ONLINE / กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง