รีเซต

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์พบดาวนิวตรอนชนกันรุนแรง

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์พบดาวนิวตรอนชนกันรุนแรง
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2566 ( 13:40 )
74
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์พบดาวนิวตรอนชนกันรุนแรง

อ้างอิงจากเอกสารที่เผยแพร่โดยทีมนักดาราศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2023 ซึ่งนำโดยแอนดรูว์ เลวาน (Andrew Levan) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแรดบาวด์ (Radboud University) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พวกเขาได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ตรวจพบกิโลโนวา (Kilonova) หรือการปล่อยพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวัตถุอย่างดาวนิวตรอนชนกัน 

การปะทุอย่างรุนแรงของรังสีแกมมา (GRB) 

ขณะที่ดาวนิวตรอนชนกัน มันจะแผ่คลื่นความโน้มถ่วงออกมาก่อน จากนั้นจะเกิดการปะทุของรังสีแกมมาอย่างรุนแรง (GRB) และจะปลดปล่อยพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างรุนแรงหรือกิโลโนวาออกมา


ซึ่งการปะทุของรังสีแกมมาในครั้งนี้ถูกเรียกว่า "จีอาร์บี 230307เอ (GRB 230307A)" ตรวจพบครั้งแรกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีแกมมาเฟอร์มิ (Fermi Gamma-ray Space Telescope) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2023 และเป็นการปะทุของรังสีแกมมาในอวกาศที่สว่างเป็นอันดับ 2 เท่าที่เคยมีการสังเกตการณ์ พร้อมทั้งอยู่ได้นาน 34 วินาที


หลังจากการปะทุของจีอาร์บี 230307เอเป็นเวลา 29 วัน กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้ตรวจพบกิโลโนวาเป็นครั้งแรก และตรวจพบอีกครั้งใน 61 วัน หลังจากการปะทุของจีอาร์บี 230307เอ ซึ่งการตรวจพบกิโลโนวาครั้งนี้เป็นครั้งแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์นับตั้งแต่ที่มันถูกส่งขึ้นไปประจำการในวงโคจรเมื่อปี 2021


ธาตุหนักที่เกิดจากการชนกันของดาวนิวตรอน 

โดยทั่วไป การชนและหลอมรวมกันของดาวนิวตรอนจะทำให้เกิดการสังเคราะห์ธาตุหนักขึ้น เช่น ทองคำ, แพลตทินัมและยูเรเนียม ซึ่งทีมนักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบว่าเหตุการณ์กิโลโนวาในครั้งนี้ได้สังเคราะห์เทลลูเรียม, แลนทาไนด์และกลุ่มโลหะ 15 ชนิด ที่หนักกว่าตะกั่วขึ้นมา


สำหรับการค้นพบในครั้งนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ก่อนจะตีพิมพ์ลงในวารสารด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศ


ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก NASA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง