แรงศรัทธา "ครูบาบุญชุ่ม" กับพุทธศาสนาในประเทศเมียนมา
ภาพพลังแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจำนวนหลายหมื่นคน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทใหญ่ ไทลื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จำนวนมาก ที่อยู่แถบทางตอนเหนือของเมียนมา สปป.ลาว และคนภาคเหนือของไทย
หลั่งไหลเข้ามารอสักการะบูชา ชื่นชมบารมี และกราบนมัสการ “ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร อรญฺญวาสีภิกขุ” พระเกจิดังแห่งล้านนา หลังครบกำหนดการปฏิบัติกรรมฐานปิดวาจาในถ้ำหลวงเมืองแก๊ด รัฐฉาน ครบ 3 ปี 3 เดือน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา วัฒนธรรม และสังคมของชาวเมียนมา
หากพูดถึงพุทธศาสนาใน “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” นั้น ได้รับอิทธิพลมาจากหลายช่องทาง และมีความสัมพันธ์ในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ความศรัทธาในหลักธรรมที่ฝังแน่นในจิตใจผ่านถูกแสดงออกผ่านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ จนทำให้เกิดประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันในชุมชน รวมทั้ง ยังสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ในเมียนมา ที่นับถือพุทธศาสนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว “TNN ONLINE” เกี่ยวกับพุทธศาสนาในเมียนมา โดยระบุว่า ในเมียนมานั้น พุทธศาสนามีการแตกนิกายออกมากที่สุดในอุษาคเนย์ (หมายถึง ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มีอย่างน้อย 10 กว่านิกาย
เนื่องจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ซับซ้อน แต่ในที่สุดแล้วชาวเมียนมาพยายามลืมความแตกต่างระหว่างนิกายและพยายามรวมตัวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคล่าอาณานิคม
เมียนมาถูกอังกฤษยึดครองทั้งสถาบันชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ จนล่มสลาย เหลือเพียงแค่สถาบันศาสนาเท่านั้น นั่นคือ พุทธศาสนาที่ยังอยู่เป็นที่พึ่งของประชาชน ทำให้พระสงฆ์ในเมียนมาจึงมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมมาโดยตลอด ทั้งในด้านวัฒนธรรม รวมไปถึงผู้นำในด้านการเมืองด้วย
ที่มา “กบฏเกือก” ลบหลู่ความศรัทธาศาสนา แรงต่อต้านจนฝรั่งต้องยอม
ประเทศเมียนมาในสมัยยุคอาณานิคม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นายทหาร ของอังกฤษใส่รองเท้าบูธเดินเข้าไปในวัด ซึ่งเป็นลบหลู่สถานที่ที่ชาวเมียนมาเคารพ ศรัทธา และเป็นศูนย์รวมจิตใจ ทำให้เกิดความไม่พอใจ และมีการต่อต้าน เรียกร้องต่ออังกฤษ จนเรียกว่า “ กบฏเกือก” ทำให้สมัยนั้นพระสงฆ์เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ชาวอังกฤษเคารพวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาของเมียนมา จนในที่สุดรัฐบาลได้ออกประกาศอนุญาตให้พระสงฆ์ของแต่ละศาสนสถานมีสิทธิ์ในการควบคุมเรื่องรองเท้าได้
ความแตกต่างพุทธไทย พุทธเมียนมา
สำหรับความแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธในประเทศไทย กับศาสนาพุทธในประเทศเมียนมา นั้น ภาพรวมเป็นนิกายเถรวาทเหมือนกัน แต่ในประเทศเมียนมานั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่า
อย่างเช่น พระสงฆ์เมียนมา สามารถถูกเนื้อต้องตัวสีกาได้ ไม่ผิด คล้ายๆ กับพระสงฆ์นิกายมหายาน ซึ่งเราจะเห็นพระสงฆ์ขึ้นรถประจำทางนั่งติดกับสีกาได้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ขณะที่ เรื่องของการบิณฑบาตร สีกาจับจีวรของพระสงฆ์ได้ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาในประเทศเมียนมา อยู่ก้ำกึ่งระหว่างนิกายเถรวาทกับมหายาน
เหตุใดต้องทำกรรมฐานปิดวาจาในถ้ำ
สำหรับการทำกรรมฐานปิดวาจา วัตถุประสงค์ในการทำเพื่ออบรมจิตใจ พระสงฆ์สายป่า มักจะปิดวาจาเข้าไปในป่าหรือถ้ำ เพื่อตัดขาดจากความสับสนวุ่นวายในสังคม และได้ทำกรรมฐานได้อย่างเต็มที่
สาระสำคัญของการทำกรรมฐาน เป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา นั่น คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ปัญญาต้องมาก่อนเพื่อให้เข้าใจทางที่ถูกต้อง ต่อมา มีการรักษาศีล และสุดท้ายคือการทำสมาธิ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ “สมถกรรมฐาน” เป็นการทำจิตให้เป็นหนึ่งเดียว ใจสงบ “วิปัสสนากรรมฐาน” เป็นการให้เกิดปัญญา รู้แจ้ง เห็นจริง ในสิ่งที่เป็นจริง
ครูบาบุญชุ่ม ได้อธิษฐานปวารณาปิดวาจาครั้งแรก 3 ปี 3 เดือน 3 วัน ที่ถ้ำราชคฤห์ อ.งาว จ.ลำปาง เมื่อปี 2553ถึงปี 2556 ส่วนครั้งล่าสุดได้ทำการปิดวาจา 3 ปี 3 เดือน 3 วัน ที่ถ้ำเมืองแก๊ด รัฐฉาน ประเทศเมียนมา
การทำกรรมฐานปิดวาจา 3 ปี 3 เดือน 3 วัน นั้น ถือว่าค่อนข้างนาน ในอดีตเคยมีเช่นกันอยู่ที่ประเทศเนปาล อยู่เป็นสิบปี เมื่อออกจากถ้ำชาวเนปาลก็ได้ไปรอต้อนรับ เพราะพระผู้ปฏิบัติดีปฎิบัติชอบและเข้าสู่การปฏิบัติธรรมเป็นเวลานาน ย่อมจะมีบุญเต็มเปี่ยมออกมาจากสถานที่ได้ปฏิบัติธรรมนั้น
“ครูบาบุญชุ่ม” อริยสงฆ์ผู้เป็นดั่งแสงสว่างทางจิตใจ
ในประเทศไทยเอง เจอในวงการพุทธศาสนาไม่ค่อยดีนัก ขณะเดียวกัน ข่าวการออกจากการปฏิบัติกรรมฐานปิดวาจาในถ้ำของ “ครูบาบุญชุ่ม” โดยมีลูกศิษย์ พุทธศาสนิกชนชาวไทย เมียนมา สปป.ลาว รวมทั้งชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ แห่แหนออกมารับนับหมื่นคน ขณะที่ ในประเทศไทยเองคนรุ่นใหม่เกิดความสนใจ เข้าไปค้นหาประวัติของครูบาบุญชุ่มกันอย่างมากมาย
ขณะที่ เมียนมาเองนั้นก็อยู่ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง ทำให้ชาวเมียนมาเกิดความรู้สึกหดหู่ เหนื่อยล้า เมื่อมีข่าวครูบาบุญชุ่มยิ่งทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ปลุกปลอบจิตใจให้ชุ่มชื่นขึ้นมาบ้างจากสถานการณ์วิกฤตของประเทศ
ดร.ทวีวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ “ครูบาบุญชุ่ม” เป็นที่เคารพนับถือ ศรัทธา ของชาวพุทธหลายประเทศทั้งไทย ลาว เมียนมา จีน และภูฏาน มองว่าเป็นเรื่องของความมุ่งมั่น จริงจัง ด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำให้คนภายนอกเห็นแล้วรู้สึกปีติ ชื่นชม ศรัทธา
ครูบาบุญชุ่ม มีปณิธานแบบพระโพธิสัตว์ ต้องการโปรดสัตว์ ช่วยเหลือสังคม มากกว่าที่จะมุ่งแสวงหาความพ้นทุกข์เฉพาะตัว หรือแสวงหานิพพานอย่างเดียว ตามประวัติบวชมาตั้งแต่ จบ ป.4 ปี พ.ศ. 2519 ฉันแต่ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ มุ่งเน้นเรียนกรรมฐาน จาริกไปหลายท้องที่ทั้งภาคเหนือของไทย พม่า เนปาล อินเดีย ภูฏาน ฯลฯ
เมื่อพบเห็นวัดใดทรุดโทรมก็เป็นผู้นำในการบูรณะ และได้สร้างพระธาตุเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป ไว้หลายแห่งในภาคเหนือ รัฐชาน สิบสองปันนา และประเทศลาว และที่สำคัญบุคลิกหนึ่งคือ ท่านเก็บตัว อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยอวดอุตริมนุสธรรม นั่นจึงทำให้คนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา.
ทีมข่าว TNN ONLINE รายงาน
ภาพจาก Myanmar TV Channels , Sai Win Tip1