รีเซต

คณะราษฎร : 88 ปี ปฏิวัติสยาม 2475 ส่องมรดกสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ราชดำเนิน สัญลักษณ์ และความเป็นจริง

คณะราษฎร : 88 ปี ปฏิวัติสยาม 2475 ส่องมรดกสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ราชดำเนิน สัญลักษณ์ และความเป็นจริง
บีบีซี ไทย
24 มิถุนายน 2563 ( 13:10 )
501
คณะราษฎร : 88 ปี ปฏิวัติสยาม 2475 ส่องมรดกสถาปัตยกรรมคณะราษฎรที่ราชดำเนิน สัญลักษณ์ และความเป็นจริง

"...อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้้งมวล เป็นต้นว่าถนนสายต่าง ๆ ที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ..." 

คำกล่าวของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินกลางเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 อาจเรียกได้ว่าเป็นวันที่สิ่งก่อสร้างหรือวัตถุวัฒนธรรมในยุคคณะราษฎร ปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไป 8 ปี

 

ถนนราชดำเนินสร้างขึ้นเมื่อปี 2442 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเชื่อมต่อพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชวังดุสิต ทว่าถนนสายที่มีความหมายว่า "การเสด็จพระราชดำเนินของกษัตริย์" ได้ถูกให้ความหมายใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์บนถนนราชดำเนินกลางใหม่ทั้งหมดในปี 2480 เริ่มจากการตัดต้นมะฮอกกานี ซึ่งปลูกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขยายถนน สร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม ศูนย์การค้า และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ด้วยอายุที่เกือบเท่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและสถาปัตยกรรมบนถนนสายนี้มีนัยทางการเมืองอย่างไรบ้าง และปัจจุบันยังมีอะไรดำรงอยู่บ้าง บีบีซีไทยรวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมรดกคณะราษฎรบนถนนสายนี้ในช่วงที่กำลังเกิดปรากฏการณ์ "ทุบ ทำลาย รื้อถอน" ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับ เลขหมาย และ สัญลักษณ์

"อนุสาวรีย์สิ่งปลูกสร้างในลักษณะแบบนี้มันไม่ได้เป็นเพียงแค่อิฐ  หิน ปูน ทราย ที่สร้างขึ้นมาแล้วก็อยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้มีความหมาย" รศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ  อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการผู้ศึกษาสถาปัตยกรรมในแง่มุมของการเมืองประวัติศาสตร์  กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อเดือน  ก.พ.

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งตระหง่านผ่านยุคสมัยทางการเมือง อนุสาวรีย์แห่งนี้มี "ภาษาภาพ" ที่ซ่อนไว้ในสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของการที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตย

 

ในหนังสือ "สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร 19 กันยา 49" รศ.ดร.ชาตรี อธิบายไว้ว่า "สัดส่วนความกว้าง ความสูง ตลอดจนรายละเอียดของการออกแบบตัวอนุสาวรีย์ ล้วนถอดออกมาจากตัวเลขซึ่งสัมพันธ์กันกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งสิ้น"

BBC

หลักกิโลเมตรที่ 0 เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

วงเวียนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางหลวงแผ่นดินสายประธาน ตามคำกล่าวในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2483 ว่าถนนสายต่าง ๆ ที่ออกจากกรุงเทพฯ ให้นับเริ่มจากอนุสาวรีย์นี้ ถนน 3 สาย ได้แก่ พหลโยธิน สุขุมวิท เพชรเกษม

ในวันเดียวกันนี้ หลังพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนิน จอมพล ป. ได้นั่งรถยนต์จากกรุงเทพฯ มาตามเส้นทางถนนพหลโยธินเพื่อมาเปิดเมืองใหม่ลพบุรีอย่างเป็นทางการอีกด้วย

หลักทางหลวง กม. 0 ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนดินสอ ปัจจุบันหลักทางหลวงนี้ยังคงตั้งอยู่จุดนั้น

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกือบถูกรื้อเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ ร. 7

รัฐประหารปี 2490 - รัฐประหารปิดฉากอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎร สายนายปรีดี พนมยงค์

รัฐประหารปี 2494 -รัฐประหารจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ กลุ่มนิยมเจ้า

หลังการรัฐประหารครั้งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรที่ปรากฏผ่านวัตถุอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเป็นครั้งแรกที่เกิดแนวคิดการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้า รัชกาลที่ 7

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนไว้ในบทความ "การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธ.ค. 2556 ระบุว่าแนวคิดการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ อาจมาจากผลพวงของการทำรัฐประหาร จอมพล ป. ได้นำเรื่องการจัดสร้างอนุสาวรีย์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปีนั้น "เพื่อลดกระแสต่อต้านจากราชสำนักหลังจากการรัฐประหาร 2494" ภายหลังมีการนำรัฐธรรมนูญปี 2475 กลับมาใช้แทน

ต่อมาในปี 2495 ครม. ภายใต้รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นชอบให้จัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ขึ้น ตามที่รัฐมนตรีมหาดไทยในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างอนุสาวรีย์เสนอ ซึ่งได้มีมติเลือกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลว่ามีความเหมาะสมกว่าบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม

บทความนี้ระบุอีกว่า หลังจากจอมพล ป. ทราบเรื่องการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย "กลับไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวคัดค้านจากจอมพล ป. ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างอนุสาวรีย์แต่อย่างใด" ทว่าผู้มีบทบาทคัดค้านกลับเป็น พลตรี ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล และหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎร

สำหรับแบบของพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ที่คณะกรรมการจัดสร้างสรุปเป็นแบบสุดท้ายนั้น จะจัดสร้างเป็นพระบรมรูปประทับบนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ในท่าพระราชทานรัฐธรรมนูญ ขนาดสามเท่าครึ่ง ประดิษฐาน ณ ตอนกลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยรื้อป้อมกลางอนุสาวรีย์และพานรัฐธรรมนูญออก รวมทั้งปีกทั้ง 4 ด้าน

ถึงกระนั้น การสร้างอนุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ไม่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. เพราะเกิดปัญหาติดขัดเรื่องงบประมาณ ทำให้โครงการหยุดชะงัก กระทรวงการคลังซึ่งมี พลตรี ประยูร เป็นรัฐมนตรีไม่สามารถจัดหางบประมาณจัดสร้าง 1 ล้านบาทได้ ครั้นคณะกรรมการจัดสร้างขอให้จอมพล ป. อนุมัติงบฯ จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล "แต่จอมพล ป. มีคำสั่งว่าเงินสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ใช้จ่ายไปหมดแล้ว ไม่อาจพิจารณาแบ่งให้ตามที่เสนอได้" 

ทั้งหมดถูกมองจากสายตานักประวัติศาสตร์ว่านั่นเป็นเพราะว่า จอมพล ป. "ไม่ปรารถนาให้โครงการสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ดำเนินการต่อได้" เห็นได้จากความเห็นของจอมพล ป. ที่กล่าวว่า "เมื่อยังไม่มีเงินก็ให้รอไปก่อน ส่วนการสร้างที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางนั้น ดูจะไม่เหมาะสม"

หลังจากนั้นโครงการได้เงียบหายไป ไม่มีการนำเรื่องกลับมาพิจารณาอีกตลอดสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ก็กลับมาอีกครั้งในปี 2512 ในสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร พร้อม ๆ กับการเสนอสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาใหม่ จากสมาชิกสภาบางราย  แต่ในที่สุดการสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กลับสำเร็จลุล่วงได้ในปี 2523 โดยตั้งอนุสาวรีย์ที่หน้าอาคารรัฐสภาเดิม อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันถูกย้ายไปแล้วหลังเริ่มใช้งานรัฐสภาใหม่ที่เกียกกาย

ตึกสองฝั่ง ราชดำเนินกลาง ตึกแถวสมัยใหม่และย่านการค้ากลางพระนคร

ก่อนที่ถนนราชดำเนินกลางกลายเป็นหลายฉากสำคัญทางการเมือง ถนนสายนี้คือย่านการค้าล้ำสมัยในยุคแรกเริ่มของประชาธิปไตย

กลุ่มตึกสองฝั่งถนนราชดำเนินกลางที่ตั้งตระหง่านจนถึงปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและมีพิธีเปิดตึกอย่างเป็นทางการในปี 2484

Getty Images

บทความ "กำเนิดตึกแถวสองฝั่งถนนราชดำเนิน ที่มาของฉายา 'ป้อมปราการ' ประชาธิปไตย" บนเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม บรรยายไว้ว่า ถนนราชดำเนินถูกขยายให้กว้างขึ้นในช่วงการฉลองการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมี "ตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นเรียงรายเต็มสองฟากถนนเพื่อเป็นย่านการค้า กับทางเท้าที่หน้าตึกให้มีขนาดกว้างพอสำหรับการมาชุมนุมของประชาชนเพื่อดูงานสำคัญต่าง ๆ ของชาติ"

นายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ คือสถาปนิกผู้ออกแบบตึกเหล่านี้ เขาเป็นสถาปนิกคนสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้น ผลงานที่สำคัญ เช่น ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การออกแบบได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับรูปทรงเรขาคณิต หลังคาตัดไม่มีจั่ว ซึ่งเป็นความนิยมในงานทางสถาปัตยกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยลักษณะของอาคารรูปทรงเช่นนี้ยังปรากฏในอาคารอีกหลายแห่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกด้วย เช่น กลุ่มอาคารที่สร้างในยุคเดียวกันใน จ.ลพบุรี เมืองที่ถูกวางไว้ให้เป็นเมืองใหม่

สไตล์ "อาร์ตเดโค" ของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุคช่วงต้นของคณะราษฎร อันมีลักษณะเรียบ เกลี้ยง ไม่มีลวดลายไทย หลังคาตัดแบนเรียบ เป็นตึกและงานสถาปัตยกรรมที่ รศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอในงานวิชาการของเขาว่า "เป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่กำลังพูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย ความเสมอภาคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง" หรือว่าสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรนั่นเอง

กลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังเก่า สัญลักษณ์เอกราชทางการศาล ที่ถูกทุบทิ้ง

กลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังเก่า ถนนราชดำเนินใน ติดกับท้องสนามหลวง เริ่มก่อสร้างในปี 2482  เพื่อเป็นที่ระลึกเอกราชสมบูรณ์ทางการศาล ภายหลังจากมีการแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีมาแต่รัชกาลที่ 4

ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์แทนหลัก "เอกราช" หนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

บทความ "บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ รื้อ-สร้าง อาคารศาลฎีกาใหม่" ของ รศ.ชาตรี อธิบายไว้ว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกาเก่าประกอบด้วยหลายอาคาร แต่กลุ่มอาคารที่สำคัญที่สุดและไม่ควรถูกรื้อคือ กลุ่มอาคารรูปตัววี ซึ่งออกแบบขึ้นมาในครั้งเดียวกัน เพื่อให้เป็นกลุ่มอาคารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอย่างครบวงจร

สถาปนิกผู้ออกแบบ คือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ ข้าราชการกรมศิลปากร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหลายชิ้นในช่วงเวลานั้น  

กลุ่มอาคารมีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ในทศวรรษ 2480 ด้านหน้ามีเสา 6 ต้น ที่สื่อถึงหลัก 6 ประการ กลุ่มอาคารทยอยก่อสร้างทีละปีกจนแล้วเสร็จสมบูรณ์และทำพิธีเปิดในปี 2506

เริ่มมีแนวคิดรื้ออาคารนี้มาตั้งแต่ปี 2529 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้มีการรื้อและสร้างใหม่ในที่เดิม และในปี 2535 ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

การริเริ่มให้มีการรื้อหลังจากอาคารใช้งานไปเพียง 23 ปี ทำให้ รศ.ดร.ชาตรี มองว่าเหตุผลย่อมไม่ใช่เรื่องความเสื่อมสภาพของอาคาร แต่เป็น "ความไม่พอใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของคณะราษฎร ที่ในสายตาของคนทั่วไปแล้ว ไม่มีความเป็นไทยเท่าที่ควร"

การรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่เกิดขึ้นในปี 2556 จากสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคคณะราษฎร อาคารศาลฎีกาใหม่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ใช้งบประมาณผูกพัน 2550-2556 วงเงิน 3,700 ล้านบาท สำนักงานศาลยุติธรรมเวลานั้น อ้างเหตุว่าตึกมีสภาพเสื่อมโทรม พื้นที่ใช้งานไม่เพียงพอ

หนึ่งในเหตุผลการคัดค้านจากภาคประชาชนและนักวิชาการ คือ กฎหมายการสร้างอาคารในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในที่ห้ามสูงเกิน 16 เมตร แต่อาคารศาลฎีกาใหม่ที่จะก่อสร้างสูงกว่า 32 เมตร โดยใช้ข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษจากมติ ครม. ในปี 2530 กรณีทำให้ถูกมองว่าเป็นการใช้กฎหมายสองมาตรฐาน

ความเปลี่ยนแปลงในการรื้อและสร้างใหม่ของกลุ่มอาคารศาลฎีกา ในทัศนะของ รศ.ดร.ชาตรี สรุปไว้ว่า เป็นการร่วมกันระหว่างมายาคติของเอกลักษณ์ไทยในทางสถาปัตยกรรมแบบ "หลังคาจั่วทรงสูง" บวกกับ "กระแสประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ต้องการลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรออกไปจากสังคม" ตึกอาคารเหล่านี้จึงต้องถูกรื้อทำลายลงและสร้างใหม่ ในที่สุด

ศาลาเฉลิมไทย โรงมหรสพที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บอกว่า "ต่ำทราม" กว่าวัด

เคยมีโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชยที่ตั้งของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ในปัจจุบัน 

ศาลาเฉลิมไทย เริ่มสร้างเมื่อปี 2483 ออกแบบโดยสถาปนิกคนเดียวกับผู้ออกแบบตึกที่ราชดำเนิน โรงมหรสพที่ต่อมาเป็นโรงภาพยนตร์ ถูกรื้อถอนในปี 2532 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะบดบังทัศนียภาพของโลหะปราสาท วัดราชนัดดา ก่อนสร้างลานพลับพลามหาเจาฎาบดินทร์ขึ้นมาบริเวณนั้น

การรื้อถอนถูกมองจากนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมว่าเป็นความพยายามเบียดขับความทรงจำคณะราษฎร สวนทางกับปัญญาชน "ฝ่ายอนุรักษ์นิยม" อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขาได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อมีการทุบทิ้งศาลาเฉลิมไทยว่า

"…การสร้างศาลาเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง…  แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง"

BBC

จากอดีตสู่อนาคตของตึกย่านราชดำเนิน

ท่ามกลางปรากฏการณ์หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหาย อนุสาวรีย์ที่มีรากประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกย้ายอย่างไร้ร่องรอย หรือการเปลี่ยนชื่อสถานที่ หลังการรัฐประหาร 2557 อีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ การปรับปรุงตึกริมถนนราชดำเนินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอาคารริมถนนราชดำเนิน

เดือน ม.ค. 2563 เว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เผยแพร่แบบการปรับปรุงภาพลักษณ์สถาปัตยกรรมภายนอกอาคารที่ถนนราชดำเนินกลางที่ปรับปรุงจากสถาปัตยกรรมแบบเดิม เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกในช่วงรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 เริ่มที่อาคารบริเวณถนนด้านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ 2 อาคาร คือ อาคารเทเวศประกันภัย และอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

หลังมีกระแสวิจารณ์จากผู้ติดตามการเมืองในทิศทางว่านี่อาจเป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงของมรดกทางวัตถุของผู้ก่อการปฏิวัติสยาม แบบการปรับปรุงอาคารได้ถูกนำออกจากเว็บไซต์

บีบีซีไทยติดต่อไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อขอคำอธิบาย แต่ไม่มีการตอบรับ

อย่างไรก็ตาม การให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารเทเวศประกันภัยบนเว็บไซต์ข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลว่าผู้เช่าหลายรายได้รับแจ้งจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถึงการปรับปรุงภาพลักษณ์ภายนอกอาคารในการประชุมเมื่อเดือน ก.พ. 2562 และปรับปรุงจะดำเนินการตลอดทั้งสองฝั่งถนนราชดำเนิน

วันที่ 24 มิถุนายน ปีนี้ ครบรอบ 88 ปี ของการอภิวัฒน์สยาม เป็นที่น่าสังเกตว่ากิจกรรมรำลึกต่อเหตุการณ์นี้ถูกจัดขึ้นในสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยของ รศ.ดร.ชาตรี เมื่อเดือน ก.พ. นักวิชาการผู้ศึกษาสถาปัตยกรรมยุคคณราษฎร เชื่อว่าการรื้อถอนสัญลักษณ์ของคณะราษฎรจะดำเนินต่อไป

"ตราบใดที่ตัวคณะราษฎรยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีผู้คนโหยหา เรียกร้อง และรื้อฟื้น ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์คณะราษฎรก็ยังมีคนเกลียดชังไม่ชอบ และรู้สึกว่าเป็นรอยด่างของประวัติศาสตร์ไทย ตราบนั้นความขัดแย้งที่มันมีศูนย์กลางอยู่ที่วัตถุสัญลักษณ์และตึกสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรก็ยังไม่มีวันจบ"

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง