รีเซต

ชะตากรรมของล่ามจากอัฟกานิสถาน ที่ถูกสหรัฐ "ทอดทิ้ง" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ชะตากรรมของล่ามจากอัฟกานิสถาน ที่ถูกสหรัฐ "ทอดทิ้ง" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
TNN World
2 สิงหาคม 2564 ( 09:46 )
175
ชะตากรรมของล่ามจากอัฟกานิสถาน ที่ถูกสหรัฐ "ทอดทิ้ง" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

Editor’s Pick: 'สหายร่วมรบที่ถูกทอดทิ้ง' สหรัฐฯ ถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน ล่ามที่เคยเป็นด่านหน้ากำลังถูกลอยแพโดยรัฐบาล

 

 

ชาวอัฟกานิสถานหลายหมื่นคนทำหน้าที่เป็นล่าม ผู้ประสานงาน และมัคคุเทศก์ให้กับทหารสหรัฐฯ และกองกำลังพันธมิตรตั้งแต่เริ่มสงครามอัฟกานิสถานกับกลุ่มตาลีบันในปี 2001

 

 

ผ่านมาสองทศวรรษหลังจากการเริ่มต้นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดของอเมริกา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำมั่นว่าจะถอนทหารสหรัฐภายในวันที่ 11 กันยายนให้ได้ ถึงแม้ว่ากลุ่มตาลีบันจะกลับคืนสู่อำนาจก็ตาม

 

 

 

รางวัลแห่งความพยายาม

 

เซีย กาห์ฟูรี กับภรรยาที่ตั้งครรภ์และลูกเล็ก ๆ อีกสามคน เดินทางจากบ้านของพวกเขาในกรุงคาบูลไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน 2014

 

 

วีซ่าสหรัฐฯ ห้าใบ เป็นรางวัลสำหรับการทำงาน 14 ปีในฐานะล่ามของหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน

 

 

แต่รางวัลและความฝันต้องสิ้นสุดลง เมื่อกาห์ฟูรีพบว่าตัวเองไม่มีที่อยู่อาศัย และถูกส่งไปยังศูนย์พักพิงโดยอาสาสมัครคนหนึ่งซึ่งบอกเขาว่า ที่แห่งนี้จะเป็นสถานที่เริ่มต้นชีวิตใหม่สำหรับเขาและครอบครัว

 

 

เจ็ดปีต่อมา เขายังโกรธเมื่อนึกถึงความทรงจำนี้ เพราะชีวิตของเขาและครอบครัว ถูกปฏิบัติเหมือนคนไร้ค่า

 

 


ผู้คนที่ตกค้าง

 

ประธานาธิบดีไบเดนให้สัญญาว่า การอพยพล่ามจำนวนมากจะเริ่มขึ้นก่อนเดือนสิงหาคม และในวันศุกร์ (30 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา ชาวอัฟกานิสถาน 200 คนเดินทางถึงสหรัฐฯ เพื่อกรอกใบสมัครวีซ่าและเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

 

ตั้งแต่ปี 2008 มีล่ามราว 50,000 คนทำงานร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ทำให้ล่ามและครอบครัวชาวอัฟกานิสถานประมาณ 70,000 คน จะได้ย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาภายใต้วีซ่าผู้อพยพพิเศษที่ได้รับจากการทำงานให้กองทัพ

 

 

แต่ยังมีล่ามที่ตกค้างราว 20,000 คน และครอบครัวของพวกเขายังคงต้องพบทางตัน พวกเขาเผชิญกับกระบวนการขอวีซ่าที่ยุ่งยากและซับซ้อน และภัยคุกคามจากกลุ่มตาลีบันที่บุกตะลุยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

 

นับแต่ปี 2009 มีล่ามประมาณ 300 คนเสียชีวิต ขณะขอวีซ่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจใช้เวลานานหลายปี ความล่าช้านี้กระทบความรู้สึกของกาห์ฟูรีเข้าอย่างจัง

 

 

“คนเหล่านี้ลุกขึ้นต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ทหารสหรัฐฯ และอัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้มีคนกำลังแกล้งทำเป็นหลงลืม และทิ้งพวกเขาไว้ที่นั่น...ปล่อยให้พวกเขาตาย”

 

 

 

อัฟกานิสถานในความทรงจำ

 

ในปี 2002 กาห์ฟูรีสมัครเข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ ในฐานะล่าม เมื่ออายุ 18 ปี มันเป็นงานประจำงานแรก เป็นการทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับแม่ของเขาในอดีต

 

 

กาห์ฟูรี เคยเป็นนักเรียนชั้นประถมที่มีกิจกรรมมากมายทั้งการไปโรงเรียน เตะฟุตบอล หรือเล่นเกมเกมกับพี่น้องเจ็ดคนของเขา แต่ในที่สุด จุดจบของความไร้เดียงสาก็มาถึง

 

 

เขาเล่าว่าย่านที่มีชีวิตชีวาของเขาเปลี่ยนไปภายใต้การปกครองแบบอิสลามที่เคร่งครัด เมื่อตาลีบันเริ่มยึดครองอัฟกานิสถาน ผู้คนถูกทุบตีชาวบ้านตามอำเภอใจ ความเงียบสงบแปลก ๆ เกิดขึ้น เมื่อครอบครัวต้องซ่อนตัวอยู่ในบ้าน พี่สาวของเขาถูกห้ามไม่ให้ไปโรงเรียน

 

 

พี่ชายของกาห์ฟูรี ถูกทุบตีและถูกขังในคุก หลังจากที่มีคนได้ยินเขาพูดภาษาถิ่นของหุบเขาปันจ์ชีร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของการต่อต้านกลุ่มตาลีบัน

 

 

จากนั้น ภายในไม่กี่วัน พ่อแม่ของกาห์ฟูรีตัดสินใจว่าพวกเขาไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ ทั้งครอบครัวนี้อพยพออกจากบ้านในกรุงคาบูล ย้ายไปอยู่ที่เมืองปาชาวาร์ ประเทศปากีสถาน

 

 

 

แค้นนี้ต้องชำระ

 

“ผมบอกแม่ว่า 'เมื่อผมโตขึ้น ผมจะต่อสู้กับคนเหล่านี้'” กาฟูห์รีกล่าว

 

ครอบครัวของเขายังคงอยู่ในปากีสถาน ทำให้เขาได้เรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนในปาชาวาร์ จนกระทั่งปี 2001 เมื่อสหรัฐฯ เริ่มการบุกโจมตี

 

 

กาห์ฟูรีกลับไปใช้ชีวิตในอัฟกานิสถาน แต่งงานและเริ่มสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนในท้องถิ่น ภายในไม่กี่เดือนหลังจากที่เขากลับมา เพื่อนคนหนึ่งบอกเขาว่าทหารสหรัฐฯ กำลังต้องการล่าม และในวันรุ่งขึ้น กาห์ฟูรีปรากฏตัวที่ฐานทัพในกรุงคาบูลเพื่อถามเกี่ยวกับงาน

 

 

"พวกเขาแค่ต้องการจ้างคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ แม้ผมไม่รู้คำศัพท์ทางการทหาร พวกเขาบอกผมว่า ไม่มีปัญหา"

 

 

 


“บูย่า”

สำหรับกาห์ฟูรีแล้ว การทำงานร่วมกับหน่วยรบ Green Berets ทำให้เขาต้องอยู่ใกล้กับความตายและความรุนแรงเกือบตลอดเวลา

 

 

เขาปฏิเสธคำขอจากภรรยาและครอบครัวที่ขอให้เลิกทำงานนี้ และยังบอกว่าว่าเขาอุทิศตนให้กับ "พี่น้อง" ของเขาในกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งตั้งฉายาให้เขาว่า ‘บูย่า’ ทั้งยังยืนยันว่าเขารักในงานนี้ แม้จะต้องไปอยู่โยงหลายเดือน และถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการทำงานเป็นแนวหน้า

 

 

ในเดือนเมษายน ปี 2008 เขาลงพื้นที่ร่วมกับกองกำลังสหรัฐฯ ในยุทธการที่ 'หุบเขาโชค' ที่เขาต้องติดในดงกระสุนเกือบหกชั่วโมง เพื่อนรักของเขาซึ่งเป็นล่ามอีกคนถูกฆ่าตาย การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้ทหารจำนวนมากได้เหรียญกล้าหาญซิลเวอร์สตาร์ ที่มีเกียรติเป็นเหรียญลำดับสอง เริ่มแจกเป็นรางวัลความกล้าหาญตั้งแต่สงครามเวียดนาม​เป็นต้นมา

 

 

กาห์ฟูรีได้รับรางวัล Purple Heart สำหรับอาการบาดเจ็บของเขา เมื่อเขามาถึงสหรัฐอเมริกา เศษกระสุนยังคงฝังอยู่ในร่างกายของของเขาจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

กระบวนการที่ "น่าขยะแขยง"

 

เขายื่นขอวีซ่าสหรัฐอเมริกาในปีนั้น ภายใต้โครงการวีซ่าใหม่ที่สร้างขึ้นโดยรัฐสภาในปี 2008 คือ วีซ่าผู้อพยพพิเศษ (Special Immigrant Visa) สร้างขึ้นมาสำหรับชาวอัฟกานิสถานและชาวอิรัก ที่ทำงานร่วมกับทหารสหรัฐฯ ในกรณีความขัดแย้งโดยเฉพาะ

 

 

แต่วีซ่าของกาห์ฟูรี ต้องใช้เวลาหกปีจึงจะได้รับการอนุมัติ ซึ่งเขาอธิบายกระบวนการนี้ว่า "น่าขยะแขยง"

 

 

“ผมไม่รู้ว่าทำไมมันถึงใช้เวลานานขนาดนี้ ทั้งที่เราอยู่ในฐานข้อมูลของสหรัฐฯ แล้ว” เขากล่าว “ผมไม่รู้ว่าจะมีใครสามารถอธิบายให้กระทรวงการต่างประเทศฟังได้ว่า คนเหล่านี้ได้ทำอะไรให้กับพวกเขาทั้งสองประเทศบ้าง”

 

 

 

สู่แดนเสรีภาพ ที่ไม่เป็นดังหวัง

 

ในฤดูร้อนปี 2014 กาห์ฟูรีได้รับการอนุมัติวีซ่าทางอีเมล ขณะปฏิบัติหน้าที่ในเมืองจาลาลาบัด จังหวัดนันการ์ฮาร์ เขารู้สึกแปลก ๆ และไม่อยากจะทิ้งอัฟกานิสถานไว้ข้างหลัง แต่ตาลีบันเริ่มปฏิบัติการมัดมือชก ครอบครัวของกาห์ฟูรีเริ่มได้รับจดหมายนิรนาม ซึ่งเป็นคำขู่ที่เขียนด้วยลายมือ เพื่อกีดกันความร่วมมือของเขากับกองกำลังสหรัฐฯ

 

 

ในที่สุด สามเดือนหลังจากการอนุมัติ กาห์ฟูรีและครอบครัวของเขา ขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ไปเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี แต่เมื่อเครื่องลงจอดกาห์ฟูรีก็ต้องตกใจ พวกเขาไม่พบการต้อนรับ หรือการรับรองใด ๆ หรือใครที่คุ้นเคยเลย

 

 

จากนั้น เขาพาครอบครัวไปขึ้นรถรับจ้าง และมุ่งไปที่เมืองแมนนัสซัส รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเขาได้ยินมาว่ามีชาวอัฟกานิสถานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กาห์ฟูรีพยายามติดต่อกับองค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งช่วยเหลือผู้ถือวีซ่าผู้อพยพพิเศษ จนกระทั่งอาสาสมัครคนหนึ่งโทรกลับมาบอกว่า พวกเขาได้พบครอบครัวของเขาแล้ว และได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

 

 

"เธอพาผมไปที่สถานสงเคราะห์คนจรจัด" กาห์ฟูรีกล่าว “ผมมองไปรอบ ๆ และคิดว่า นี่ไม่ใช่ที่ที่ลูก ๆ ของผมจะเติบโตขึ้น” เขากล่าวอย่างผิดหวังกับประเทศที่สัญญาว่าจะดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด

 

 

 


"นี่คือบ้านของนาย"

 

ด้วยความสิ้นหวัง กาห์ฟูรีโทรหาอดีตหัวหน้าทีมรบ และบอกเขาว่าเขาอยู่ที่ไหน ไม่กี่วันต่อมา หัวหน้าของเขามาถึงเวอร์จิเนียและขับรถพากาห์ฟูรีและครอบครัวไปที่บ้านในรัฐนอร์ทแคโรไลนา

 

 

"เขาบอกผมว่า นี่คือบ้านของนาย และนายสามารถอยู่ที่นี่ได้เท่าที่นายต้องการ" กาห์ฟูรีบอกว่า เขาไม่มีวันลืมคำพูดนี้เด็ดขาด

 

 

ในที่สุดกาห์ฟูรีก็สามารถพาครอบครัวไปอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ในเมืองชาร์ล็อตต์ และขยับมาเป็นบ้านไม้เรียบง่ายในถนนที่เงียบสงบในที่สุด ซึ่งเขาเริ่มต้นทำงานก่อสร้างและทำงานที่ร้านสะดวกซื้อ

 

 

เขาพอใจกับความเรียบง่ายของชีวิตใหม่ ลูก ๆ ที่ไปและกลับโรงเรียนอย่างปลอดภัย และภรรยาที่สามารถออกไปทำงานอย่างอิสระ

 

 

ลูกทั้งสี่คนของเขาใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องอย่างรวดเร็ว ปีที่แล้ว ภรรยาของเขาและลูกคนโตสามคนได้สาบานตนเป็นพลเมืองอเมริกัน ลูกชายคนสุดท้องของเขาอายุ 6 ขวบ เป็นพลเมืองสหรัฐฯ โดยกำเนิด และพูดด้วยสำเนียงนอร์ทแคโรไลนาเล็กน้อย

 

 

เขาเริ่มก่อตั้งมูลนิธิล่ามเพื่อเสรีภาพ กองทุนเพื่อช่วยเหลือล่ามที่ต้องการย้ายถิ่นฐานมายังสหรัฐฯ และล่ามจำนวนมากที่เขาช่วยเหลือ ยังประสบปัญหากับกระบวนการทางราชการที่ซับซ้อน

 

 

 

'ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง'

 

นับตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากอัฟกานิสถานในเดือนเมษายน จำนวนเขตยึดครองของตาลีบันเพิ่มขึ้นสามเท่า จาก 72 เป็น 221 แห่ง ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อการป้องกันประชาธิปไตย (Foundation for the Defense of Democracy) ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอัฟกานิสถานจะล่มสลายอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า

 

 

ส่วนการอพยพของทหารสหรัฐฯ เกิดขึ้นในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานเท่านั้น ทำให้พื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกยึดครองของตาลีบัน เช่น กันดาฮาร์และเฮลมันด์ ที่เคยเป็นที่ตั้งของกองทหารสหรัฐฯ หลายพันนาย ล่ามจำนวนมากในพื้นที่ขณะนี้ ต้องถูกจับกุมหรือประหารชีวิต

 

 

สำหรับกาห์ฟูรีแล้ว การถอนตัวของสหรัฐฯ นั้นถือว่าเป็นการทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง

 

 

เขายังสับสนและพยายามทำความเข้าใจว่าชาวอเมริกันส่งทหารกลับบ้านโดยทิ้งพันธมิตรไว้ข้างหลังได้อย่างไร เขารักประเทศที่รับเลี้ยงเขา แต่คิดว่านักการเมืองในประเทศทรยศต่อเขาและคนอื่น ๆ ที่รับใช้ประเทศแห่งนี้

 

 

“ตาลีบันยังคงสังหารผู้บริสุทธิ์อยู่” เขากล่าว "ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"ชะต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง