แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ ? จันทรายาน-3 ตรวจพบแรงสั่นสะเทือนใต้พื้นผิวดวงจันทร์
จันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย สามารถเก็บบันทึกข้อมูลแผ่นดินไหว (Seismic Data) บนดวงจันทร์ได้ หากได้รับการยืนยันว่าเป็นข้อมูลแผ่นดินไหวตามธรรมชาติ มันก็จะสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจได้ว่าภายในดวงจันทร์นั้นจัดเรียงอย่างไร
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการบันทึก โดยเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ (Instrument for Lunar Seismic Activity : ILSA) ของยานวิกรม (Vikram) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีระบบเครื่องกลไฟฟ้าไมโคร (Micro Electro Mechanical Systems: MEMS) ตัวแรกบนดวงจันทร์ ซึ่งมันสามารถบันทึกแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากรถสำรวจที่แล่นอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ และสามารถบันทึกแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากธรรมชาติได้ด้วย เช่น แผ่นดินไหว
วันที่ 25 สิงหาคม 2023 ILSA สามารถบันทึกการสั่นสะเทือนของรถโรเวอร์ไว้ได้ นอกจากนี้ในวันที่ 26 สิงหาคม มันก็ได้วัดแรงสั่นสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติไว้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบแหล่งที่มาของการสั่นสะเทือนนั้น
นี่นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลแผ่นดินไหวของดวงจันทร์ที่ใหม่ที่สุดที่มนุษย์โลกเรามีคือข้อมูลที่รวบรวมโดยโครงการอะพอลโลในปี 1977 นักวิทยาศาสตร์อยากได้ข้อมูลเหล่านี้ เนื่องจากเรายังไม่รู้ว่าภายในดาวบริวารของโลกเรานี้จัดเรียงอย่างไร และข้อมูลแผ่นดินไหวจะช่วยให้เรื่องนี้กระจ่างขึ้นได้อย่างมาก
สำหรับยานลงจอดจันทรายาน-3 ของอินเดีย ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2023 ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ และเป็นชาติแรกที่ลงจอดใกล้ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ นับจากนั้นก็ได้มุ่งตรวจสอบองค์ประกอบของดินบนดวงจันทร์ โดยพบซัลเฟอร์ อะลูมิเนียม แคลเซียม เหล็ก โครเมียม ไทเทเนียม แมงกานีส ซิลิคอน และออกซิเจน
นี่นับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวใหญ่ของมนุษยชาติ และหวังว่าภารกิจนี้จะทำให้เรารู้จักดาวบริวารของโลกเรามากยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล Iflscience, Sciencealert, Twitter
ที่มารูปภาพ Currentaffairs