รีเซต

TMB เผย Q3/63 สินเชื่อลดลง 1.4% จากไตรมาสก่อน, รวมกิจการเสร็จ ก.ค.64

TMB เผย Q3/63 สินเชื่อลดลง 1.4% จากไตรมาสก่อน, รวมกิจการเสร็จ ก.ค.64
ทันหุ้น
20 ตุลาคม 2563 ( 16:53 )
106

 ทันหุ้น-สู้โควิด TMB  เผยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองไตรมาส 3/63  อยู่ที่ 8,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ด้านการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6,863 ล้านบาท เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงถัดไป หลังหักสำรองฯ และภาษี กำไรสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ 1,619 ล้านบาท โดยรวม 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 8,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อนหน้า ส่วนภารกิจรวมธนาคารคาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนกรกฎาคมปี 2564 ตามแผน


นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB  เปิดเผยว่า  ไตรมาส 3 ภาพรวมการดำเนินงานยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ดี การทยอยรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการถือเป็นปัจจัยหนุนในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้


ทั้งนี้ ภายหลังการรวมกิจการ ทั้งทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตได้ดำเนินการปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) ซึ่งช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินและอัตราผลตอบแทนได้ดีขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.92% เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้งก็ตาม 


ขณะเดียวกันการรับรู้ผลประโยชน์ด้านต้นทุน (Cost Synergy) ช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ทรงตัวอยู่ที่ 46% และมีกำไรจากการดำเนินงานใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า


ด้านการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 นั้น ถือได้ว่าสถานะปัจจุบันของธนาคารมีความแข็งแกร่งทั้งในด้านสภาพคล่อง ด้านฐานเงินกองทุน และคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งนี้ ทีเอ็มบีดำเนินการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและบริหารจัดการหนี้เสียในเชิงรุกมาโดยตลอด ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทีเอ็มบีมีสัดส่วนหนี้เสียในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ขณะที่ธนาคารธนชาตนั้นก็เป็นธนาคารที่มีคุณภาพสินเชื่อที่ดีและมีหนี้เสียในระดับต่ำอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนรวมกิจการ


สำหรับสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้นั้น ในส่วนของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยกลุ่มแรกๆ ได้เริ่มทยอยครบกำหนดไปบ้างแล้วและส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ดังนั้น ในไตรมาส 3 จึงเห็นสัดส่วนสินเชื่อภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 40% ณ ไตรมาส 2 ขณะที่ลูกค้าธุรกิจรวมถึงเอสเอ็มอีนั้นจะเริ่มครบกำหนดปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งก็จะส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ทยอยลดลงเป็นลำดับในไตรมาสถัดไป


 อย่างไรก็ดี ธนาคารตระหนักดีว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงมีแผนตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อเสริมกันชนในการรองรับความเสี่ยงให้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยในไตรมาส 3 ได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเป็น 6,863 ล้านบาท เทียบกับ 4,972 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 2.33% จาก 2.34% ช่วยหนุนให้อัตราส่วนเงินสำรองฯ ต่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 132% จาก 114% จากไตรมาสก่อน


นอกจากตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นแล้ว ธนาคารก็ดำเนินการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ โดยมีการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าปกติหรือลูกค้าที่อยู่ในโปรแกรมพักชำระหนี้ เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของลูกค้า ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงดำเนินการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกัน


 สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงาน มีดังนี้ ทีเอ็มบีและบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 16,212 ล้านบาท ลดลง 2.2% จากไตรมาสก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานบริหารจัดการได้ดี โดยอยู่ที่ 7,429 ล้านบาท ลดลง 4.5% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 8,809 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 8,791 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน โดยรวมรอบ 9 เดือน มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 27,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  89.5% จากปีก่อนหน้า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธนาคารจึงตั้งสำรองฯ ตามมาตรฐาน TFRS9 ในระดับสูงที่ 16,595 ล้านบาท เทียบกับการตั้งสำรองฯ 7,222 ล้านบาท รอบ 9 เดือนปีที่แล้ว ส่งผลให้กำไรสุทธิ 9 เดือนอยู่ที่ 8,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า


 ในส่วนเงินฝาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 1.41 ล้านล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 0.6% จากปีก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างเงินฝากภายหลังการรวมกิจการ โดยการลดสัดส่วนเงินฝากประจำ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินฝากลูกค้ารายย่อย เช่น No Fixed และ All Free รวมถึงผลจากการบริหารฐานเงินฝากให้สอดคล้องกับยอดสินเชื่อ


**สินเชื่อลดลง


โดยยอดสินเชื่ออยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท ลดลง 1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 2.1% จากปีก่อนหน้า ตามการชะลอลงของยอดสินเชื่อใหม่ การชำระคืนหนี้ และจากการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อด้วยการลดสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ซึ่งปัจจุบันกว่า 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน


ทั้งนี้ จากการบริหารยอดเงินฝากและสินเชื่อ รวมถึงสินทรัพย์สภาพคล่องอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธนาคารมีอัตราส่วน LCR ซึ่งบ่งบอกถึงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ใช้รองรับความผันผวนในภาวะวิกฤต อยู่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 100% มาโดยตลอด โดยปัจจุบัน LCR ตามงบการเงินรวมอยู่ที่ประมาณ 200%


 ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่งและสูงเป็นลำดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อัตราส่วน CAR และ Tier I เบื้องต้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.9% และ 14.8% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ


อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิ๊ก
https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิ๊ก
https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิ๊ก
https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิ๊ก
https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิ๊ก
https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิ๊ก
https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิ๊ก
https://twitter.com/thunhoon1



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง