รีเซต

อยากแก้หนี้?ต้องเริ่มที่ ปรับ'Mindset'

อยากแก้หนี้?ต้องเริ่มที่ ปรับ'Mindset'
TNN ช่อง16
11 กันยายน 2563 ( 12:40 )
154
อยากแก้หนี้?ต้องเริ่มที่ ปรับ'Mindset'

        ปัญหาหนี้สิน เป็นเรื่องที่สร้างความเครียดให้อย่างแน่นอน ยิ่งเศรษฐกิจต้องเจอกับวิกฤตรอบด้าน ย่อมส่งผลกระทบไปถึงการทำงาน การทำธุรกิจสภาพคล่องสะดุด แล้วหนี้สินที่มีอยู่จะทำอย่างไรกันดีล่ะ 

       ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมาก จนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 พบคนไทยประมาณ 21 ล้านคนเป็นหนี้ โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบว่าในปี 2561 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากการบริโภค (Personal Consumption) สะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีสัดส่วนสูงถึง 34%  ขณะที่หนี้รถมีสัดส่วน 25% หนี้บ้านมีสัดส่วน 40% และหนี้อื่นๆ อีก 1 % ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอังกฤษ หนี้ที่เกิดจากการบริโภคมีสัดส่วนไม่ถึง 5%


โควิด-19 ทำให้ปัญหาด้านการเงินเร่งออกมาชัดเจนเร็วขึ้น

        คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปัญหาหนี้อาจจะเกิดจากความคิดและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว ประกอบกับธนาคารเองก็ได้มีการออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างความสะดวกในการใช้จ่ายและช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

       คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และการวางแผนด้านการเงิน โดยช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนที่เป็นหนี้และสถาบันการเงินตระหนักถึงปัญหาที่ซ่อนไว้ ซึ่งถูกเร่งออกมาชัดเจนเร็วขึ้น ทำให้เห็นว่างานที่มั่นคงก็ไม่แน่นอน คนที่มีหนี้อยู่แล้วก็เป็นหนี้หนักขึ้น คนที่ยังไม่เคยเป็นหนี้และไม่เคยวางแผนเพื่อจะเป็นหนี้ ก็กลับเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงเวลาที่ขาดรายได้ 

ปรับ'Mindset' เริ่มต้นจากการ "ยอมรับ" 

     คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัด กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งความน่ากลัว เริ่มต้นจากความกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่ความกลัวไม่ได้หายไป  คนยังกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงานและรายได้ที่อาจจะหายไป โดยเฉพาะคนที่เป็น “หนี้” จะเป็นกลุ่มคนที่กลัวอนาคตมากที่สุด  ส่งผลให้ภาวะจิตใจย่ำแย่ มีความคิดลบจนอยู่ในภาวะที่มองไม่เห็นทางออกและไม่มีแรงที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหา 


ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัด

        แต่จริงๆ แล้วทุกคนสามารถปรับให้สมองพร้อมที่จะแก้ปัญหาได้  และอยากให้เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก  ซึ่งการปลดล็อกแนวคิดยามเป็นหนี้ต้องเริ่มจากการจัดระเบียบความคิดใหม่แล้วหาทางออก  โดย " เปิดใจเรียนรู้และยอมรับ" ขั้นแรกคือการยอมรับว่า "ฉันเป็นหนี้" จากนั้นให้ยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น ธนาคาร หรือ ผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงิน ที่จะมาช่วยเราจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ 

ปลดล็อกพฤติกรรมการแก้หนี้แบบผิดๆ

        คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม มันนี่โค้ชคนดัง กล่าวว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมแก้หนี้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น พยายามแก้ปัญหาเอง ไม่กล้าขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ติดกับดักการเป็นหนี้แบบไม่มีวันจบ ดังนั้น การปลดล็อกต้องหันกลับมาหาจุดตั้งหลัก  ด้วยการ "ปรับและเปลี่ยนพฤติกรรม"  เริ่มต้นก้าวแรกด้วยการเดินไปคุยกับคู่สัญญา หรือธนาคาร เพื่อประเมินสถานการณ์และหาทางออกร่วมกัน   

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม มันนี่โค้ช 

ซอฟท์โลน-รีไฟแนนซ์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้?

        โค้ชหนุ่มบอกว่า "การรีไฟแนนซ์ไม่ใช่วิธีการแก้หนี้ " แต่เป็นเพียงการบรรเทาภาระหนี้เพราะ "หนี้ยังไม่ได้หายไปไหน" แค่เป็นการเปลี่ยนเจ้าหนี้  และช่วยให้ภาระผ่อนชำระน้อยลงเพิ่มสภาพคล่องให้กับเรา  ซึ่งการจะแก้หนี้คือต้อง"เปลี่ยนพฤติกรรม"การใช้เงินเพื่อกลับมาตั้งหลักใหม่ ได้แก่ 

การลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายหนี้ ต้องหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายหนี้ตรงนี้ในแต่ละเดือน  มีการ วางแผนการชำระหนี้ตลอดอายุสัญญา

- เลือกใช้เวลา นั่นคือใช้เวลาในการโฟกัสการแก้ปัญหา ไม่ต้องรอเวลาในการแก้หนี้ รวมทั้งใช้เวลาในการหันหน้าคุยกับธนาคารเพื่อเจรจา หรือขอคำปรึกษาว่าจะจัดการกับปัญหาเรื่องหนี้ที่มีอยู่ตอนนี้อย่างไรดี 

- มองหาทักษะของตนเองเพื่อนำมาเพิ่มรายได้อย่างไร 

        ดังนั้น การแก้หนี้คือการเริ่มจากตัวเรา หากปรับพฤติกรรมของตนเองได้ ค่อยๆลดหนี้ไปเรื่อยๆ ภาระหนี้สินที่มีก็จะค่อยๆหมดไปในที่สุด 

        "จุดเริ่มต้นของการแก้หนี้ คือเริ่มต้นจากการยอมรับว่าตัวคุณเองมีปัญหา แล้วก็ไม่ต้องไปรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจใดๆ มองไปข้างหน้าว่าเราต้องมีชีวิตอยู่อีกหลายปี แล้ว "เราจะมีชีวิตที่ดีได้ก็เริ่มจากการ ข้ามปัญหาในวันนี้ก่อน""


  แชร์เทคนิครีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ทำอย่างไรไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีก!

  ซื้อรถยนต์ 1 คันมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คุ้มไหม?ถ้าหักลดหย่อนภาษีได้

  เช็กด่วน!มาตรการพักหนี้แต่ละแบงก์สิ้นสุดเมื่อไหร่?


 แบงก์ต้องช่วยวางแผนและช่วยแก้ปัญหาหนี้

        ในด้านของสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้ของผู้กู้เองก็จะต้องปรับบทบาท นอกจากจะเป็นผู้หยิบยื่นหนี้ให้แล้ว ยังต้องปรับบทบาทใหม่ที่จะช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น (Financial Well-being) ให้ประชาชนหรือลูกค้าเติบโตไปพร้อมๆกัน และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น 


ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB

            คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารได้จัดตั้งทีมงานขึ้นมาใหม่ที่เน้นให้การให้คำปรึกษาผ่านผู้เชี่ยวชาญ (Debt Advisory) จำนวน 100 คน โดยเป็นทีมงานที่ย้ายมาจากทีมขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งนำมาอบรมเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ โดยธนาคารได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาหนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทีมที่ปรึกษาการแก้หนี้จะนำเสนอทางเลือกต่างๆ เช่น การทำ Debt Consolidation เพื่อให้ลูกค้าสามารถรวมภาระหนี้ที่มีจากหลายๆบัญชีสินเชื่อให้เหลือหนี้เพียงบัญชีเดียว และจะได้รับการขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระตามสินเชื่อมีหลักประกันช่วยลดภาระการผ่อนโดยรวมลง ในระยะต่อไปธนาคารคาดว่าจะเปิดให้ลูกหนี้ข้ามแบงก์ เข้าโครงการได้ ขณะนี้นำร่องที่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าของทีเอ็มบีกับธนชาตก่อน

        “ปัจจุบันทีเอ็มบีและธนชาตมีโซลูชันที่ลูกค้าสามารถนำมาใช้ตามคอนเซปต์ การรวมหนี้ ได้แก่ สินเชื่อทีเอ็มบี บ้านแลกเงิน และสินเชื่อธนชาตไดรฟ์ รถแลกเงิน ที่จะช่วยลดดอกเบี้ย ลดค่างวด และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าได้ และพร้อมให้ลูกค้ารู้จักเครื่องมือทางการเงิน และเลือกใช้สินเชื่อที่เหมาะสม แต่ที่สำคัญแก้หนี้ได้แล้ว อย่ากลับมาเป็นหนี้อีก” คุณปิติ กล่าว 



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง