รีเซต

24 กันยายน เปิดประวัติ “ธงมหิดล” ธงที่ระลึก “วันมหิดล” ที่เป็นมากกว่าธง

24 กันยายน เปิดประวัติ “ธงมหิดล” ธงที่ระลึก “วันมหิดล” ที่เป็นมากกว่าธง
Ingonn
10 สิงหาคม 2566 ( 14:44 )
1.8K
24 กันยายน เปิดประวัติ “ธงมหิดล” ธงที่ระลึก “วันมหิดล” ที่เป็นมากกว่าธง

ข่าววันนี้ วันมหิดล วันสำคัญที่ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย" และนับเป็นวันสำคัญของศิริราช ซึ่งจะมีการผลิตธงที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของวันนี้ ก็คือ “ธงวันมหิดล” ของที่ระลึกจากฝีมือนักศึกษาแพทย์และสมาชิกกลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาทุกคณะ

 

ประวัติ วันมหิดล

 

ธงมหิดลจะถูกผลิตขึ้นโดยใช้สีของวันซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายนของปีนั้น ๆ และในปีนี้เอง วันที่ 24 กันยายน 2564 ตรงกับวันศุกร์ ธงมหิดลของปีนี้จึงเป็นสีฟ้า

 

 

จุดเริ่มต้น ธงที่ระลึกมหิดล


การรับบริจาคธงวันมหิดล มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 โดยแรกเริ่มเป็นความคิดของ ศ.นพ.กษาน จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในขณะนั้น ได้เสนอให้สโมสรนักศึกษาแพทย์เปิดรับบริจาค “ธงที่ระลึกวันมหิดล” เพื่อเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลศิริราช

ในยุคแรกของการจัดทำธงที่ระลึกวันมหิดล มีการทำธงออกเป็น 2 แบบ คือ ธงขนาดเล็ก ทำด้วยริบบิ้นสีขาว จำหน่ายในราคา 1 บาท และธงรูปสามเหลี่ยมขนาดกลางทำด้วยผ้าต่วน ราคา 10 บาท ตรงกลางผืนธงพิมพ์พระรูปสมเด็จพระบรมราชชนกสีเขียวบนผ้าขาว มีข้อความ “ที่ระลึกวันมหิดล วันที่ 24 กันยายน โรงพยาบาลศิริราช” ล้อมรอบเป็นกรอบวงกลม จากนั้นนักศึกษาแพทย์จะเป็นผู้ออกรับบริจาคเงินตามสถานที่ต่างๆ โดยถือกระป๋องสังกะสีที่ปิดสลากว่าเป็นกระป๋องรับบริจาคธง เมื่อผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินลงกระป๋อง นักศึกษาแพทย์ก็จะมอบธงให้เป็นที่ระลึก


ในปีต่อๆ มา ธงที่ระลึกวันมหิดลมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไป โดยมีทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ขนาดเล็กยังคงเป็นริบบิ้นเช่นเดิม ธงขนาดกลางรูปสามเหลี่ยมขนาด 10 x 25 ซม. จำหน่ายในราคา 10 บาทขึ้นไป และธงขนาดใหญ่รูปสามเหลี่ยมขนาด 25 x 40 ซม. ราคา 500 บาทขึ้นไป สำหรับสีของธงในยุคนี้ จะมีเพียงแค่ 2 แบบ คือ ธงสีขาวพิมพ์รูปสีเขียว หรือธงพื้นเขียวพิมพ์รูปสีขาว สลับกันไป


จนเมื่อ พ.ศ. 2509 คณะกรรมการจำหน่ายธงที่ระลึกวันมหิดล ได้เปลี่ยนแปลงให้ใช้ผ้าสีม่วงทำธง เพราะวันมหิดลในปีนั้นตรงกับวันเสาร์ และพิมพ์คำว่า “พ.ศ. 2509” ลงบนธงด้วย นับแต่นั้นเป็นต้นมาธงวันมหิดลก็เปลี่ยนสีไปตามสีประจำวันมหิดลในปีนั้นๆ โดยสีของพระรูปของจะเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้จัดทำเสาไม้สักสำหรับแขวนธงจำหน่ายในราคา 100 บาทขึ้นไป และจัดทำสติ๊กเกอร์ที่ระลึกขึ้นแทนริบบิ้นแบบเดิม


การเปิดรับบริจาคธงในระยะแรก จะออกรับบริจาคในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น โดยใช้วิธีการเดินเท้าไปตามบ้าน ตลาด ร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงมีการการนั่งเรือไปรับบริจาคจากประชาชนที่มีบ้านอยู่ติดแม่น้ำลำคลอง และการรับบริจาคทางโทรทัศน์ 


เมื่อปี พ.ศ. 2511 จึงขยายขอบเขตการจำหน่ายออกไปตามต่างจังหวัดใกล้เคียง แต่มีข้อแม้ว่า จังหวัดเหล่านั้นจะต้องไม่เป็นจังหวัดที่มีสถาบันอื่น ๆ จัดงานวันมหิดล หากมีสถาบันอื่นจัดงานวันมหิดลอยู่แล้ว ทางศิริราชจะถอนตัวออกมา 


นับแต่นั้นเป็นต้นมา การจำหน่ายธงจึงขยายออกไปจังหวัดรอบนอก โดยฝั่งเหนือสุดถึงนครสวรรค์ ตะวันออกเฉียงเหนือถึงโคราช ตะวันออกถึงปราจีนบุรี ทิศใต้ถึงเพชรบุรี ต่อมาคณะกรรมการ ยกเลิกการรับบริจาคธงในจังหวัดที่มีระยะทางไกล ให้คงเหลือแต่จังหวัดที่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่เกิน 150 กิโลเมตร ทำให้ พ.ศ. 2521 เหลือการรับบริจาคธงในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง 16 จังหวัด และบริเวณแม่น้ำลำคลองรอบศิริราชเท่านั้น


ในทุกปี ก่อนไปออกรับบริจาค จะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้น ก็คือ พิธีปฏิญาณตนเบื้องหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนกของนักศึกษา

 

“ธงมหิดล” ยุคโควิด-19

ในปีก่อน ๆ การทำธงที่ระลึก หรือ “ธงมหิดล” นักศึกษาคณะต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยมหิดล จะมาร่วมแรงร่วมใจทำธงทุกคืนวันศุกร์แบบโต้รุ่งกันที่โรงพยาบาลศิริราช จนสามารถผลิตธงได้มากถึงหลักแสน แต่ในปีนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องจำกัดการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ตามมาตรการ Social Distancing ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำธงวันมหิดลอย่างมาก จึงทำให้การทำธงวันมหิดลในปีนี้ไม่เหมือนปีที่ผ่านมา

ในช่วงก่อนการล็อกดาวน์ นักศึกษาได้เริ่มสกรีนตราพระรูปลงบนผืนผ้าธงแล้ว นำไปขีดเส้นแบ่งธง แล้วนำไปตัดด้วยกรรไกรซิกแซ็กให้เป็นธงสามเหลี่ยมขนาดเท่ากัน ก่อนจะนำไปเย็บหัวธงเพื่อใส่ก้าน ผูกเชือก โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ มีการจัดการทำงานแบบ New Normal ทั้งการจัดให้โต๊ะแบบเว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิทุกคนก่อนเข้าพื้นที่ และที่แตกต่างจากปีก่อน ๆ คือ ในช่วงล็อกดาวน์นี้ มีอาสาสมัครทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่า ร่วมรับอุปกรณ์ทำธง เพื่อนำกลับไปทำที่บ้าน โดยมีคู่มือ และ VDO สอนทำธงให้เรียนรู้ที่บ้านแบบ Work From Home ได้ 

 

แม้จะมีการวางแผนรับมือการทำธงวิถีใหม่ไว้เป็นอย่างดี แต่ยังคงมีหลายเรื่องที่ต้องติดตามควบคุม ทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่มีจำกัด จำนวนคนที่มาเข้าร่วมทำธงน้อยลง การส่งคืนหรือขนส่งที่ล่าช้า เพราะธงทุกผืนทำด้วยมือ (Handmade) ทุกขั้นตอนล้วนต้องใช้ระยะเวลาและความประณีต เมื่อได้รับธงกลับคืนมายังต้องตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตรฐาน สวยงาม บางผืนที่ขนาดไม่เท่ากัน ตัดไม่ตรง จะถูกคัดทิ้งไปทั้งหมด เพื่อส่งมอบธงที่ดีที่สุดแก่ผู้บริจาค 

 

แม้ว่าธงที่ระลึกวันมหิดล จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไป แต่ธงที่ระลึกวันมหิดลก็ยังมีรูปแบบที่คงความเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ และมีโอกาสได้รำลึกถึงพระเกียรติคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกอีกด้วย

 

 


ข้อมูลจาก Siriraj Museum - พิพิธภัณฑ์ศิริราช

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง