รีเซต

โควิด-19 ทำอัตราเจริญพันธุ์ในเกาหลีใต้ร่วงต่ำสุดในโลก

โควิด-19 ทำอัตราเจริญพันธุ์ในเกาหลีใต้ร่วงต่ำสุดในโลก
TNN ช่อง16
25 กุมภาพันธ์ 2564 ( 01:47 )
127
โควิด-19 ทำอัตราเจริญพันธุ์ในเกาหลีใต้ร่วงต่ำสุดในโลก

วันนี้ ( 25 ก.พ. 64 )สำนักงานสถิติเกาหลีเปิดเผยตัวเลขประจำปีของอัตราการเจริญพันธุ์ หรือ จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งให้กำเนิดตลอดวัยมีบุตรของตนของเกาหลีใต้ ในปี 2020 ลดลงไปอยู่ที่ 0.84 ลดดลงจากสถิติที่ต่ำที่สุดเมื่อปี 2019 ที่บันทึกไว้ที่ 0.92 ซึ่งก็ถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกาหลีใต้กลายมาเป็นประเทศที่มีอัตราการมีบุตรต่ำที่สุดในโลก จาก 180 ประเทศตามข้อมูลของธนาคารโลก ตามหลังสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ 1.73 และญี่ปุ่นที่ 1.42

 

ตัวเลขที่เป็นสถิติต่ำที่สุดของเกาหลีใต้ในแง่ของอัตราการมีบุตรนี้ เกิดขึ้นหลังจากจำนวนประชากรเกาหลีใต้ลดลงเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ในเวลาเดียวกัน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย กลับกลายเป็นประเทศสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่มีจำนวนผู้สูงอายุเร็วที่สุดในจำนวนประเทศสมาชิก 36 ชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี 

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อย ๆ แม้ว่าจะใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีในการอุดหนุนค่าเลี้ยงดูและสนับสนุนการลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูบุตร โดยที่กรุงโซล นครหลวงเกาหลีใต้ มีอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในประเทศ อยู่ที่ 0.64 เท่านั้น


ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทุ่มงบประมาณเป็นเงินถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น โดยมีทั้งมาตรการมอบเงินสนับสนุนแก่ผู้ที่มีบุตรเพิ่ม ให้บิดาลางานเพื่อช่วยเลี้ยงดูบุตรได้หลายวันมากขึ้น และช่วยจ่ายค่ารักษาปัญหาการเจริญพันธุ์แก่ผู้มีบุตรยาก แต่มาตรการเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรเกิดใหม่ให้สูงขึ้นได้ 

 

อย่างไรก็ตาม บรรดาคู่สมรสชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทั้งค่าเช่าซื้อที่อยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายในการศึกษา แถมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งทำให้โอกาสในการสร้างครอบครัวและมีบุตรของผู้อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ลดลงตามไปด้วย

 

รัฐบาลเกาหลีใต้เกรงว่า อัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ จะทำให้ขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของรัฐในการดูแลประชากรสูงวัยที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาวะการณ์เช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง